คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งตับระหว่างรังสีโปรตอนและรังสีโฟตอน

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-337

 

ทั่วไปการฉายรังสีรักษา รังสีที่ใช้คือ รังสีโฟตอน(Photon) แต่ปัจจุบันมีรังสีตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติกระจายรังสีได้เฉพาะเจาะจงต่อก้อนมะเร็งมากกว่าเนื้อเยื่อปกติมาก เรียกว่า รังสีโปรตอน(Proton)ที่จะช่วยลดผลข้างเคียงจากรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติลงได้ ปัจจุบันในประเทศที่เจริญแล้วจึงนิยมโปรตอนรักษามะเร็งในเด็ก และมะเร็งของอวัยวะ/เนื้อเยื่อสำคัญที่เซลล์ไวต่อรังสีมาก เช่น ตับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยโปรตอนมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าโฟตอนมาก และมีใช้จำกัดเพียงบางโรงพยาบาลเพราะเป็นเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย

มะเร็งตับชนิดเกิดจากเซลล์ตับเอง(Hepatocellular carcinoma ย่อว่า HCC) เป็นมะเร็งตับชนิดพบบ่อยทั่วโลกรวมถึงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการรักษาหลักของHCC คือการผ่าตัด แต่กรณีที่ผ่าตัดไม่ได้ การรักษาวิธีอื่นที่ใช้ในปัจจุบัน คือ การฉายรังสีรักษาต่อก้อนมะเร็ง แพทย์ในสหรัฐอเมริกาจึงต้องการศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งตับHCCระยะที่ผ่าตัดไม่ได้และโรคยังจำกัดอยู่เฉพาะตับระหว่างการใช้รังสีโปรตอนและการใช้รังสีโฟตอน

การศึกษานี้มาจากคณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา นำโดย พญ. Nina Sanford แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา รพ. Massachusetts General Hospital เมือง Boston และได้รายงานในวารสารการแพทย์ Internationa Journal of Radiation Oncology Biology and Physics ฉบับเดือน กย. ค.ศ. 2019

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง ในผู้ป่วย HCC ที่ผ่าตัดไม่ได้และโรคยังไม่มีการแพร่กระจาย รวมทั้งยังไม่เคยได้รับการฉายรังสีฯที่ตับมาก่อนนอกเหนือจากการศึกษานี้ ผู้ป่วยอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 2008-2017 มีทั้งหมด 133ราย อายุกึ่งกลาง(median) คือ 68 ปี เป็นผู้ป่วยชาย 75% ผู้ป่วยหญิง 25% , 37%ไดรับรังสีโปรตอน, 63% ได้รับรังสีโฟตอน, การติดตามผลรักษานับจากวันแรกของการฉายรังสีฯโดยมีระยะกึ่งกลางการติดตามโรคคือ 14 เดือน

ผลการรักษาพบว่า

  • ผู้ป่วยกลุ่มได้รับโปรตอนมีอัตรารอดชีวิต(Overall survival) โดยระยะกึ่งกลางการรอดชีวิต คือ 31 เดือนสูงกว่ากลุ่มได้รับโฟตอน(14 เดือน)อย่างมีความสำคัญทางสถิติ (p=0.008)
  • ผลข้างเคียงของรังสีต่อเนื้อเยื่อตับในกลุ่มได้รับโปรตอนต่ำกว่ากลุ่มได้รับโฟตอนอย่างมีความสำคัญทางสถิติเช่นกัน(p=0.03)
  • ไม่มีความแตกต่างในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มในเรื่อง อัตราการควบคุมHCC และอัตราการย้อนกลับเป็นซ้ำของHCC

คณะผู้ศึกษา สรุปว่า จากการศึกษาย้อนหลัง พบว่า การใช้โปรตอนรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับHCC ให้ผลการรักษาดีกว่า และลดผลข้างเคียงจากรังสีฯได้ดีกว่าการรักษาด้วยรังสี โฟตอน ดังนั้นเพื่อยืนยันผลในการศึกษานี้ ว่าเป็นจริง จึงควรศึกษาต่อด้วยวิธีการศึกษาล่วงหน้า(Prospective study)

แหล่งข้อมูล:

  1. International Journal of Radiation Oncology Biology and Physics. 2019; 105(1): 64-72 (abstract)
  2. http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A/ [2019, December 3].