คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การศึกษาเปรียบเทียบวิธีรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะต้นๆ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 ธันวาคม 2562
- Tweet
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะต้นๆคือ ระยะที่1,2 เป็นระยะที่รักษาด้วยการผ่าตัดวิธีการเดียวก็มีการพยากรณ์โรคที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม โรคในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยบางกลุ่มย่อยมีปัจจัยเสี่ยงที่โรคจะย้อนกลับเป็นซ้ำสูง ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคในระยะที่2, และ/หรือมีเซลล์มะเร็งเป็น ชนิดSerous หรือ ชนิด Clear cell carcinoma ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงฯนี้การรักษาหลักคือการฉายรังสีรักษาครอบคลุมอุ้งเชิงกรานหลังผ่าตัด 45-50.4Gyในระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์
คณะผู้ศึกษาเป็นคณะแพทย์ทางรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา, มะเร็งนรีเวช, และนักวิทยาศาสตร์, นำโดย นพ.Marcus E. Randall แห่งมหาวิทยาลัยเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาหาวิธีรักษาอื่นที่มีข้อมูลในการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มเล็กๆที่เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังที่พบว่าให้ผลการรักษาดีกว่าการรักษาหลักทั้งในด้านการควบคุมโรคและลดผลข้างเคียงจากการศึกษาลง ซึ่งการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา ชื่อ Journal of Clinical oncology(JCO) ฉบับเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2019
การศึกษานี้เป็นการศึกษาทางการแพทย์แบบ สุ่มตัวอย่างผู้ป่วย ในระยะที่3 โดยเปรียบเทียบระหว่าง ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในหลายโรงพยาบาลที่ให้การรักษาแบบวิธีการหลัก คือ การฉายรังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกรานหลังการผ่านตัด กับ ผู้ป่วยฯที่ได้รับการให้ยาเคมีบำบัด Paclitaxel + Carboplatin ทุก3สัปดาห์ทั้งหมด 3 ครั้ง/รอบ(Cycle) และร่วมการใส่แร่ที่รอยแผลผ่าตัดในช่องคลอด(Vaginal cuff)
ผู้ป่วยที่เข้ารับการศึกษาทั้งหมด 601 ราย อายุกึ่งกลาง(Median age) คือ 63ปี, 74% เป็นโรคระยะที่1, เซลล์มะเร็งเป็นชนิดดี (Endometrioid) 71% ,ชนิด Serous 15%, และชนิด Clear cell 5% ระยะกึ่งกลางในการติดตามโรคคือ 53 เดือน
ผลการศึกษาพบว่า:
- อัตราย้อนกลับเป็นซ้ำ, อัตราโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต, และอัตรารอดชีวิต ของมะเร็งฯที่5ปี ในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่ม ไม่ต่างกัน
- แต่อัตราโรคลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกรานและต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง(Periaortic node)ในกลุ่มได้ยาเคมีบำบัด+ใส่แร่สูงกว่า (9% กับ 4%)
- ผู้ป่วยกลุ่มได้ยาเคมีบำบัด+การใส่แร่เกิดผลข้างเคียงระยะเฉียบพลันสูงกว่า แต่ผลข้างเคียงในระยะยาวเท่ากันทั้ง2กลุ่ม
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะที่1,2 สำหรับผู้ป่วยกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำสูง การรักษาหลักยังคงเป็นการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษาที่อุ้งเชิงกราน
ในประเทศไทยเรา การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะที่1,2 รวมถึงในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ วิธีรักษาจะเป็นสากลเหมือนกับประเทศตะวันตก และแพทย์จะเลือกวิธีรักษาเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละรายๆไป โดยพิจารณาจาก ชนิดเซลล์มะเร็ง, ระยะโรค, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, ข้อจำกัดของผู้ป่วยในวิธีรักษาแต่ละวิธี, และความสมัครใจของผู้ป่วย
แหล่งข้อมูล:
- JCO. 2019;37(21):1810-1818(abstract)