คุมได้ตามใจอยาก (ตอนที่ 11)

คุมได้ตามใจอยาก-11

      

ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เป็นการใช้หลอดยาขนาดเล็กฝังเข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขนผู้หญิง ซึ่งภายในแท่งหรือหลอดจะบรรจุฮอร์โมน Progesterone ที่ค่อยๆ ปล่อยออกมาจากแท่งหรือหลอดเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยยับยั้งไม่ให้ไข่ตก (Ovulation) ทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ซึ่งเป็นผลทำให้อสุจิผ่านเข้าสู่มดลูกเพื่อปฏิสนธิกับไข่ได้ยากขึ้น รวมทั้งยังทำให้เยื่อบุผนังมดลูก (Endometrium) บางจึงทำให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วไม่สามารถเกาะที่ผนังมดลูกได้ดี

ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการที่ได้ผลมากกว่าร้อยละ 99 เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีกับผู้หญิงที่ไม่สามารถใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน Estrogen หรือผู้ที่ไม่สามารถจดจำการกินยาให้ตรงเวลา

กรณีที่มีการแพ้ยา ก็สามารถนำยาฝังคุมกำเนิดออกได้เลยและสามารถตั้งครรภ์ได้ทันที อย่างไรก็ดี ยาฝังคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และอาจมีประสิทธิผลน้อยลงเนื่องจากใช้ร่วมกับยาบางตัว

หากมีการฝังคุมยากำเนิดภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที แต่ถ้าเป็นการฝังในวันอื่นของรอบเดือน ก็อาจต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นช่วยด้วยเป็นเวลา 7 วัน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย

นอกจากนี้ ยังสามารถฝังยาคุมกำเนิดได้หลังการคลอด และปลอดภัยแม้อยู่ระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งหากทำภายใน 21 วันหลังคลอด หรือทำทันทีหลังการแท้งบุตร ก็จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที แต่ถ้าทำหลังจากนี้ต้องอาศัยวิธีการคุมกำเนิดอื่นช่วยด้วยเป็นเวลา 7 วัน เช่นกัน

สำหรับการฝังยาคุมกำเนิดนั้นต้องใช้การฉีดยาชาที่ต้นแขนแล้วจึงสอดหลอดยาขนาดเล็กเข้าไปซึ่งจะกินเวลาเพียงเล็กน้อย และมีความรู้สึกเหมือนถูกฉีดยา โดยยาที่ฝังจะมีอายุอยู่ได้ 3 ปี ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งการถอดออกก็ง่ายแค่เพียงกรีดผิวแล้วดึงหลอดยาออก

อย่างไรก็ดี การฝังยาคุมกำเนิดไม่เหมาะกับกรณีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่คิดว่าอาจจะตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ไม่ต้องการให้ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง
  • ผู้ที่มีเลือดออกมากระหว่างมีประจำเดือนหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแดง (Arterial disease) หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับตับ
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม

สำหรับข้อดีของการฝังยาคุมกำเนิด ได้แก่

  • อยู่ได้นาน 3 ปี
  • ไม่รบกวนการมีเพศสัมพันธ์
  • เป็นทางเลือกกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน estrogen
  • ปลอดภัยระหว่างการให้นมบุตร
  • เมื่อนำลวดออกก็สามารถตั้งครรภ์ได้ทันที
  • ช่วยลดการมีประจำเดือนมามากหรือปวดระหว่างมีประจำเดือน

แหล่งข้อมูล:

  1. 9 types of contraception you can use to prevent pregnancy. https://www.health.qld.gov.au/news-events/news/types-contraception-women-condoms-pill-iud-ring-implant-injection-diaphragm [2020, April 8].
  2. Intrauterine device (IUD). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/iud-coil/ [2020, April 8].
  3. Birth Control and the IUD (Intrauterine Device). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/combination-birth-control-pills/about/pac-20385282 [2020, April 8].