คุมได้ตามใจอยาก (ตอนที่ 20)

คุมได้ตามใจอยาก-20

      

การทำหมัน (Sterilisation) เป็นกระบวนการคุมกำเนิดที่ถาวร เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตร การทำหมันทำได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยต้องวางยาสลบในระหว่างการทำ และสามารถกลับไปพักที่บ้านได้เลยหลังการทำ อย่างไรก็ดี หลังการทำควรพักผ่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และไม่ออกกำลังที่หักโหม 2-3 วัน

สำหรับผู้หญิง การทำหมันจะเป็นการผูกท่อนำรังไข่ (Tubal ligation / tubal occlusion) ส่วนผู้ชายจะเป็นการตัดหลอดนำอสุจิ (Vasectomy) ซึ่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายยังมีการหลั่งน้ำอสุจิแต่จะไม่มีตัวอสุจิ (Sperm) ที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้

ทั้งนี้ สิ่งที่ควรพิจารณาให้ดีก่อนการทำหมัน ได้แก่

  • ต้องแน่ใจว่าไม่ต้องการมีบุตรอีกเพราะเมื่อทำแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
  • ต้องมีการผ่าตัดที่อาจทำให้ไม่สบาย
  • สำหรับผู้ชาย หลังการตัดหลอดนำอสุจิ ตัวอสุจิอาจยังคงค้างอยู่ ดังนั้นอาจต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นเสริมอีกระยะหนึ่ง (2-3 เดือน)
  • การทำหมันไม่สามารถป้องกันการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ ยังคงต้องมีการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกัน

ข้อดีของการทำหมัน

  • เป็นการป้องกันการตั้งครรภ์แบบถาวร
  • การผูกท่อนำรังไข่ไม่มีผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนตามธรรมชาติและการมีรอบเดือนแต่อย่างใด
  • ไม่มีผลต่อความต้องการทางเพศ

ข้อด้อยของการทำหมัน

  • อาจปวดบริเวณแผลที่ผ่าตัด
  • อาจตั้งครรภ์ได้ หากการผ่าตัดไม่เรียบร้อย ท่อไม่ได้ถูกตัดหมดหรือท่อกลับมาต่อติดกันเอง

แผ่นแปะคุมกำเนิด (Birth control patch) เป็นแผ่นแปะที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน สามารถแปะได้สัปดาห์ละครั้งนาน 3 สัปดาห์ กล่าวคือ แปะได้นาน 21 วัน ส่วนสัปดาห์ที่ 4 จะเป็นเวลาที่ไม่แปะและปล่อยให้มีประจำเดือน

แผ่นแปะคุมกำเนิดทำงานเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด โดยปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไม่ให้ไข่ตก และยังสร้างเมือกหนาเพื่อกันไม่ให้อสุจิเข้าผสมกับไข่ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. 9 types of contraception you can use to prevent pregnancy. https://www.health.qld.gov.au/news-events/news/types-contraception-women-condoms-pill-iud-ring-implant-injection-diaphragm [2020, April 17].
  2. Sterilisation.https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/diaphragm/about/pac-20393781 [2020, April 17].
  3. PERMANENT CONTRACEPTIVE METHODS (STERILISATION). https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/diaphragm [2020, April 17].