คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเกิดมะเร็งชนิดที่สองในมะเร็งเด็ก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-320

      

      เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์นานแล้วว่า ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็งในเด็ก มีโอกาสเกิดมะเร็งชนิดที่สองได้บ่อยกว่าผู้ป่วยรอดชีวิตจากมะเร็งในผู้ใหญ่ แพทย์จึงต้องการทราบว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญเกี่ยวข้องกับเด็กมีความผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อนำมาปรับปรุงวิธีในการตรวจติดตามผลการรักษาตลอดชีวิตผู้ป่วย

      การศึกษานี้ศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ในกลุ่มศึกษาเฉพาะโรคมะเร็งเด็กของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Saint Jude Lifetime Cohort Study ที่นำโดย Dr. Zhaoming Wang และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Journal of Clinical Oncology(JCO)ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2018 โดยเป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากเวชรเบียนในผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่รอดชีวิตนานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปนับจากวันวินิจฉัยโรคได้

      ผลการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่รอดชีวิตทั้งหมด 3,006ราย 53%เป็นเพศชาย, อายุกึ่งกลาง(median)35.8ปี(ระหว่าง 7.1-69.8ปี), 56%ได้รับรังสีรักษา, ทุกรายได้ยาเคมีบำบัด, พบเกิดมะเร็งชนิดที่สอง 439ราย(14.6%)ซึ่งในกลุ่มเกิดมะเร็งชนิดที่สองนี้ พบเป็นผู้มีความผิดปกติทางพันธุกรรม 5.8%(ตรวจหาเฉพาะพันธุกรรมผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งโดยไม่เกี่ยวกับความผิดปกติที่ขึ้นกับเพศ/ Autosomal dominant cancer predisposition syndromes ตามคำแนะนำของ the Americn College of Medical Genetics and Genomics guidelines)

      ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม มีพันธุกรรมผิดปกติ และ ไม่มีพันธุกรรมผิดปกติพบว่า

      ในผู้ที่เคยได้รับรังสีรักษา อัตราเกิดมะเร็งชนิดที่สองที่มักเกิดในตำแหน่งได้รับรังสีรักษา คือ มะเร็งเต้านม และมะเร็งซาร์โคมา ที่สูงกว่ากลุ่มไม่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างมีความสำคัญทางสถิติ (RR/ Risk ratio =13.9 และ10.6 ตามลำดับ) และ

      ในกลุ่มไม่ได้รับรังสีรักษา มีอัตราเกิดมะเร็งชนิดที่สองอย่างมีความสำคัญทางสถิติเช่นกัน คือ มะเร็งเต้านม, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งอื่นๆ , และมะเร็งชนิดพบยาก โดย RR = 7.7, 11.0, 4.7, และ18.6 ตามลำดับ

      คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า จากผลการศึกษาพบว่า การมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งชนิดสองในผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่รอดชีวิตตั้งแต่5 ปีขึ้นไปทั้งในผู้ป่วยเด็กที่เคยหรือไม่เคยได้รับรังสีรักษา ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่รอดชีวิตตั้งแต่5ปีขึ้นไปทุกราย ควรได้รับการตรวจประเมินทางด้านพันธุกรรมเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงว่ามีพันธุกรรมผิดปกติหรือไม่ เพื่อการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม

แหล่งข้อมูล:

  1. JCO 2018; 36(20):. 2070–2077