คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดเบาหวานในมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-321

      

      มะเร็งเต้านมสตรี เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลก ประเทศไทยพบเป็นลำดับ1ในมะเร็งสตรีทั้งหมด มีอัตราเกิดที่รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ คือ 28.5รายต่อประชากรหญิง 1แสนคน และปัจจุบันโอกาสรักษาได้หาย/อัตราอยู่รอดที่ห้าปีสูงมาก โรคระยะ0-1คือ 90%หรือสูงกว่า, ระยะที่2 ประมาณ80-90%, ระยะที่3ประมาณ 50-70%, และระยะที่4ประมาณ 0-20%, ซึ่งผู้ป่วยที่รอดชีวิตเหล่านี้มีรายงานเกิดโรคต่างๆที่ไม่ใช่มะเร็งได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป เช่น โรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ/กลุ่มโรคเอนซีดีโดยเฉพาะโรคเบาหวาน

      ปัจจุบัน วิธีรักษามะเร็งเต้านม ขึ้นกับระยะโรค, ชนิดของเซลล์มะเร็ง, การที่เซลล์มะเร็งมีตัวรับ(Receptor)ฮอร์โมนเพศหญิงหรือไม่, และ/หรือตัวรับพันธุกรรม/จีน/Geneที่เรียกว่า HER หรือไม่, ซึ่งการรักษาหลักในมะเร็งเต้านม จะเป็นการผ่าตัด ร่วมกับ ยาเคมีบำบัด, รังสีรักษา, ยารักษาตรงเป้า(กรณีเซลล์มะเร็งมีตัวรับจีนที่ตอบสนองต่อยากลุ่มนี้) และยาฮอร์โมนฯ(กรณีเซลล์มะเร็งมีตัวรับต่อฮอร์โมนฯ)

      ดังนั้นแพทย์จึงต้องการทราบว่า ผู้ป่วยกลุ่มรอดชีวิต ที่ได้รับการรักษาด้วยยาฮอร์โมน มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานสูงกว่าคนทั่วไปหรือไม่ เพื่อเพิ่มการดูแลผู้ป่วยในช่วงติดตามโรคได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษานี้ ที่เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์จากประเทศอิสราเอล นำโดย พญ. Rola Hamood โดยศึกษาในผู้ป่วยจากโครงการศึกษาที่ชื่อ the Leumit health care fund และเป็นการศึกษาในรูปแบบ case-cohort study และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ the Journal of Clinical Oncology (JCO)เมื่อ 10 กรกฎาคม ค.ศ.2018

      การศึกษานี้รวบรวมผู้ป่วยช่วงค.ศ. 2002 - 2012 มีผู้ป่วยสตรีมะเร็งเต้านมที่รอดชีวิตที่เข้าศึกษาทั้งหมด 2,246 ราย ผลการศึกษาพบว่า ในผู้ป่วยที่รอดชีวิตที่มีค่ากึ่งกลางอยู่รอด(Median)5.3ปี พบผู้ป่วยเกิดเบาหวาน20.9%, และพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฮอร์โมนมีอัตราเกิดเบาหวานสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มไม่ได้ฮอร์โมนอย่างสำคัญทางสถิติ p=0.008, โดยถ้าได้รับยาฮอร์โมนTamoxifen ปัจจัยเสี่ยง/ HR = 2.25 และ P= 0.013, ส่วนผู้ได้รับยาฮอร์โมนกลุ่ม AI(Aromatase inhibitor) HR, 4.27 และ P = 0.0010

      คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสตรีที่รอดชีวิต กลุ่มได้ยาฮอร์โมนมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเบาหวานสูงกว่ากลุ่มไม่ได้รับยาฮอร์โมน แต่อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการได้รับฮอร์โมนที่เพิ่มอัตรารอดชีวิตสูงกว่าความเสี่ยงเกิดเบาหวาน ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งฯจึงควรได้รับยาฮอร์โมนต่อไป โดยผู้ป่วยควรได้รับการแนะนำ ควบคุม อย่างเคร่งครัดในการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดอัตราเกิดเบาหวาน ได้แก่การควบคุมอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอดไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  2. JCO. 2018;36(20): 2061–2069 (abstract)
  3. https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/understanding-a-breast-cancer-diagnosis/breast-cancer-survival-rates.html [2019,Aug27]