คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ลักษณะการย้อนกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่ของมะเร็งเต้านมที่ได้รับการฉายรังสีรักษา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันจะขึ้นกับว่าเซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนเพศหญิง(Estrogen/ER) หรือไม่ และมีสารโปรตีนชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง(Human epidermal growth factor receptor 2 /HER2)หรือไม่ ซึ่งทั่วไปในโรคระยะลุกลามการรักษาหลังการผ่าตัดผู้ป่วยมักได้รับรังสีรักษาร่วมด้วยโดยอาจเป็นการฉายรังสีเฉพาะที่บริเวณเต้านมด้านเกิดโรค อาจร่วมกับการฉายรังสีฯที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้และ/หรือที่ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าด้านที่เกิดโรคหรือไม่ก็ได้ซึ่งขึ้นกับระยะโรคและวิธีผ่าตัด
คณะแพทย์จากประเทศสวีเดน ต้องการศึกษาลักษณะการย้อนกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมที่ได้รับรังสีรักษาหลังผ่าตัดว่า มีอัตราเกิดอย่างไร และปัจจัยเสี่ยงขึ้นกับอะไร ซึ่งการศึกษานี้นำโดย แพทย์โรคมะเร็งชื่อ Jamila Adra จากโรงพยาบาล Sahgrenska University Hospital, Gothenburg ประเทศสวีเดน และรายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Int. J. Radiation Oncology Biol. Phys ฉบับ 1 ตุลาคม 2019
โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากเวชรเบียนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการฉายรังสีฯ ทั้งหมด 923ราย ในช่วงปีค.ศ. 2004-2008 พบว่าเมื่อติดตามผู้ป่วยที่10ปี มี
- โรคย้อนกลับเป็นซ้ำเป็นครั้งแรกเฉพาะที่เต้านม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าด้านเดียวกับโรค 7.1%
- 82% เกิดในตำแหน่งที่เคยได้รับรังสีรักษา และ
- กลุ่มโรคย้อนกลับเป็นซ้ำนอกบริเวณฉายรังสีฯ มักเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า
- กลุ่มผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งไม่จับฮอร์โมน (ER-)มีการย้อนกลับเป็นซ้ำในตำแหน่งต่างๆดังกล่าวสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มมีเซลล์มะเร็งจับฮอร์โมน (ER+)อย่างมีความสำคัญทางสถิติ,p < 0.001
- กลุ่มผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งมีสารโปรตีน HER(HER+) มีการย้อนกลับเป็นซ้ำในตำแหน่งต่างๆดังกล่าวสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มมีเซลล์มะเร็งไม่มี HER(HER-) อย่างมีความสำคัญทางสถิติ, p = 0.007
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดนำก่อนผ่าตัดและผลชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัดไม่พบเซลล์มะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ มีการย้อนกลับเป็นซ้ำในตำแหน่งต่างๆดังกล่าว ต่ำกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติ, p = 0.022
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การศึกษานี้น่าจะนำไปศึกษาต่อเพื่อหาแนวทางปรับเปลี่ยนวิธีรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำในตำแหน่งต่างๆดังกล่าว
แหล่งข้อมูล:
- Int. J. Radiation Oncology Biol. Phys 2019; 105(2):285-295 (abstract)