คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรับรู้เรื่องมีบุตรยากของผู้ชายที่อยู่รอดจากมะเร็งช่วงวัยเด็ก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-314

      

      มะเร็งในเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า ทั่วโลกที่รายงานในวารสาร The Lancet Oncolgy 2017;18(6):719-731 (มิถุนายน 2017)ว่า ในช่วงปีค.ศ. 2001-2010 พบมะเร็งเด็ก(อายุ0-14ปี) ในเด็กชาย 151.4 รายต่อประชากรเด็กชาย 1ล้านคน และ129.4 รายต่อประชากรเด็กหญิง 1ล้านคน องค์การอนามัยโลก ได้รายงานพบมะเร็งเด็กได้ 0.5-4.6%ของมะเร็งทุกอายุ

      มะเร็งเด็กที่พบบ่อยที่สุดคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว(32%) รองลงไปคือ เนื้องอกและมะเร็งสมอง(18%) และลำดับสามคือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง(11%) ที่เหลือเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆร่วมกัน มะเร็งเด็กที่ไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ คือ มะเร็งนิวโรบลาสโตมา(Neuroblastoma), มะเร็ง/เนื้องอกวิมส์(“Wilm’s tumor)ซึ่งเป็นมะเร็งไต, มะเร็งตา เรติโนบลาสโตมา, และมะเร็งกระดูก(ที่มักพบในเด็กโต วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว), ซึ่งปัจจุบันการรักษามะเร็งเด็กก้าวหน้ามาก จนเด็กมีอัตรารอดชีวิตที่5 ปี สูงขึ้นมาก มีรายงานอัตรารอดชีวิตที่5ปีของเด็กมะเร็งอเมริกัน(ช่วงปี 2007-2013)ประมาณ83%

       คณะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จาก Aflac Cancer & Blood Disorders Center at Children's Healthcare of Atlanta, Atlanta, Georgia, Department of Pediatrics, Emory University School of Medicine, Atlanta, Georgia สหรัฐอเมรกา นำโดย ดร.

      Jordan Gilleland Marchak จึงต้องการทราบว่า ผู้ป่วยเด็กชายที่รอดชีวิตจากมะเร็ง มีการรับรู้ว่า ตนเองมีปัจจัยเสี่ยงมีบุตรยากหรือไม่ อย่างไร ซึ่งการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อ Cancer เมื่อ 17เมษายน2018 โดยเป็นการศึกษาจากผู้ป่วยมะเร็งเด็กชายจากโครงการ the Childhood Cancer Survivor Study 1233 รายที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเด็ก ซึ่งขณะศึกษา ผู้ป่วยมีอายุที่มัธยฐาน 37.8ปี(ช่วงระหว่าง 22.0‐58.7 ปี) และผู้ป่วยทุกคน แพทย์ติดตามโรคได้ที่มัธยฐาน 28.4 ปี(ช่วง21.4‐39.2) ทุกคนไม่มีโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ หรือ โรคมะเร็งชนิดที่2 และได้เปรียบเทียบทางสถิติผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้กับผู้ชายในวัยเดียวกันที่ไม่เป็นมะเร็ง

      ผลการศึกษาพบว่า เพียง 35.9%เท่านั้นของผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง ที่รับรู้ว่าตนมีปัจจัยเสี่ยงมีบุตรยาก และการรับรู้ของผู้ป่วยยังไม่สอดคล้องกับว่า ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิดมีผลข้างเคียงต่ออัณฑะหรือไม่ คือ36.3% ต่อ35.1% ตามลำดับ

      ผู้ป่วยชายที่ ไม่สนใจในเรื่องสุขภาพอนามัย ผู้ป่วยที่ไม่ใช่ชายผิวขาว และเป็นผู้ป่วยมีรายได้ต่ำ โดยไม่สัมพันธ์กับว่าได้รับยาเคมีบำบัดชนิดใด จะมีบุตรได้ในอัตราสูงกว่าผู้ป่วยชายที่มีลักษณะตรงข้าม

      ผู้ป่วยชายกลุ่มได้ยาเคมีบำบัดชนิดไม่มีผลข้างเคียงต่ออัณฑะที่ทราบว่า ตนเองมีโอกาสมีบุตรยาก มักเป็นผู้ป่วยกลุ่ม มีการศึกษาสูง และเข้าอบรมในเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเอง

      คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า ผู้ป่วยชายส่วนใหญ่ ไม่รับรู้ว่า ตนเองมีปัจจัยเสี่ยงการมีบุตรอยาก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทีมผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเด็กชายทุกคน/ทุกกลุ่มไม่ว่าจะได้ยาเคมีบำบัดชนิดใด ควรต้องให้ความรู้เพื่อ เมื่อผู้ป่วยถึงวัยอันควร ผู้ป่วยควรต้องตระหนักถึงเรื่องนี้เพื่อการมีคุณภาพชีวิตเมื่อมีการแต่งงาน

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer 2018;124:2447-55 (abstract)
  2. https://www.thelancet.com/journals/lanonc/article/PIIS1470-20451730186-9/fulltext?code=lancet-site[2019, June 12].
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Childhood_cancer [2019, June 12].
  4. http://www.who.int/cancer/media/news/Childhood_cancer_day/en/ [2019, June 12].
  5. https://www.cancer.gov/types/childhood-cancers/child-adolescent-cancers-fact-sheet [2019, June 12].