คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ในเด็ก
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 ตุลาคม 2562
- Tweet
มะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยทั่วไปเกือบทั้งหมดเป็นมะเร็งชนิดเซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวดี(Well differentiated carcinoma) และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ พบน้อยในเด็ก รวมถึงผู้ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี คณะแพทย์ในสหราชอณาจักร นำโดย K.A. Lee จาก Royal Marsden NHS Foundation Trust Thyroid Unit, ลอนดอน จึงต้องการศึกษาถึงผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเซลล์แบ่งตัวดีนี้ในคนอายุตั้งแต่18ปีลงมา และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ ชื่อ Clinical Oncology ฉบับเดือน มิถุนายน 2019
โดยศึกษาในผู้ป่วยจากศูนย์ต่างๆที่ให้การรักษามะเร็งชนิดนี้ทั่วสหราชอาณาจักร ทั้งหมด 6ศูนย์ เป็นผู้ป่วยช่วงปี 1964 ถึง 2017 พบมีผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 18 ปีลงมาทั้งหมด 166ราย เป็นเพศหญิง 74%, 51%พบมีมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองแล้ว, และ 12%มีโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต, 94%ของผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกด้วยการกินแร่รังสีไอโอดีนร่วมด้วย
เมื่อติดตามผู้ป่วยได้5ปีหลังการวินิจฉัยโรค พบ
- ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิต 69%โดยไม่พบมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ
- อีก20%มีสารมะเร็งในเลือด(Thyroglobulin)เพิ่มขึ้นแต่ตรวจไม่พบรอยโรค
- 6%พบโรคย้อนกลับเป็นซ้ำจากการตรวจภาพลำคอด้วยเทคนิคทางรังสีวิทยา
- และ 2%เสียชีวิตจากมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง
ซึ่งคณะผู้ศึกษา สรุปว่า มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเซลล์แบ่งตัวได้ดีในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีลงมา มีผลการรักษาที่ดี แต่คณะแพทย์ก็จะพยายามศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อไป
แหล่งข้อมูล:
- K.A. Lee, et al. Clinical oncology.2019;31(6):385-390