คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ความสัมพันธ์ระหว่างยาปฏิชีวนะกับมะเร็งลำไส้ใหญ่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-339

ปัจจุบัน เรารับประทานยาปฏิชีวนะกันบ่อยมากและในเกือบทุกๆคน ซึ่งยาปฏิชีวนะนี้จะฆ่าจุลินทรีย์ที่อาศัยปกติ/มีสมดุลในลำไส้ที่มีส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของคน นักวิทยาศาสตร์จึงต้องการทราบว่า ยาปฏิชีวนะจากการกินมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

การศึกษานี้เป็นการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและจาก สหราชอาณาจักร นำโดย Jiajia Zhang จาก The Bloomberg-Kimmel Institute for Cancer Immunotherapy, Johns Hopkins University School of Medicine, Baltimore, Maryland, สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการศึกษาข้อมูลจาก the Clinical Practice Research Datalink สหราชอาณาจักร ช่วงปี ค.ศ.1989 ถึง 2012 ด้วยวิธีศึกษาที่เรียกว่า A matched case–control study ซึ่งในช่วงเวลานี้ พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งหมด 28,980 ราย ประชากรทั้งหมดที่เป็นกลุ่มควบคุม 137, 077 ราย

ผลการศึกษา พบว่า การกินยาปฏิชีวนะ

  • เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p<0.001)ต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนอยู่ในช่องท้อง(Colon) โดยปัจจัยเสียงจะขึ้นกับปริมาณ/ขนาดยาปฏิชีวนะ โดยยาปฏิชีวนะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง คือ Penicillin, Amoxicillin
  • แต่ลดอัตราเกิดมะเร็งไส้ตรง(ลำไส้ใหญ่ส่วนอยู่ในอุ้งเชิงกราน)อย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p=0.003) โดยยาปฏิชีวนะที่ลดปัจจัยเสี่ยงคือยา Tetracycline
  • ความสัมพันธ์นี้จะเกิดขึ้นหลัง 10 ปีของการเริ่มกินยาปฏิชีวนะครั้งแรก

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การศึกษานี้พบว่า มีความสัมพันธ์ต่างกันระหว่างการกินยาปฏิชีวนะกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนช่องท้อง และ ลำไส้ใหญ่ส่วนไส้ตรง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจาก ลำไส้ใหญ่ทั้ง2ส่วนมี จุลินทรีย์ และ สารก่อมะเร็งที่แตกต่างกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. https://gut.bmj.com/content/early/2019/07/11/gutjnl-2019-318593 [2019, December 3].