คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน อัตราเกิดมะเร็งชนิดที่สองในผู้ป่วยมะเร็งผู้ใหญ่ชาวออสเตรเลีย
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 พฤษภาคม 2562
- Tweet
ผู้ป่วยมะเร็งทั้งมะเร็งผู้ใหญ่และมะเร็งเด็ก เมื่อรักษามะเร็งหายแล้ว มีโอกาสเกิดมะเร็งชนิดที่สองได้เสมอ สาเหตุจากยังคงมีปัยจัยเสี่ยงของมะเร็งอยู่นั่นเอง เช่น การบริโภคอาหารด้อยคุณภาพสูงและต่อเนื่อง เช่น อาหารไขมัน แป้ง/น้ำตาล การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขาดการออกกำลังกาย ทั้งนี้รวมถึงการคงอยู่ของพันธุกรรมถ้ามะเร็งชนิดแรกเกิดจากพันธุกรรมผิดปกติ แต่ทั่วไป การรายงานสถิติเกิดมะเร็งชนิดที่สองมักรายงานในมะเร็งเด็ก ซึ่งผู้เล่าได้เคยนำเสนอไปแล้วหลายครั้ง
คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย จึงต้องการทราบว่า รูปแบบการเกิดมะเร็งชนิดที่สองในมะเร็งผู้ใหญ่ชาวออสเตรเลียเป็นอย่างไร จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้จากคณะนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ประเทศออสเตรเลีย นำโดย คุณ Yuanzi Ye แห่ง Menzies Institute for Medical Research มหาวิทยาลัย University of Tasmania เมือง Tasmania โดยเป็นการศึกษา แบบ Population base study จากทะเบียนผู้ป่วยมะเร็ง Tasmanian Cancer Registry ซึ่งศึกษาผู้ป่วยมะเร็งผู้ใหญ่ในช่วงปี 1980 ถึง 2009 ติดตามผลถึงเดือนธันวาคม 2013 และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 15เมษายน2018
ผู้ป่วยมะเร็งผู้ใหญ่ทั้งหมดที่ได้รับการศึกษามี 51,802 คน และได้ติดตามผู้ป่วยโดยมีมัธยฐาน(median time)การติดตามโรคนาน 4.8 ปี เฉลี่ยนาน 6.9 ปี พบว่า อัตราการเกิดมะเร็งชนิดที่สองในช่วงปี 1980-1984 เป็น 0.98 และเพิ่มเป็น 1.12ในช่วงปี 2005 - 2009 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(P <0.001) โดยพบมะเร็งชนิดที่สองที่เพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญทางสถิติเป็นในกลุ่มมะเร็งของ ศีรษะและลำคอ ปอด ระบบทางเดินอาหาร และต่อมลูกหมาก(P <0.05) ซึ่งมะเร็งชนิดที่สองที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมักเกิดตามหลังการเป็นมะเร็งครั้งแรกที่เป็นมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ
คณะผู้ศึกษา สรุปผลการศึกษาว่า ในมะเร็งผู้ใหญ่ของออสเตรเลียที่เป็นผู้ป่วยช่วง1980 ถึง 2009 มีแนวโน้มที่จะตรวจพบมะเร็งชนิดที่สองได้สูงขึ้น ซึ่งน่าเกิดจากปัจจัยสำคัญคือ วิธีการตรวจติดตาม/วินิจฉัยโรคมะเร็งที่รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งดีขึ้นมาก เช่น การตรวจผู้ป่วยด้วยรังสีวินิจฉัยและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ชนิดก้าวหน้า เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ PET-scan
ทั้งนี้ ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานชัดเจนถึงอัตราเกิดมะเร็งชนิดที่สองในผู้ป่วยมะเร็งผู้ใหญ่ไทย แต่ในการตรวจติดตามผู้ป่วยฯ แพทย์ไทยมีวิธีการเช่นเดียวกับแพทย์ในออสเตรเลีย/การแพทย์ตะวันตก คือ การสอบถามอาการผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูสารมะเร็งชนิดพบบ่อย และการตรวจภาพอวัยวะที่แพทย์สงสัยว่าจะเกิดมะเร็งด้วยเทคนิคทางรังสีวิทยาก้าวหน้า แต่อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยมะเร็งชนิดที่สองที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่แพทย์ตรวจพบเพื่อการตรวจทางพยาธิวิยา หรือการเจาะ/ดูดเซลล์จากรอยโรคฯเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับในตะวันตก อัตราการติดตามโรค/การที่ผู้ป่วยมะเร็งหลังรักษาครบกลับมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดของผู้ป่วยมะเร็งไทยน้อยกว่าผู้ป่วยในตะวันตกมาก
แหล่งข้อมูล:
- Cancer 2018;124(8):1808-18