คุดทะราด (Yaws)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

คุดทะราด(Yaws) คือ โรคที่เริ่มจากผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Treponema pallidum pertenue ซึ่งเป็นแบคทีเรียรูปเกลียวในสกุลเดียวกับโรคซิฟิลิส (Syphilis) ต่างกันที่ซิฟิลิสจะเป็นชนิดย่อยชื่อ Treponema pallidum pallidum ซึ่งผิวหนังจะเกิดเป็นตุ่มแผลน่ารังเกียจ ลุกลาม เรื้อรัง เกิดได้ทั่วร่างกาย

คุดทะราด และ ซิฟิลิส มีบางลักษณะของโรคที่คล้ายคลึงกัน แต่ที่ต่างกันอย่างสำคัญ คือ คุดทะราด ’ไม่ใช่’ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไม่สามารถเกิดโรคแต่กำเนิด(Congenital disease, โรคที่เกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จากที่แม่เป็นโรคนั้นๆ) ขณะที่ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และสามารถเกิดโรคแต่กำเนิดได้

คุดทะราด เป็นโรคเรื้อรัง มีธรรมชาติของโรค เป็นๆหายๆ ลุกลามได้นานเป็น 10 ปี และในที่สุดจะก่อให้เกิดทุพพลภาพ จากมีการทำลายเนื้อเยื่อของผิวหนัง, กระดูก, และข้อต่างๆ, ที่พบบ่อยคือ เนื้อเยื่อจมูก กระดูกเท้าและขา ซึ่งทำให้มีลักษณะโรคเหมือนโรคเรื้อนได้

คุดทะราดเป็นโรคพบน้อยทั่วโลก แต่พบได้บ่อยมากขึ้นในประเทศเขตร้อน ชื้น ที่ขาดสุอนามัยพื้นฐาน เช่น ทวีปอัฟริกัน และอเมริกาใต้ โดยสันนิษฐานว่า Yaws อาจมาจากภาษาอัฟริกัน คือ Yaw ที่แปลว่าผล Raspberry เพราะรอยโรคที่ผิวหนังของโรคนี้ลักษณะตะปุ่มตะป่ำคล้ายผล Raspberry หรืออาจมาจากภาษาอเมริกาใต้ จากคำว่า Yaya ที่แปลว่า แผลที่เจ็บปวดทรมาน ที่เป็นอาการสำคัญของคุดทะราด นอกจากนั้น ยังพบได้ในประเทศในเอเชียตะวันออกใต้ และในหมู่เกาะแปซิฟิก(เช่น ปาปัวนิวกินี) ในประเทศไทยพบโรคนี้น้อยมาก เคยมีรายงานพบบ้างในภาคใต้ของบ้านเรา

คุดทะราด พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ผู้ชายและผู้หญิงพบเท่ากัน โดยประมาณ 75% ของผู้ป่วยเป็นเด็ก โดยช่วงอายุพบโรคได้สูงสุด คือ วัยเรียน 6-10 ปี

คุดทะราด เป็นโรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรงกับรอยโรคหรือกับสารคัดหลั่งจากแผลที่ผิวหนัง (Person to person contact) มีรังโรคคือคนเท่านั้น และมีวิธีรักษาที่ง่ายมาก คือ

  • กิน หรือฉีดยาปฏิชีวนะ เพียงครั้งเดียว ดังนั้น จึงเป็นโรคที่สามารถกำจัดได้ง่ายมาก

คุดทะราดเกิดได้อย่างไร? ติดต่ออย่างไร?

คุดทะราด

สาเหตุของคุดทะราด คือ การที่ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ Treponema pallidum pertenue ซึ่งมีเพียงคนเท่านั้นที่เป็นรังโรคของเชื้อนี้

คุดทะราด ติดต่อโดยคนติดต่อสู่คน จากการสัมผัสโดยตรงกับรอยโรคที่ผิวหนังและกับสารคัดหลั่ง/น้ำเหลือง/หนองจากแผลของผู้ป่วย เรียกว่า เป็นการติดต่อแบบ “Person to person contact” หรือ จากผิวหนังสู่ผิวหนัง (Skin to skin contact), และ/หรือ สารคัดหลั่งผู้ป่วยสัมผ้สกับเยื่อเมือกของเรา เช่น ริมฝีปาก ตา ที่เรียกว่า Skin to mucous membrane contact, ซึ่งทั้งหมดรวมเรียกว่า เป็นการติดต่อทางตรง(Direct contact)

นอกจากนี้ คุดทะราด ยังสามารถติดต่อได้จากของใช้เครื่องใช้ที่สัมผัสโรค และมาสัมผัสเรา เช่น เสื้อผ้า, เครื่องใช้ที่สัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วยที่เจาะเข้าไปในตัวเรา เช่น จากถูกตะปูที่มีเชื้อนี้ตำ เป็นต้น, และมีรายงานว่า อาตติดต่อได้จากแมลงต่างๆที่ตอมแผลผู้ป่วยและมาตอมผิวหนังเราที่มีบาดแผล ซึ่งเรียกการติดต่อแบบนี้ว่า ‘การติดต่อทางอ้อม(Indirect contact)’

เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสผ่านผิวหนังโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงพบโรคนี้ได้สูงในเด็กวัยเรียน เพราะเป็นวัยที่ชอบมีเพื่อนและเล่นคลุกคลี สัมผัสกันตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ดังกล่าวแล้วใน ‘บทนำฯ’ คุดทะราดไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไม่สามารถติดต่อจากการตั้งครรภ์ได้ถึงแม้แม่จะเป็นโรคนี้ คือไม่ใช่โรคแต่กำเนิด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดคุดทะราด?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดคุดทะราด คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ใน เขตร้อน ชื้น ที่การสาธารณสุขพื้นฐานไม่ดี และมีคุดทะราดเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะในเด็กๆที่อาศัยอยู่ในแหล่งนั้นๆ

คุดทะราดมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของคุดทะราด หรือ ระยะเวลาที่นับจากเชื้อฯเข้าสู่ร่างกายจนปรากฏอาการให้เห็น จะอยู่ในช่วง 9-90 วัน (เฉลี่ย 21 วัน) โดยแบ่งอาการได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้ คือ ระยะแรก (Primary stage), ระยะที่2 (Secondary stage), ระยะแฝง(Latent stage), และระยะ3 (Tertiary stage)

อนึ่ง บางท่านแบ่งอาการโรคนี้เป็น3ระยะโดยไม่นับ ’ระยะแฝง’ เพราะจัดให้รวมอยู่ในระยะที่2

ก. ระยะแรก: จะพบมีตุ่มก้อนเนื้อ เกิดตรงตำแหน่งผิวหนังที่ติดเชื้อ(มักเป็นตำแหน่งที่มีรอยเกา หรือมีแผล) คัน แต่ไม่เจ็บ สีน้ำตาล ลักษณะคล้ายผล Raspberry มักเกิดที่ เท้า ขา และก้น ที่บางคนเรียกว่า ‘ตุ่มแม่ (Mother yaws)’

‘ตุ่มแม่’ จะค่อยๆใหญ่ขึ้นๆ ขนาดประมาณ 1-5เซนติเมตร ผิวด้านบนแตก และคลุมด้วยเยื่อบางๆสีเหลืองที่ลอกหลุด มักเกิดเพียงตุ่มเดียว และมักพบต่อมน้ำเหลืองใกล้กับรอยโรค โตและคลำได้ โรคระยะนี้จะติดต่อได้ง่ายมาก ตุ่มก้อนเนื้อนี้จะค่อยๆหายไปเองได้โดยไม่ต้องรักษาภายใน 3-6 เดือน โดยจะเหลือคล้ายแผลเป็น ที่รอบนอกของแผลจะมีสีคล้ำกว่าตรงกลางแผลเป็น

ข. ระยะที่2: หลังจากตุ่มยุบไปแล้วประมาณ 6-16 สัปดาห์ อาการจะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ ผู้ป่วยอาจมีอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อ่อนล้า และอาจมีไข้ และจะตามมาด้วย มีตุ่มก้อนเนื้อลักษณะเหมือน ‘ตุ่มแม่’ แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ ประมาณไม่เกิน 2 เซนติเมตร เกิดใกล้ๆกับ ‘ตุ่มแม่’ และกระจายตามผิวหนังได้ทั่วตัว เช่น ฝ่าเท้า เท้า ขา มือ ฝ่ามือ และรวมถึงรอบๆปาก และรอบๆรูจมูก เรียกว่า ‘ตุ่มลูก (Daughter yaws)’ รวมทั้งขนาดต่อมน้ำเหลืองก็จะขยายใหญ่ขึ้น

‘ตุ่มลูก’ เหล่านี้ จะขยายลามใหญ่ขึ้น แตกเป็นแผลเปื่อยที่มีสารคัดหลั่งปกคลุม ที่แมลงชอบรุมตอมมาก ซึ่งก่อให้เกิดการติดต่อจากแมลงมาสู่คนได้ นอกจากนั้น ยังมีการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ’ตุ่มลูก’และของกระดูกส่วนต่างๆที่อยู่ใต้’ตุ่มลูก’ร่วมด้วย ระยะนี้เป็นระยะติดต่อที่ติดต่อได้ง่ายมากๆ

อาการระยะที่ 2 จะเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ ถึง 6 เดือน หรืออาจนานกว่า จะเกิดเป็นรอยโรคที่เป็นตะปุ่มตะป่ำทั่วตัว ซึ่งรอยโรคเหล่านี้จะหายได้เอง และไม่เกิดเป็นแผลเป็น แต่รอยโรคที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าจะเกิดเป็นแผ่นหนาดึงรั้ง ลักษณะคล้ายขาปู ตามด้วยกลายเป็นแผลแตก เจ็บปวดมาก ซึ่งถ้าเกิดที่ฝ่าเท้าจะทำให้เกิดการเดินลำบากลักษณะคล้ายปูเดิน เรียกว่า ‘Crab yaws’ ซึ่งอาการทางผิวหนังเหล่านี้จะดำเนินร่วมกับการมีกระดูกอักเสบที่รุนแรงขึ้น ลุกลามเข้าตามข้อกระดูกต่างๆด้วย

อาการต่างๆในระยะที่ 2 จะก่อความทรมานกับผู้ป่วยมาก และจะเป็นๆหายๆไปตลอดระยะเวลาประมาณ 5 ปี โดยตำแหน่งที่โรคกลับเป็นอีก มักเกิดรอบๆ ปาก รักแร้ และรอบๆก้น ซึ่งหลังจากประมาณ 5 ปีไปแล้ว โรคจะสงบเข้าสู่ ระยะแฝง

ค. ระยะแฝง: ระยะนี้โรคจะสงบ ไม่ติดต่อ และไม่มีอาการของโรคปรากฏให้เห็นอีก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ ประมาณ 90% จะพบว่ามีโรคอยู่ในระยะนี้ไปตลอดชีวิต แต่มีประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่โรคจะดำเนินต่อไปเข้าสู่ โรคระยะที่ 3

ง.ระยะที่3 หรือระยะท้าย(Late stage): หลังโรคสงบอยู่ในระยะแฝงได้ประมาณ 5-15 ปี ประมาณ 10% ของผู้ป่วยจะเข้าสู่โรคระยะที่ 3 ที่โรคติดต่อได้เช่นกัน และเป็นระยะที่จะพบเกิดการทำลายอย่างมากของผิวหนังส่วนต่างๆ, ของกระดูก, และบางครั้งโรคลุกลามเข้าระบบประสาท ส่งผลให้เกิดอัมพาตในที่สุด, และอาจลุกลามเข้าลูกตาจนอาจทำให้ตาบอดได้

ซึ่งอาการด้านผิวหนังและกระดูกนั้น จะเกิดตุ่มเนื้อขนาดต่างๆมากมาย ที่ไม่เจ็บยกเว้นเมื่อติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ตุ่มจะค่อยๆใหญ่ขึ้น เกิดเป็นแผลเปื่อย ติดเชื้อ เกิดหนอง และแผลลุกลามกินลึกลงไปถึงเนื้อเยื่อต่างๆ และกระดูก อาการต่างๆเหล่านี้เป็นอยู่ได้นานถึง 5-25 ปี ส่งผลให้เกิดผิวหนังโหว่/แหว่ง และกระดูกกุดในที่สุด ที่คล้ายกับโรคเรื้อน

*หมายเหตุ องค์การอนามัยโรค แบ่งอาการโรคนี้อย่างๆง่ายๆเป็น 2 ระยะคือ ระยะต้น (Early yaws)ที่รวมระยะแรก และระยะที่2ของโรค, และระยะท้ายของโรค(Late yaws) คือ ระยะที่3

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อเกิดตุ่มก้อนเนื้อผิดปกติที่มีลักษณะแตกเป็นแผลเปื่อย และแผลไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะเมื่ออยู่อาศัยในถิ่นที่มีคุดทะราดเป็นโรคประจำถิ่น หรือเมื่อได้เดินทางท่องเที่ยวไปในถิ่นเหล่านี้

แพทย์วินิจฉัยคุดทะราดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคคุดทะราดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการต่างๆ ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย การเกิดโรค/อาการเดียวกันของคนในถิ่นพักอาศัย
  • การตรวจร่างกาย การตรวจดูรอยโรค
  • การตรวจดูเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์จากสารคัดหลั่งที่ให้ผลการวินิจฉัยที่รวดเร็วและสามารถตรวจได้ในทุกสถานที่ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลที่ทันสมัย ที่มักใช้เป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นที่เรียกว่า Dark field microscopy เพื่อช่วยการตัดสินใจใช้ยารักษาของแพทย์ตั้งแรกพบโรคโดยไม่จำเป็นต้องรอการวินิจฉัยจากการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ทั้งนี้การตรวจเลือดเพื่อดูสารภูมิต้านทาน หรือสารก่อภูมิต้านทาน ยังไม่สามารถวินิจฉัยคุดทะราดได้ เป็นเพียงการบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Treponema pallidum เท่านั้น

รักษาคุดทะราดอย่างไร?

การรักษาคุดทะราด เป็นการรักษาที่ง่ายมาก กินยาหรือฉีดยาปฏิชีวนะเพียงครั้งเดียว ก็สามารถรักษาโรคได้หายขาด ค่าใช้จ่ายในการรักษาสามารถเข้าถึงยาได้ทุกคน แต่ยกเว้นผู้ป่วยส่วนน้อยมากๆๆๆ ที่มีเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะเบื้องต้นเหล่านี้ แต่ก็ยังสามารถใช้ยาปฎิชีวนะตัวอื่นทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นกรณีๆไป

ยาปฏิชีวนะเหล่านั้น ได้แก่ การฉีดยา Benzathine penicillin หรือ ยากิน Azithromycin

ด้วยวิธีรักษาที่ง่าย สะดวก ค่าใช้จ่ายไม่แพง องค์การอนามัยโรคจึงตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประชากรโลกในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563)

คุดทะราดมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบเกิดจากโรคคุดทะราด คือ การขาดคุณภาพชีวิตจาก ความพิการที่เกิดขึ้นจาก กระดูกกุด ผิวหนังแห่วงโหว่ และผิวหนังฝ่ามือ ฝ่าเท้าเกิดแผ่นหนาที่รัดตึงจน มือ เท้า ใช้งานได้ลำบาก และที่รวมไปถึงภาพลักษณ์ที่น่ารังเกียจต่อบุคคลทั่วไป

คุดทะราดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของคุดทะราด คือ คุดทะราดเป็นโรคเรื้อรัง มีอาการได้เป็น 10ปี แต่วิธีรักษาให้หายมีประสิทธิภาพมาก

ดังนั้นถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆที่ยังไม่เกิดผลข้างเคียง ผู้ป่วยก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี

แต่ถ้ารักษาล่าช้า หลังเกิดผลข้างเคียงแล้ว โรคหายได้ แต่ความพิการต่างๆที่รวมถึงภาพลักษณ์ที่เสียหายไปแล้วจะยังคงสภาพ ไม่สามารถแก้ไข ฟื้นตัวกลับมาปกติได้ จึงส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่อาจเลวร้ายของผู้ป่วย

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังได้รับการรักษาคุดทะราดแล้ว คือ

  • การปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • โดยเฉพาะเมื่อแรกรับยาที่แผลต่างๆยังไม่หายดี ที่อาจก่อการติดต่อได้ ผู้ป่วยควรต้อง
    • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร อย่างเคร่งครัด
    • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับบุคคลอื่นจนกว่า แผลจะหายดีแล้ว และ
    • รวมถึงต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้น หรืออาการเดิมที่หายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่
  • กังวลในอาการ

ป้องกันคุดทะราดอย่างไร?

โรคคุดทะราดเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีน และเป็นโรคที่ติดต่อทางการสัมผัสคลุกคลี/สัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วยโดยตรง ดังนั้นจึงป้องกันโรคคุดทะราด ได้โดย

  • ไม่คลุกคลี และใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยคุดทะราด
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • เมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยคุดทะราด หรือเดินทางไปยังแหล่งที่คุดทะราดเป็นโรคประจำถิ่น ควรพบแพทย์ก่อนเดินทาง เพื่อการได้รับยาปฏิชีวนะป้องกันโรคนี้

บรรณานุกรม

  1. Amin,R. et al. (2009). J Medicine.2, 109-114
  2. Capuano, C., and Ozaki,M. (2011). Journal of Tropical Medicine. https://www.hindawi.com/journals/jtm/2011/642832/ [2019,Dec14]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/1053612-overview#showall[2019,Dec14]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Yaws [2019,Dec14]
  5. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/yaws [2019,Dec14]
  6. https://www.who.int/neglected_diseases/diseases/yaws/en/[2019,Dec14]
  7. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/yaws [2019,Dec14]
  8. http://en.wikipedia.org/wiki/Yaws[2019,Dec14]