คีโนไดออล (Chenodiol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- คีโนไดออลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- คีโนไดออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คีโนไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คีโนไดออลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คีโนไดออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คีโนไดออลอย่างไร?
- คีโนไดออลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคีโนไดออลอย่างไร?
- คีโนไดออลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
- ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
บทนำ
ยาคีโนไดออล(Chenodiol) หรือจะเรียกอีกชื่อว่า กรดคีโนดีออกซีโคลิก (Chenodeoxycholic acid ชื่ออื่น คือ Chenocholic acid หรือ 3alpha ,7alpha-dihydroxy-5beta-cholan-24-oic acid) เป็นสารประกอบของกรดน้ำดีปฐมภูมิ (Primary bile acid, น้ำดีที่ผลิตโดยตับ)ที่พบมากในตับ มีหน้าที่ช่วยให้ไขมันในลำไส้เล็กถูกย่อยและถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้ง่ายขึ้น ทั่วไปตับจะใช้คอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้นเพื่อสังเคราะห์กรดน้ำดี หลังจากตับปลดปล่อยสารคีโนไดออลเข้ามาในลำไส้เล็กเพื่อทำหน้าที่ของมัน กรดน้ำดีชนิดนี้จะถูกดูดกลับคืนสู่ตับและรอการนำมาใช้ในคราวต่อไป มีกรดน้ำดีบางส่วนจะผ่านมาที่ลำไส้ใหญ่และเข้ารวมตัวกับอุจจาระ ทางคลินิกได้นำสารคีโนไดออลสังเคราะห์ มาใช้เป็นยารักษานิ่วในถุงน้ำดีที่มีสาเหตุจากการรวมตัวหรือการตกตะกอนของไขมันคอเลสเตอรอลจนเกิดการกีดขวางในท่อน้ำดี มีบางสถานพยาบาลนำยาคีโนไดออลมาบำบัดอาการท้องผูก และช่วยรักษาอาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาคีโนไดออลเป็นยาแบบรับประทาน หลังจากตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดก็จะถูกลำเรียงไปยังตับ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างเคมีของยา และจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ
สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาคีโนไดออลที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ไม่สามารถใช้ยานี้บำบัดอาการปวดอักเสบแบบเฉียบพลันจากท่อน้ำดีที่อุดตัน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคตับแข็งจากทางเดินน้ำดีถูกทำลาย (Primary biliary cirrhosis)
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว
- ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการปวดท้องด้านขวาตอนบน(ตำแหน่งถุงน้ำดี)ที่ยังไม่สามารถหาตำแหน่งของนิ่วด้วยการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวด์
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ห้ามใช้ยานี้เกิน 18 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานกว่า 24 เดือน
จากสถิติการรักษาผู้ป่วยด้วยยาคีโนไดออล พบว่ากลุ่มผู้ป่วยประมาณ 50% ที่หายแล้ว จะกลับมาเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีอีกครั้ง และการใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ยังต้องระมัดระวังสภาพการทำงานของตับที่อาจเปลี่ยนแปลงไป จึงกล่าวได้ว่ายาคีโนไดออลเป็นยา อันตราย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
คีโนไดออลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาคีโนไดออลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดีที่ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาโดยการผ่าตัด
คีโนไดออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคีโนไดออลมีกลไกออกฤทธิ์ในตับ โดยยับยั้งการสังคราะห์ไขมันคอเลสเตอรอลและกรดน้ำดีที่มีชื่อว่า Cholic acid ส่งผลให้คอเลสเตอรอลในทางเดินน้ำดีเกิดการเปลี่ยน สภาพโครงสร้าง(Desaturation) และก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อนิ่วในถุงน้ำดีที่มีสาเหตุจากคอเลสเตอรอลเริ่มสลายตัวและมีขนาดเล็กลง
คีโนไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคีโนไดออล มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Chenodeoxycholic acid 250 มิลลิกรัม/เม็ด
คีโนไดออลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคีโนไดออลมีขนาดรับประทานเพื่อรักษานิ่วในถุงน้ำดี เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร ขนาดรับประทานยาคีโนไดออลเพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่องคือ 13–16 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง/วัน ระยะเวลาการรักษาประมาณ 24 เดือน
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยานี้
อนึ่ง:
- ยานี้ ไม่สามารถรักษานิ่วในถุงน้ำดีที่มีสาเหตุจากก้อนนิ่วที่เกิดจากแคลเซียม/หินปูนมารวมตัวกัน
- การปรับขนาดรับประทาน แพทย์จะเริ่มหลังจากผู้ป่วยเริ่มรับประทานยานี้ไปแล้วประมาณ2 สัปดาห์
- ในช่วง 3 เดือนแรกของการรับประทานยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดดูสภาพการทำงานของตับตามคำสั่งแพทย์ว่ายังปกติดีหรือไม่
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคีโนไดออล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคีโนไดออลอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยาคีโนไดออล สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
อนึ่ง การใช้ยาคีโนไดออล บำบัดอาการนิ่วในถุงน้ำดีให้ได้ประสิทธิผล ต้องอาศัยการรับประทานยานี้ต่อเนื่องหลายเดือนตามคำสั่งแพทย์
คีโนไดออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคีโนไดออลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ/กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องอืด แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน เกิดตะคริวที่ท้อง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการซึม
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ไขมันแอลดีแอล/LDLในเลือดเพิ่มขึ้น ไขมันไตรกลีเซอไรด์ต่ำ
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น อาจพบอาการปวดข้อคล้ายเป็นโรคข้อรูมาตอยด์
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะตับอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้คีโนไดออลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคีโนไดออล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง หรือหยุดรับประทานยานี้โดยไม่ขอ คำปรึกษาจากแพทย์
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายเพื่อการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคีโนไดออลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
คีโนไดออลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคีโนไดออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาคีโนไดออลร่วมกับยา Cholestyramine และ Colestipol ด้วยจะลดการดูดซึมยาคีโนไดออลจากระบบทางเดินอาหาร จนทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาคีโนไดออลด้อยลง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาคีโนไดออลร่วมกับ ยาClofibrate และยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดต่างๆ ด้วยจะทำให้ตับมีการหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามาก จนเป็นผลให้นิ่วในถุงน้ำดี มีขนาดโตขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคีโนไดออลร่วมกับ ยาLeflunomide ด้วยเสี่ยงต่อการทำให้ตับทำงานผิดปกติ
ควรเก็บรักษาคีโนไดออลอย่างไร?
ควรเก็บยาคีโนไดออลภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บ ยาที่เสื่อมสภาพ หรือยาที่หมดอายุแล้ว
คีโนไดออลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคีโนไดออล มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Chenodal (คีโนดอล) | Manchester Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chenodeoxycholic_acid [2018,May19]
- https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/chenodeoxycholic_acid [2018,May19]
- http://www.retrophin.com/pdf/Chenodal%20PI.pdf [2018,May19]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB06777 [2018,May19]