คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สติปัญญาของเด็กโรคมะเร็งไทยหลังรอดจากโรคมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-342

มะเร็งในเด็กพบน้อยกว่ามะเร็งในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า มะเร็งพบบ่อยในเด็ก3ลำดับแรกๆ คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว, เนื้องอก/มะเร็งสมอง และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, ซึ่งปัจจุบัน การสาธารณสุข การแพทย์เจริญก้าวหน้ามาก เด็กพบแพทย์เร็วขึ้น วิธีรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้เด็กมีอัตรารอดชีวิตจากมะเร็งสูงมากขึ้น ในสหรัฐอเมริกา อัตรารอดที่ห้าปีของมะเร็งเด็กประมาณ 80% ส่วนในประเทศไทยประมาณ 55% ซึ่งในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า เด็กเหล่านี้ที่อยู่รอดมีสติปัญญาด้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง

คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงต้องการศึกษาถึงผลกระทบด้านสติปัญญาของเด็กโรคมะเร็งไทยที่รอดชีวิตหลังการศึกษา ซึ่งการศึกษาครั้งนี้นำโดย พญ. ศิริมา เกษสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ J Med Assoc Thai ฉบับเดือน สิงหาคม 2019

เด็กที่นำมาศึกษาคือผู้ป่วยมะเร็งเด็กจากภาควิชากุมารฯ โรงพยาบาลรามาธิบดีที่ครบการรักษามะเร็งและปลอดโรคอย่างน้อย 3ปี ช่วงอายุ 6-16ปี ทั้งหมด 103 ราย ทุกรายไม่มีประวัติความพิการทางสมอง และไม่เคยได้รับการฉายรังสีรักษาที่ศีรษะและใบหน้า ซึ่งอายุเฉลี่ยผู้ป่วยเมื่อวินิจฉัยโรคได้คือ 4.4 ปี, อายุเฉลี่ยเมื่อได้รับการศึกษา คือ 11.1 ปี, และอัตรารอดเฉลี่ย 5.5ปีหลังครบการรักษา ทั้งนี้การตรวจวัดความฉลาดทางสติปัญญาโดยนักจิตวิทยาเด็กที่มีประสบการณ์ ในส่วนกลุ่มควบคุมที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบคือเด็กพี่น้องในครอบครัวของผู้ป่วยทั้งหมด 37 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยที่10.9ปี และเด็กทุกคนที่นำมาศึกษากำลังเรียนอยู่ในชั้นเรียนตามระบบการเรียนปกติ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่ได้รับยาเคมีบำบัดมีระดับความฉลาดทางสติปัญญาต่ำกว่ากลุ่มญาติอย่างมีความสำคัญทางสถิติ และยังพบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าของผู้ป่วยเด็กอย่างมีความสำคัญทางสถิติคือ การอยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐานะต่ำ และการศึกษาของบิดา-มารดาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่3

คณะผู้ศึกษาชี้แจงถึงข้อจำกัดของการศึกษาคือ กลุ่มควบคุมมีจำนวนน้อยเพราะผู้ป่วยไม่ค่อยมีญาติพี่น้องในวัยเดียวกัน และอีกประการคือ กลุ่มศึกษาไม่ได้มีการศึกษาด้านสติปัญญาของเด็กเป็นตัวเปรียบเทียบก่อนการรักษา

แหล่งข้อมูล:

  1. J Med Assoc Thai 2019;102(8):841-7