คุยกับหมอรักษามะเร็ง - ตอนที่ 13
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 4 กุมภาพันธ์ 2556
- Tweet
เดิมตามที่ตั้งใจไว้ คือ จะเล่าต่อว่า เมื่อมีแพทย์รักษาโรคมะเร็งหลากหลายสาขา แพทย์รักษามะเร็งจะทำงานกันอย่างไร? แต่พอดีหลานสาววัยรุ่น เกิดสงสัยว่า ใส่ยกทรงแบบมีโครงเหล็กแล้วจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านมใช่ไหม ดิฉันจึงคิดว่า เรามาคุยกันเรื่องนี้ก่อนดีกว่านะคะ ไว้สัปดาห์ต่อไป ค่อยคุยกันเรื่องวิธี/ขั้นตอนการทำงานของแพทย์โรคมะเร็ง
คำถามที่ผู้หญิงกังวลกันมากอีกคำถามหนึ่งในเรื่องโรคมะเร็งเต้านม คือ การใส่ยกทรงว่า เป็นสาเหตุ/หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่?
ผู้หญิงที่ใส่ยกทรงทุกชนิด ทุกรูปแบบ ดีใจได้เลยคะ เพราะ “ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า การใส่ยกทรงรูปแบบต่างๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม”
ค่อยๆอ่านนะคะ เพราะจะเล่าถึงที่มาของข่าวลือ หรือความเชื่อในเรื่องนี้ว่า มีต้นตอมาจากไหน
ต้นตอของเรื่องนี้มาจาก ที่พวกเราชอบรายงานข่าวครึ่งกลางๆ ไม่รายงานเนื้อข่าวทั้งหมด ทั้งนี้เพราะมีการศึกษาหนึ่งนานมาแล้ว พบว่า ผู้หญิงที่ใส่เสื้อยกทรง เป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ใส่เสื้อยกทรง โดยตั้งสมมุติฐานว่า การใส่เสื้อยกทรงจะรัดเต้านม จะทำให้ระบบน้ำเหลือง ของเต้านมอุดตันเรื้อรัง จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เซลล์เต้านมเกิดการอักเสบจนกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็งได้
แต่ความจริงในการศึกษานี้ ก็คือ ผู้หญิงที่ใส่ยกทรง จะเป็นกลุ่มที่มีเนื้อเต้านมมาก (ขนาดเต้านมใหญ่) จึงจำเป็นต้องใส่ยกทรง ถ้าไม่ใส่ยกทรงเต้านมที่มีขนาดใหญ่จะส่งผลต่อการคล่องตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนผู้หญิงที่ไม่ใส่ยกทรง เพราะเนื้อเต้านมน้อย หรือหน้าอกไข่ดาว จึงใส่ยกทรงไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นธรรมดา ตรงไปตรงมา เมื่อมีเนื้อเต้านมมาก ก็ต้องมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนที่มีเนื้อเต้านมเพียงเล็กน้อย
อีกประการ การมีระบบน้ำเหลืองอุดตันที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เซลล์เกิดอักเสบจนอาจกลายพันธ์ได้นั้น เนื้อเยื่อนั้นๆต้องมีระบบน้ำเหลืองอุดตันจนเกิดอาการบวมเรื้อรังต่อเนื่องนานเป็นหลายๆเดือนหรือหลายๆปี แต่เราก็ยังไม่เคยพบเลยว่า มีผู้หญิงที่ใส่ยกทรงรัด หรือที่มีโครงเหล็กรัดจนเต้านมบวมเรื้อรัง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ การใส่ยกทรง ไม่วาจะ ชนิดไหน ประเภทไหน แบบไหน จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านม
สรุป จนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557) ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า การสวมใส่ยกทรง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม รวมทั้งยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมแม้แต่คนเดียว ที่การใส่ยกทรงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม
และอย่านำเรื่องนี้ไปปนกับ เมื่อมีการฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งเต้านม ที่แพทย์ห้ามใส่ยกทรง ทั้งนี้การห้ามกรณีนี้ เกิดจากการฉายรังสี จะส่งผลให้ผิวหนังของเต้านมอักเสบ ดังนั้นถ้าผิวหนังนั้นถูกครูด รัด จากยกทรง จะส่งผลให้ผิวหนังเฉพาะส่วนที่ได้รังสีเกิดเป็นแผลเหมือนแผลไฟไหม้/น้ำร้อนลวก ทำให้ต้องหยุดพักการฉายรังสี ซึ่งจะส่งผลให้การควบคุมโรคมะเร็งด้อยประสิทธิภาพลง ดังนั้นแพทย์รังสีรักษา จึงห้ามผู้ป่วยใส่ยกทรง แต่ห้ามเฉพาะในช่วงที่ได้รับการรักษา (การฉายรังสี/ฉายแสง) เท่านั้น เมื่อครบการรักษาและผิวหนังของเต้านมกลับมาปกติแล้ว คือ ประมาณ 2 เดือนหลังครบการฉายรังสี ผู้ป่วยก็สามารถกลับมาสวมใส่ยกทรงได้ตามเดิม และการสวมใส่ยกทรงก็ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้โรคมะเร็งย้อนกลับมาเป็นซ้ำคะ
สรุป จนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557) ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า การสวมใส่ยกทรง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม รวมทั้งยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมแม้แต่คนเดียว ที่ระบุการใส่ยกทรงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ดังนั้น มั่นใจได้เกิน 100 คะว่า การสวมใส่ยกทรงไม่ได้เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
ถ้าอยากรู้เรื่องมะเร็งเต้านมเพิ่มเติม หรือ เรื่องปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม ก็แนะนำอ่านบทความเรื่อง โรคมะเร็งเต้านม ในเว็บ haamor.com ของเราคะ
บรรณานุกรม
- http://www.cancerresearchuk.org/home/ [2013,Jan19]
- http://www.breastcancer.org/symptoms/understand_bc/statistics?gclid=CLb3_qeQ_rMCFYl66wodNmoAzQ [2013,Jan19]
- http://www.mayoclinic.com/health/breast-cancer/DS00328/DSECTION=risk-factors [2013,Jan19].
- http://www.cancer.org/acs/groups/cid/documents/webcontent/003165-pdf.pdf [2013,Jan19].