คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารส่วนลำคอด้วยการฉายรังสี3มิติ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 22 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
มะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งพบได้เรื่อยๆทั่วโลกไม่บ่อยนัก เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การขาดอาหารในกลุ่มวิตามิน เกลือแร่, การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ ในอเมริกาพบได้ประมาณ 3-6 รายต่อประชากร 1 แสนคน ประเทศไทยพบในผู้ชายได้ 3.8 รายต่อประชากรชาย1 แสนคน ในผู้หญิงพบได้ 0.7 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน ซึ่งวิธีรักษามะเร็งหลอดอาหารจะขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง โดยแบ่งตำแหน่งมะเร็งหลอดอาหารได้เป็น 3 ส่วน คือ หลอดอาหารส่วนลำคอหรือส่วนบน(Cervical esophagus หรือ Upper esophagus) หลอดอาหารส่วนช่องอกหรือส่วนกลาง(Thoracic esophagus หรือ Middle esophagus) และหลอดอาหารส่วนล่าง(Lower esophagus)
มะเร็งหลอดอาหารส่วนลำคอ เป็นมะเร็งพบได้น้อยมาก ประมาณ 2-10% ของมะเร็งหลอดอาหารทั้งหมด ซึ่งวิธีทั่วไปในการรักษามะเร็งหลอดอาหารเพื่อหายขาด คือ การผ่าตัด และอาจร่วมกับรังสีรักษาและหรือเคมีบำบัด แต่มะเร็งหลอดอาหารส่วนลำคอจะเป็นตำแหน่งที่ปัจจุบันยังผ่าตัดรักษาได้ยากเพราะแพทย์อาจต้องตัดกล่องเสียงและคอหอยออกด้วย การรักษาหลักของมะเร็งส่วนลำคอ จึงมักเป็นการฉายรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด ที่ปัจจุบันจะเป็นการฉายรังสีแบบก้าวหน้า เช่น การฉายรังสีแบบ 3 มิติ (3DCRT, 3 dimensional conformal radiotherapy) ดังนั้นแพทย์จึงต้องการทราบถึงผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารส่วนลำคอด้วยการฉายรังสีรักษา 3 DCRT โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยอยู่รอดได้นาน 5-10 ปี
การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์ของโรงพยาบาลเกียวโต มหาวิทยาลัยเกียวโต เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยหัวหน้าคณะผู้ศึกษาคือ นพ. Katsuyuki Sakanaka แพทย์ด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ชื่อ Radiation Oncology ฉบับเดือน มกราคม ค.ศ.2018 ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลในเวชรเบียนย้อนหลังของผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารส่วนลำคอของโรงพยาบาลเกียวโตในช่วง ปีค.ศ.2000-2014
จากการศึกษาพบว่า ช่วง ค.ศ.2000-2014 มีผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารส่วนลำคอทั้งหมด 30คน เป็นโรคระยะ 1, 3 คน; โรคระยะ 2, 2 คน; โรคระยะ 3,12 คน; และโรคระยะ 4 ชนิดที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง,13 คน ซึ่งการฉายรังสีใช้เทคนิค 3DCRT โดยผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสี median dose ที่รอยโรคและที่ต่อมน้ำเหลืองลำคอที่มีโรค ลุกลาม = 60Gy, ผู้ป่วย 26 รายได้รับการฉายรังสีที่ต่อมน้ำเหลืองลำคอ(Elective node radiation)ระดับIII,IV,VI,และในช่องอก(Mediastinum) ที่ปริมาณรังสี median dose= 40Gy, และ26รายได้รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วยในระหว่างรังสี ซึ่งติดตามผู้ป่วยทั้งหมดได้นานที่ median time=110 เดือน
ผลการศึกษาพบว่า อัตราการควบคุมโรคได้ที่หลอดอาหารและต่อมน้ำเหลืองลำคอ (Locoregional control)ที่ 5 ปี= 43.7% และที่ 10 ปี=37.4%; อัตรารอดชีวิตที่5ปี=48.4%,ที่10ปี=40.2%; ในกลุ่มผู้ป่วยที่การรักษาล้มเหลว เป็นการมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่หลอดอาหารและที่ต่อมน้ำเหลืองลำคอ=83%, โรคแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น/แพร่กระจายทางกระแสเลือด=6%, และทั้งเกิดย้อนกลับที่หลอดอาหาร ต่อมน้ำเหลืองฯและทางกระแสเลือด=11% นอกจากนั้นยังพบว่า การมีโรคลุลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่คอเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ และ ลดอัตราอยู่รอดอย่างมีความสำคัญทางสถิติ คือ p < 0.05 ทั้ง 2 กรณี; ในด้านผลข้างเคียง ผู้ป่วยที่รอดชีวิตทุกคนไม่มีใครต้องใช้ท่อเจาะคอหรือท่อให้อาหารอย่างถาวร แต่เกิดปัญหาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ได้รับรังสีไปด้วย ที่ 5 ปี=31.6% ที่ 10 ปี=62.5%; มีโรคหัวใจที่ 5 ปี= 17.5% ที่ 10 ปี=21.3% ที่คาดว่าน่ามาจากหัวใจได้รับรังสีไปด้วยจากการฉายรังสีต่อมน้ำเหลืองในช่องอก
คณะผู้ศึกษาสรุปผลว่า รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดสามารถรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหารลำคอได้หายในระยะต้นๆของโรคที่ยังไม่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง แต่แพทย์จำเป็นต้องคอยดูแลควบคุมรักษาผลข้างเคียงจากรังสีในระยะยาวให้กับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข้อมูล:
- Cancer 2018;124: 417-425(abstract)
- Khuhaprema,T. et al. 2013. Cancer in Thailand volume VII, 2007-2009
- https://ro-journal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s13014-018-0957-6 [2018,June16]
- https://emedicine.medscape.com/article/277930-overview#showall [2018,June16]