คีโตโรแลค (Ketorolac)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคีโตโรแลค(Ketorolac หรือ Ketorolac tromethamine) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่ใช้ต้านการอักเสบของร่างกาย และมีฤทธิ์ระงับอาการปวดตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงอาการปวดระดับรุนแรง ยานี้ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ยาฉีด และยาหยอดตา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ใด ยานี้ก็สามารถดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ 100 % ตัวยาในกระแสเลือดจะคอยทำหน้าที่ยับยั้งการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการปวดและอาการอักเสบนั่นเอง จากนั้นตัวยาจะถูกลำเลียงไปทำลายที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3.5–9.2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและมีบางส่วนขับทิ้งไปกับอุจจาระ

เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภค/ผู้ป่วยเอง ควรทราบข้อมูลทางคลินิกก่อนใช้ยาคีโตโรแลคดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ แพ้ยาแอสไพริน หรือแพ้ยาชนิดอื่นๆของกลุ่ม NSAIDs
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ ด้วยยาคีโตโรแลคจะทำให้อาการป่วยรุนแรงได้มากขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง หรือผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดไตวาย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเพื่อป้องกันอาการเจ็บปวดก่อนการผ่าตัด
  • ห้ามใช้ยาคีโตโรแลคร่วมกับยา Pentoxifylline, Probenecid, Aspirin, หรือยากลุ่มNSAIDs ตัวอื่นๆ

นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ก็ไม่เหมาะสมที่จะได้รับยาคีโตโรแลค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยโรคหัวใจวาย ผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำมาก

โดยทั่วไป แพทย์จะไม่ใช้ยาคีโตโรแลคเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวด หรือการอักเสบเพียงเล็กน้อย ด้วยมียาNSAIDs ตัวอื่นเป็นทางเลือกได้หลายรายการ กรณีของยาฉีด จะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ในประเทศไทยระบุให้ยาฉีดคีโตโรแลคเป็นยาควบคุมพิเศษ ส่วนยาหยอดตาถูกระบุให้อยู่ในหมวดยาอันตรายสำหรับใช้ภายนอก ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้กลับบ้านควรต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสี่ยงจากอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมา

หากหลังการใช้ยาคีโตโรแลคแล้วรู้สึก วิงเวียนศีรษะ ควรพักและหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักรต่างๆเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย สำหรับอาการข้างเคียงอื่นๆที่อาจพบเห็นได้บ่อยจากยานี้ เช่น ทำให้มีอาการท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย รู้สึกง่วงนอน ท้องอืด รู้สึกไม่สบายในท้อง เป็นต้น

*กรณีมีข้อผิดพลาดทำให้ผู้ป่วยได้รับยาคีโตโรแลคเกินขนาด จะทำให้เกิดอาการต่างๆดังนี้เช่น ปัสสาวะน้อยลง สูญเสียการควบคุมสมาธิ อาจพบอาการชัก วิงเวียน หรือง่วงนอนอย่างรุนแรง คลื่นไส้อย่างมาก ปวดท้อง หายใจช้าลงหรือไม่ก็หายใจขัด/หายใจลำบาก มีอาการตัวสั่น หากเกิดการอาเจียน อาจพบเห็นอาเจียนมีสีคล้ำคล้ายสีกาแฟ/อาเจียนเป็นเลือด กรณีพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ยาคีโตโรแลคเป็นยาที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้กับผู้ใหญ่ และมีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กไม่มากนัก และสำหรับการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ แพทย์จะปรับขนาดลดการใช้ยาลงมา ทั้งนี้ผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงได้ง่าย

หากผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาคีโตโรแลคเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้จากแพทย์ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป

คีโตโรแลคมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คีโตโรแลค

ยาคีโตโรแลคมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เป็นยาบำบัดอาการปวดจากการอักเสบของร่างกายในระดับกลางจนถึงการปวดขั้นรุนแรง เช่น ปวดจากแผลผ่าตัด โดยมีระยะเวลาของการใช้ยาไม่เกิน 5 วัน

คีโตโรแลคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤธิ์ของยาคีโตโรแลคคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 2 ตัว คือ Cyclooxygenase-1 และ 2 (COX-1 และ 2)ในเนื้อเยื่อต่างๆ เป็นผลให้การสร้างสาร Prostaglandin ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่กระตุ้นกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายมีปริมาณลดลง จึงทำให้อาการปวดจากการอักเสบทุเลาลงได้ตามสรรพคุณ

คีโตโรแลคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคีโตโรแลคมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของยา Ketorolac ขนาดเข้มข้น 0.5%, 0.45% และ 0.4%
  • ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของยา Ketorolac tromethamine ขนาด 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของยา Ketorolac tromethamine ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด

คีโตโรแลคมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาคีโตโรแลคมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับบำบัดอาการปวดบาดแผลหลังผ่าตัด:

  • กรณียารับประทาน: ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานยา 20 มิลลิกรัม ในครั้งแรก แล้วรับประทานยา 10 มิลลิกรัม ทุกๆ 4–6 ชั่วโมง; ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัมลงมา: รับประทานยา 10 มิลลิกรัม ในครั้งแรก แล้วรับประทานยาขนาด 10 มิลลิกรัม ทุกๆ 4–6 ชั่วโมง อนึ่ง ขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน, ทั้งนี้ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • กรณียาฉีด: ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 60 มิลลิกรัม หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 30 มิลลิกรัม, ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัมลงมา: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 30 มิลลิกรัม หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 15 มิลลิกรัม

อนึ่งในเด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับลดอาการปวดตาหลังการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ:

  • ผู้ใหญ่: หยอดยาขนาดความเข้มข้น 0.4% ครั้งละ 1 หยดในตาข้างที่ได้รับการผ่าตัด วันละ 4 ครั้ง ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกิน 4 วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ค. สำหรับลดอาการอักเสบของตาจากภาวะภูมิแพ้:

  • ผู้ใหญ่: หยอดยาขนาดความเข้มข้น 0.5% ครั้งละ 1 หยด วันละ 4 ครั้ง โดยทั่วไป แพทย์จะใช้ยานี้เพียงชั่วคราวเพื่อบำบัดอาการคัน อาการระคายเคือง ในตา
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: สำหรับยาหยอดตากับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป สามารถใช้ขนาดความเข้มข้น 0.5% หยอดตาครั้งละ 1 หยด วันละ 4 ครั้ง โดยแพทย์จะพิจารณาใช้ยาบำบัดอาการคัน-ระคายเคืองตาจากภาวะภูมิแพ้เป็นการชั่วคราว
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี : ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: ห้ามใช้ยานี้ชนิด ยาฉีด ยาหยอดตา และชนิดยารับประทาน ต่อเนื่องนานเกิน 5 วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคีโตโรแลค ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคแผลในระบบทางเดินอาหาร โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคีโตโรแลคอาจส่งผลทำให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคีโตโรแลค สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

คีโตโรแลคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคีโตโรแลคสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกิดภาวะเลือดออกง่าย มีเลือดออกบริเวณแผลที่ผ่าตัด มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาเจียน หลอดอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระหายน้ำ ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความฉลาดถดถอย อาการชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น บวมทั่วตัว หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก หัวใจวาย หลอดเลือดดำอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผมร่วง ลมพิษ เหงื่อออกมาก ผื่นผิวหนังอักเสบ เกิดภาวะStevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อไต: ไตทำงานผิดปกติ ไตวาย
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดสูง เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อตา: เช่น ประสาทตาอักเสบ ตาพร่า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ง่วงซึม ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น แน่นจมูก หอบหืด/หลอดลมหดเกร็ง ปอดบวม

มีข้อควรระวังการใช้คีโตโรแลคอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคีโตโรแลค เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่ม NSAIDs
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตกเลือด เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร /เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สี กลิ่น ยาเปลี่ยนไป น้ำยาตกตะกอน
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้มีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีโรคหัวใจ
  • รับประทานยาตามขนาดและเวลาที่แพทย์กำหนด
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคีโตโรแลคด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คีโตโรแลคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคีโตโรแลคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคีโตโรแลคร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น Warfarin หรือยาแก้ปวด อย่างเช่น Aspirin ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroid) ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • ห้ามใช้ยาคีโตโรแลคร่วมกับยา Probenecid เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาคีโตโรแลคมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคีโตโรแลคร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitor ยาขับปัสสาวะ อย่างเช่นยา Furosemide และ HCTZ ด้วยยาขับปัสสาวะเหล่านี้จะถูกลดประสิทธิภาพการรักษาลงมาเมื่อใช้ร่วมกับคีโตโรแลค
  • ห้ามรับประทานยาคีโตโรแลคร่วมกับเครื่องดื่มประเภทสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารสูงขึ้น

ควรเก็บรักษาคีโตโรแลคอย่างไร?

สามารถเก็บยาคีโตโรแลคทุกรูปแบบเภสัชภัณฑ์ ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

คีโตโรแลคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคีโตโรแลค ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Acular (แอคิวลาร์) Allergan
Ketolac (คีโตแลค)American Taiwan Biopharm
Xevolac (ซีโวแลค)Novell Pharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Cadolac, Kelac, Ketanov, Algic eye, Centagesic, Doloket, Kenalfin, Ketin, Ketlac, Ketlur, Ketodrops, Ketolas eye drop

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/ketorolac.html[2017,March18]
  2. https://www.drugs.com/dosage/ketorolac-ophthalmic.html[2017,March18]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Ketorolac[2017,March18]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ketolac/?type=brief[2017,March18]
  5. http://www.mims.com/thailand/viewer/html/poisoncls.html[2017,March18]
  6. https://www.drugs.com/toradol.html[2017,March18]