คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน โอกาสรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดในผู้ป่วยหญิงมะเร็งเด็กที่รอดชีวิต

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-305

      

      ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเด็กมีอัตรารอดชีวิตที่สูงขึ้นมากโดยเฉพาะในมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอแอลแอล(ALL)ซึ่งเป็นมะเร็งพบสูงเป็นลำดับ1ของมะเร็งเด็ก ซึ่งอัตรารอดชีวิต(Relative survival rate)ที่10ปี ประมาณ85% ทั้งนี้การรักษาหลักของมะเร็งเด็กจะเช่นเดียวกับในมะเร็งผู้ใหญ่ คือ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ในกรณีของมะเร็งที่ไม่ใช่มะเร็งในระบบเลือด แต่การรักษาหลัก คือ ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา กรณีของมะเร็งระบบเลือดที่เป็นมะเร็งกลุ่มพบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะมะเร็งเอแอลแอล ซึ่งการรักษามะเร็งเด็กในเด็กหญิงด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาอาจนำไปสู่ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยเมื่อเด็กฯรอดชีวิตได้

      คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์ Weill Cornell Medical College, New York สหรัฐอเมริกา ที่นำโดย พญ. Jennifer M Levine มีความประสงค์จะศึกษาว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มโอกาสเกิดภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยในผู้ป่วยมะเร็งเด็กหญิงที่รอดชีวิต และเด็กฯที่รอดชีวิตกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการเจริญพันธ์/การตั้งครรภ์อย่างไร ซึ่งการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ สหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 1 มีนาคม 2018

      ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษาให้คำนิยามภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยว่า คือ การที่ผู้ป่วยหยุดมีประจำเดือนต่อเนื่องนานตั้งแต่6เดือนขึ้นไป โดยภาวะหมดประจำเดือนนี้เกิดหลังการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งนานตั้งแต่5ปีขึ้นไป และรวมถึงต้องเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอายุ40ปี

      การศึกษานี้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเด็กหญิงช่วงปี 1970-1986 โดยมีผู้ป่วยมะเร็งเด็ก หญิงที่รอดชีวิตทั้งหมด 2,930 รายที่ได้รับการรักษาในช่วงอายุตั้งแต่เกิด-20ปี มีอายุมัธยฐาน/median คือ 6 ปี และขณะที่ศึกษาเรื่องนี้ผู้ป่วยมีอายุในช่วง 18-58ปีโดยมัธยฐานคือ 35ปี การศึกษานี้เปรียบเทียบกับกลุ่มญาติผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง 1,399 ราย

      ผลการศึกษาพบว่า จากผู้ป่วยหญิงมะเร็งเด็กทั้งหมดที่รอดชีวิต มี110รายที่เกิดภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดโดยผู้ป่วยกลุ่มศึกษานี้มีอายุอยู่ในช่วง 16-40ปี มัธยฐาน32ปี ส่วนในกลุ่มญาติที่มีอายุช่วงเดียวกันพบภาวะนี้เพียง9.1%ซึ่งต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้คือ การได้รับยาเคมีบำบัดชนิด Procarbazineในปริมาณสูงคือตั้งแต่4,000มิลลิกรัม/ตารางเมตร, ได้รับปริมาณรังสีที่รังไข่โดยเฉพาะปริมาณรังสีที่สูง ตั้งแต่ 500cGyขึ้นไป, ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ร่วมด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งเด็กหญิงที่รอดชีวิตแต่ไม่มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ผู้ป่วยที่มีรังไข่เสื่อมฯที่มีอายุ31-40ปี มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้น้อยกว่า รวมถึงโอกาสที่จะแท้งบุตรจะสูงกว่า

      จากผลการศึกษา คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผู้ป่วยหญิงมะเร็งเด็กที่รอดชีวิต และวางแผนจะมีบุตร ควรจะปรึกษาแพทย์ในการวางแผนครอบครัว/การมีบุตรล่วงหน้า โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการจะมีบุตรในช่วงอายุ30ปีขึ้นไป

      ซึ่งคำแนะนำของคณะผู้ศึกษา สมควรที่จะนำมาปรับใช้กับผู้ป่วยหญิงมะเร็งเด็กที่รอดชีวิตทุกคน รวมถึงในผู้ป่วยประเทศเรา

แหล่งข้อมูล:

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3936227/ [2018,July21]
  2. Cancer2018;124(5):1044-52 (abstract)
  3. http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81/ [2018,July21]