คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน อัตรารอดของทารกที่เกิดจากมารดาวัยรุ่นที่เป็นมะเร็งเต้านม
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 กรกฎาคม 2562
- Tweet
ปัจจุบัน ในประเทศตะวันตก และในประเทศไทย มะเร็งในสตรีที่พบเป็นอันดับ1ของมะเร็งสตรีทั้งหมดคือ มะเร็งเต้านม สถิติของประเทศไทย(จากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2558) คือ 28.5รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน อันดับสอง คือมะเร็งปากมดลูก 14.4รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน
มะเร็งเต้านม ทั่วไปเป็นมะเร็งของสตรีที่อายุสูงกว่า 40-50ปี ขึ้นไป แต่พบได้ในสตรีวัยรุ่นและสตรีวัยต่ำกว่า 40 ปีลงมาถึงแม้จะพบโรคในกลุ่มนี้ได้น้อยคือ ประมาณ 7% ของมะเร็งเต้านมสตรีทั้งหมด ซึ่งวัยก่อน40 จัดเป็นวัยเจริญพันธ์ ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มอายุน้อย(วัยรุ่นและวัยสาว)จึงยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ แพทย์และนักวิทยาศาตร์จึงต้องการทราบว่า ทารกที่เกิดจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะและมีอัตรารอดชีวิตเป็นอย่างไร
การศึกษานี้ โดยคณะนักวิทยาศาสตร์/นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัย North Carolina, Chapel Hill รัฐนอร์ทแคโรไลนา(NC) สหรัฐอเมริกา นำโดยนักระบาดวิทยาชื่อ Chelsea Anderson และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ชื่อ International Journal of Cancer(IJC)ฉบับ 15พฤษภาคม ค.ศ. 2018
การศึกษานี้เป็นการศึกษาที่เรียกว่า Population-based study โดยเป็นการศึกษาจากทะเบียนมะเร็งของรัฐNC ที่เป็นมะเร็งเต้านมในสตรีวัย15-39 ปีในช่วงปี 2000-2013 ซึ่งมีทั้งหมด 338 ราย และติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปจนถึง มีการตั้งครรภ์ หรืออายุ 46 ปี หรือเสียชีวิต ขึ้นกับว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก่อน ร่วมกับการศึกษาจากใบเกิดของเด็กที่เกิดช่วงปี 2000-2014 ทั้งที่มารดาเป็นมะเร็งเต้านมและมารดาทั่วไป(20ราย จากการสุ่มตัวอย่าง)ที่ให้กำเนิดบุตรในปีเดียวกันและอยู่ในวัยเดียวกับผู้ป่วย คือ 15-39 ปี
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อติดตามผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มวัยนี้ได้ที่10 ปี อัตราการคลอดบุตรที่บุตรรอดชีวิตคือ 8% โดยอัตราตั้งครรภ์และอัตรารอดของทารกในครรภ์จะลดลงในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มไม่ได้ยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้ที่ตั้งครรภ์กับกลุ่มมารดาทั่วไปที่ตั้งครรภ์ในวัยเดียวกัน/ช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า โอกาสรอดของทารก, การคลอดก่อนกำหนด, ภาวะทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์, และการจำเป็นต้องคลอดด้วยการผ่าท้องคลอด, ไม่ต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ แต่ข้อมูลที่แพทย์เพิ่งค้นพบและจำเป็นต้องศึกษาต่อไปว่าเป็นเพราะอะไร คือ ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เซลล์มะเร็งไม่จับฮอร์โมน(ER-) มักเกิดภาวะทารกคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป
ดังนั้น จากการศึกษานี้ จะพบว่า โอกาสตั้งครรภ์หลังการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ที่มีอายุ15-39ปี ค่อนข้างต่ำ คือ ประมาณ 8%ของผู้ป่วยเมื่อติดตามผู้ป่วยได้10ปี
แหล่งข้อมูล:
- W. Imsamian. Et al. Cancer in Thailand 2015; Vol VIII, 2010-2012
- IJC 2018;142(10): 1994-2002
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2894028/ [2019,June12]