คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งตับระยะโรครุนแรง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 29 กรกฎาคม 2562
- Tweet
มะเร็งตับชนิดที่เกิดกับเนื้อเยื่อตับ ที่เรียกว่า Hepatoma หรือ Hepatocellular carcinoma ย่อว่า HCC/เอชซีซี เป็นมะเร็งพบบ่อยชนิดหนึ่งของโลก รวมถึงประเทศเรา โดยเอชซีซี มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงหลักจากโรคไวรัสตับอักเสบ-บี และไวรัสตับอักเสบ-ซี การรักษาหลักของโรคนี้ คือ การผ่าตัด และ ด้วยวิธีฉีดยาสารเคมีเข้าหลอดเลือดแดงตับที่เลี้ยงก้อนมะเร็งเพื่ออุดหลอดเลือดนั้น(Chemoembolization) ที่เรียกการรักษานี้ว่า ทีเอซีอี(Transcatheter arterial chemoembolization ,TACE) แต่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ มักอยู่ในระยะโรคที่รุนแรง ผ่าตัดไม่ได้ การรักษาโรคระยะรุนแรงนี้ ปัจจุบันมีอยู่2 วิธี คือการใช้ยารักษาตรงเป้าที่ชื่อ Sorafenib หรือ รักษาด้วยวิธีที่เรียกว่า Hepatic arterial infusion chemotherapy ย่อว่า HAIC /เอชเอไอซี ซึ่งคือการให้ยาเคมีบำบัดเข้าหลอดเลือดแดงตับโดยตรงเช่นกันกับTACE แต่ยาเคมีบำบัดจะเป็นแบบการหยดยา(Arterial infusion chemotherapy)และอาจร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดดำในลักษณะ เดียวกับที่รักษามะเร็งทั่วไป(Systemic therapy)ร่วมด้วย ซึ่งวิธี เอขเอไอซี นิยมใช้ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมถึงไทยเพราะมีราคาถูกกว่า ยา Sorafenib ซึ่งราคายาแพงมากๆ
แพทย์ชาวญี่ปุ่นจึงต้องการเปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งตับเอชซีซีระยะรุนแรง ระหว่างวิธีรักษาด้วย ยาSorafenib และ HAIC โดยให้นิยามมะเร็งตับเอชซีซีระยะรุนแรงที่จะศึกษาว่า คือ ระยะที่โรคผ่าตัดไม่ได้ที่ยังไม่มีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิต โรคอยู่ในระยะ Child–Pugh score A และผู้ป่วยต้องไม่ได้รับการรักษาด้วย Sorafenib หรือ TACE ร่วมด้วยขณะศึกษา
การศึกษานี้ โดยคณะแพทย์จากญี่ปุ่น นำโดย นพ.Kenichiro Kodama จาก Department of Medicine and Molecular Science, Division of Frontier Medical Science, Hiroshima UniversityHiroshima, ญี่ปุ่น และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ชื่อ Journal of Gastroenterology and Hepatology (JGH) เมื่อ 12 พฤษภาคม 2018
การศึกษานี้ ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งตับเอชซีซีที่ได้รับการรักษาด้วย HAIC 150 ราย เปรียบเทียบกลับการรักษาด้วย Sorafenib 134 ราย ผลการศึกษาพบว่า
ปัจจัยที่ทำให้การรักษาได้ประสิทธิผลต่ำ/ระยะเวลารอดชีวิตต่ำ คือ การที่ผู้ป่วยดื้อต่อการรักษาด้วย TACE มาก่อน และ/หรือ มีมะเร็งลุกลามเข้าหลอดเลือดตับขนาดใหญ่
กลุ่มผู้ป่วยที่ โรคลุกลามเข้าหลอดเลือดตับขนาดใหญ่ และยังไม่เคยดื้อต่อ TACE มีผลการรักษาที่ดีกว่าโดยการรักษาด้วย HAIC คือมีมัธยฐานการรอดชีวิตนานที่ 13 เดือน ขณะที่กลุ่ม Sorafenib มัธยฐานการรอดชีวิต คือ 6 เดือน
แต่ในผู้ป่วย กลุ่มโรคที่ยังไม่ลุกลามเข้าหลอดเลือดตับขนาดใหญ่ และในผู้ป่วยที่ดื้อต่อ TACE มีมัธยฐานการรอดชีวิตจาก Sorafenib นานกว่า คือ 20 เดือนเปรียบเทียบกับกลุ่ม HAIC คือ 8 เดือน
คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ปัจจัยหลักต่ออัตรารอดที่ต่ำของผู้ป่วยมะเร็งเอชซีซีที่รักษาด้วยHAIC คือ การที่ผู้ป่วยดื้อต่อการรักษาด้วย TACE มาก่อน ส่วนปัจจัยหลักต่ออัตรารอดที่ต่ำของผู้ป่วยที่รักษาด้วย Sorafenib คือ โรคลุกลามเข้าหลอดเลือดตับขนาดใหญ่ และ
HAIC ให้ผลการรักษาดีกว่า Sorafenib อย่างมีความสำคัญทางสถิติ ในผู้ป่วยฯที่ยังไม่ดื้อต่อTACE และในผู้ป่วยที่โรคลุกลามเข้าหลอดเลือดตับขนาดใหญ่
ทั้งนี้ การรักษาทุกวิธีที่ได้กล่าวในตอนต้น มีให้การรักษาอยู่แล้วในประเทศไทย โดย การจะเลือกวิธีใด จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นแต่ละกรณีผู้ป่วยไป
แหล่งข้อมูล:
- https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/jgh.14152?af=R(abstract) [2019, June 12].