คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งปอดระยะที่ผ่าตัดไม่ได้

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-316

      

      มะเร็งปอดเป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลก บ้านเราพบเป็นลำดับที่3ในชายไทย(22.7รายต่อประชากรชายไทย1แสนคน) ในผู้หญิงพบเป็นลำดับที่5(10.1รายต่อหญิงไทย1แสนคน) แบ่งเป็น2ชนิดหลัก คือชนิดเซลล์ตัวโตทีพบได้บ่อยกว่า(85%) และชนิดเซลล์ตัวเล็กที่พบได้น้อยกว่า(15%) ซึ่งการรักษาหลักเพื่อการหายขาดของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตคือ การผ่าตัด แต่มีผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ประมาณ30%ขึ้นไป มาพบแพทย์เมื่อเป็นระยะโรคที่ผ่าตัดไม่ได้ถึงแม้ไม่ใช่โรคระยะที่4(ระยะสุดท้ายที่โรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต)ก็ตาม ซึ่งก็คือ โรคระยะที่III ที่ยังแบ่งย่อยเป็นระยะที่IIIA ที่โรครุนแรงน้อยกว่าระยะที่IIIB

      คญะแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำโดย พญ.พิชญาภรณ์ กลั่นกลิ่น จึงต้องการทราบว่า การรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตระยะที่III ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาจะให้ผลการศึกษาเป็นอย่างไร การศึกษานี้รายงานผลในวารสารการแพทย์ไทยชื่อ จดหมายเหตุทางแพทย์ ฉบับเดือน เมษายน 2018

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต ระยะที่III ที่ได้รับการรักษาที่หน่วยรังสีรักษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วง 1มกราคม 2008 - 31ธันวาคม2013 โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากเวชรเบียน ซึ่งเป็นผู้ป่วยทั้งหมด103ราย เป็นชาย 72 คน หญิง 31คน อายุเฉลี่ย60.6 ปี(38.9-83.2ปี) โรคระยะIIIA, 45 คน โรคระยะIIIb, 58คน ผู้ป่วย58รายได้รับยาเคมีบำบัดไปพร้อมๆกับการฉายรังสีรักษา ส่วนอีก45รายได้รับรังสีรักษาหลังครบยาเคมีบำบัด

      ผลการรักษาพบว่า อัตรารอดชีวิตที่2ปีของผู้ป่วยคือ 34% ส่วนอัตรารอดชีวิตที่2ปีโดยโรคไม่ลุกลามอยู่ที่21.4% ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับจากผลการรักษาของโรงพยาบาลต่างๆทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ผู้ป่วยทั้ง 2 วิธีรักษาคือกลุ่มได้ยาเคมีบำบัดพร้อมรังสีรักษา และกลุ่มได้รังสีรักษาหลังครบเคมีบำบัด มีอัตรารอดชีวิตที่2ปีไม่ต่างกันทางสถิติ(p=0.349) และรวมถึงอัตรารอดชีวิตที่2ปีโดยโรคไม่ลุกลาม(p=0.690) ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ได้ผลการรักษาที่ไม่ดีอย่างมีความสำคัญทางสถิติคือ ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปี(p=0.029) และในผู้ป่วยโรคระยะที่รุนแรงกว่าคือ ระยะIIIB(p=0.001)

      คณะผู้ศึกษา สรุปว่า ปัจจัยต่อผลการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตที่ผ่าตัดไม่ได้ คือ อายุของผู้ป่วย และระยะโรคที่รุนแรง

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer in Thailand 2015, National Cancer Institute Thailand. Volume VIII,2010-2012
  2. J Med Asso Thai 2018, 101(4):457-61