คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ยาลดผลข้างเคียงหูหนวกของยาซีส พลาติน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 สิงหาคม 2562
- Tweet
ยาซีสพลาติน(Cisplatin) เป็นยาเคมีบำบัดที่มีประโยชน์มากชนิดหนึ่งที่สามารถรักษามะเร็งได้หลายชนิดทั้งในมะเร็งกลุ่มคาร์ซิโนมาและกลุ่มซาร์โคมา และทั้งในผู้ป่วยผู้ใหญ่และในผู้ป่วยเด็ก แต่ผลข้างเคียงระยะยาวที่สำคัญของยาเคมีฯนี้คือ การลดการได้ยินระดับน้อยไปจนถึงอาจหูหนวกในที่สุด
มะเร็งตับในเด็กเป็นมะเร็งพบได้น้อย แต่ก็พบได้เรื่อยๆ ซึ่งชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเด็กคือ ชนิด เฮพาโทบลาสโตมา(Hepatoblastoma) ที่การรักษาหลักคือ การใช้ยาซีส พลาตินร่วมกับการผ่าตัด และได้มีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต(Sodium Thiosulfate)ที่เป็นยาต้านพิษสารไซยาไนด์(Cyanide)สามารถช่วยลด/ช่วยต้านพิษของยาซีสพลาตินได้ด้วย แพทย์จึงต้องการทราบว่า ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต สามารถลดอัตราเกิดผลข้างเคียงทางหูของเด็กมะเร็งเฮพาโทบลาสโตมาลงได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้
การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากประเทศอังกฤษ จากคณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย พญ. Penelope R. Brock แพทย์มะเร็งวิทยาเด็ก โรงพยาบาล Great Ormond Street Hospital, ลอนดอน และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ชื่อ The New England Jornal of Medicine(N Engl J Med)ฉบับเดือน มิถุนายน 2018
โดยเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างในมะเร็งเฮพาโทบลาสโตมาในเด็กช่วงอายุมากกว่า1เดือน-น้อยกว่า18ปี ที่เป็นมะเร็งเฮพาโทบลาสโตมาระยะโรคลุกลามแต่ยังจำกัดอยู่เฉพาะตับ(คือมีค่าสารมะเร็ง Alphafetoprotein >100 ng per milliliter) ที่การรักษาหลักคือใช้ ยาซีสพลาตินร่วมกับผ่าตัด และเปรียบเทียบเด็ก2กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มศึกษาที่ได้รับ ซีสพลาติน+โซเดียมไทโอซัลเฟต 55 ราย อีกกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาซีสพลาตินเพียงอย่างเดียว 46 ราย และติดตามผลที่มีค่ากลาง(Median)นาน52เดือนเพื่อเปรียบเทียบผลข้างเคียงทางการได้ยิน และอัตรารอดชีวิตของเด็กทั้งสองกลุ่ม
ผลการศึกษาพบว่า
- เด็กในกลุ่มศึกษาที่ได้ซีสพลาติน+โซเดียมไทโอซัลเฟต มีความผิดปกติของการได้ยิน 18 ใน 55 ราย(33%) และกลุ่มควบคุมที่ได้ซีสพลาตินอย่างเดียวเกิดความผิดปกติฯ 29ใน46 ราย (63%) ซึ่งต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ (P=0.002)
- และเมื่อติดตามผล อัตรารอดชีวิตที่3ปี ทั้งอัตรารอดชีวิตโดยไม่มีโรคกลับเป็นซ้ำ(Even free survival)ของกลุ่มศึกษาคือ 82% และของกลุ่มควบคุมคือ79% และอัตรารอดชีวิตโดยรวม(Overall survival rate)ของ กลุ่มศึกษาคือ 98% และของกลุ่มควบคุม คือ 92% ซึ่งทั้งหมดไม่ต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ
คณะผู้ศึกษา ได้สรุปผลการศึกษาครั้งนี้ว่า การใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟตร่วมกับยาซีสพลาตินในการรักษามะเร็งตับเฮพาโทบลาสโทมาสามารถลดการเกิดผลข้างเคียงทางการได้ยินของยาซีสพลาทินลงได้อย่างมีความสำคัญทางสถิติ และโดยไม่มีผลต่ออัตรารอดชีวิตของเด็ก
ผลการศึกษาครั้งนี้ อาจนำมาซึ่งการปรับใช้ยาซีสพลาตินร่วมกับยาโซเดียมไทโอซัลเฟตในการรักษามะเร็งต่างๆทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ต่อไปเพื่อลดผลข้างเคียงทางการได้ยินของยาซีสพลาตินลง แต่อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการศึกษานี้คือ ไม่มีรายงานเรื่องผลข้างเคียงของผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มว่าเป็นอย่างไร
แหล่งข้อมูล:
- N Engl J Med 2018; 378:2376-2385
- http://haamor.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%95/ [2019,July18]
- http://haamor.com/th/%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99/ [2019,July18]
- http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81/ [2019,July18]