คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษาเนื้องอกสมองไกลโอมาด้วยรังสีโปรตอน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 มกราคม 2563
- Tweet
รังสีโปรตอน(Proton) เป็นรังสีมีคุณสมบัติกระจายตัวเฉพาะเจาะจงต่อก้อนเนื้อมากกว่าต่อเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ล้อมรอบก้อนเนื้อ จึงส่งผลให้ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อปกติลงได้เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้รังสีรักษาทั่วไป(รังสีโฟตอน/Photon) จึงนิยมใช้รักษาเนื้องอก/มะเร็งของอวัยวะที่เซลล์ปกติทนต่อรังสีได้น้อย เช่น สมอง เป็นต้น และปัจจุบันบ้านเราได้เริ่มมีการนำรังสีโปรตอนมาใช้แล้วในบางโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์
การศึกษานี้เป็นการศึกษาผลการรักษาเนื้องอกสมองไกลโอมากลุ่มที่ยังไม่ใช่มะเร็งที่เรียกว่า Low grade glioma(LGG) กรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้
เป็นการศึกษาที่ได้รายงานในวารสารการแพทย์ Practical Radiation Oncology ฉบับเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ. 2019 โดยคณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จาก รพ. Massachusetts General Hospital เมือง บอสตัน สหรัฐอเมริกา นำโดย พญ. Sophia C. Kamran โดยศึกษาย้อนหลังผู้ป่วยเนื้องอกไกลโอมาสมองLGGในช่วงค.ศ. 2005-2015 ทั้งหมด 141รายที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาโปรตอน และได้ติดตามผู้ป่วยนาน 2.8-144 เดือน(ระยะเวลากึ่งกลาง/median=46.7เดือน) ซึ่งผู้ป่วยได้รังสีฯ 45-60Gy(ปริมาณรังสีฯกึ่งกลาง/median dose=54Gy)
ผลการรักษาพบว่า
- อัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยคือ 84%
- อัตราควบคุมก้อนเนื้อได้ที่ห้าปี=60.1%
- พบโรคลุกลามมากขึ้น 30% ในระยะเวลา 4.8-93.6เดือน(ระยะเวลากึ่งกลาง=32.7เดือน)
- ผู้ที่โรคลุกลาม เกิดจากในตัวก้อนเนื้องอกเอง74%(failed in-field), 12%เกิดนอกก้อนเนื้องอก( failed out of field), และ12%เกิดตรงขอบของก้อนเนื้อ(marginal failure)
- อัตรารอดชีวิตที่ห้าปีของผู้ที่โรคลุกลาม=33% ซึ่งน้อยกว่าผู้ไม่มีโรคลุกลามอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p<0.001)
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ลักษณะการลุกลามของก้อนเนื้อหลังการฉายรังสีโปรตอน ยังเช่นเดียวกับในการใช้รังสีโฟตอน คือ เกิดในรอยโรคตำแหน่งการฉายรังสีฯ(Failed in-field)
แหล่งข้อมูล:
- Practical Radiation Oncology 2019; 9(4): e356-e361 (abstract)