คีโตโปรเฟน (Ketoprofen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคีโตโปรเฟน (Ketoprofen) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด และลดไข้ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่เป็นสารตั้งต้น ของความรู้สึกเจ็บปวดในร่างกาย สำหรับรูปแบบการจัดจำหน่ายมีทั้งยารับประทาน ยาฉีด และเจลทาผิวหนัง

คีโตโปรเฟน จัดเป็นยาที่มีการใช้ในหลายประเทศของแถบทวีปยุโรป การใช้ยาเพื่อวัตถุประ สงค์บรรเทาอาการข้ออักเสบ รวมไปถึงอาการปวดฟันในผู้ป่วยหลายราย

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อ ยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า ยาคีโตโปรเฟนสามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี โดยมีเงื่อนไขต้องรับประทานช่วงท้องว่าง การรับประทานยาพร้อมอาหารจะลดการดูดซึมยา หลังรับประทานความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดจะขึ้นสูงสุดภายใน 0.5 - 2 ชั่วโมง ในรูปแบบยาเจลทาผิวหนัง ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก ปกติคีโตเปรเฟนจะจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 99 % โดยตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยา ร่างกายต้องใช้เวลา 1.5 - 4 ชั่วโมงในการกำ จัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านมากับปัสสาวะ

สำหรับประเทศไทย คีโตโปรเฟนจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยาจึงควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่ง แพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาคีโตโปรเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คีโตโปรเฟน

ยาคีโตโปรเฟนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น รักษาอาการปวดจาก

  • โรคข้ออักเสบ
  • โรคข้อรูมาตอยด์
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดฟัน
  • ปวดประจำเดือน
  • ปวดจากการผ่าตัดกระดูก

ยาคีโตโปรเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคีโตโปรเฟนมีกลไกการออกฤทธิโดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ไซโคลออกซีจิเนส (Cyclooxygenases, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับสารที่ก่ออาการเจ็บปวด) เป็นเหตุให้เกิดการยับยั้งสารโพลสตาแกลนดินที่เป็นปัจจัยสำคัญของอาการปวด

ยาคีโตโปรเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคีโตโปรเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูล ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเจลทาผิวหนัง ขนาดความเข้มข้น 2.5%
  • ยาฉีด ขนาดความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

ยาคีโตโปรเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคีโตโปรเฟนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับอาการปวดจากโรคข้ออักเสบ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทาน 2 - 4 ครั้ง ขนาดรับประ ทานสูงสุดต้องไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน

ข. สำหรับอาการปวดและการอักเสบโดยทั่วไป: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัมทุกๆ 6 – 8 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน

อนึ่ง:

  • ผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 75 ปี แพทย์อาจให้ลดขนาดรับประทานลงตามดุลพินิจของแพทย์
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ถึงขั้นรุนแรง สามารถรับประทานยา 150 มิลลิกรัม/วัน หากเป็น โรคไตระยะรุนแรง รับประทานยาได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ตามดุลพินิจของแพทย์
  • ควรรับประทานยาคีโตโปรเฟน พร้อมอาหาร เพื่อลดอาการระคายเคืองของกระเพาะและลำไส้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยานี้ในเด็ก ขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัว และการใช้ยาต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคีโตโปรเฟน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคีโตโปรเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคีโตโปรเฟน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาคีโตโปรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคีโตโปรเฟน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
  • คลื่นไส้
  • ท้องเสีย
  • เกิดภาวะไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute interstitial nephritis)

***** อนึ่ง: ลักษณะของผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาด มักพบเห็นอาการดังต่อไปนี้ เช่น

  • ง่วงนอน
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีอาการชัก
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • เลือดออกในทางเดินอาหาร

*****ซึ่งการรักษาการได้รับยานี้เกินขนาด แพทย์จะใช้หัตถการทางการแพทย์ตามอาการที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

มีข้อควรระวังการใช้ยาคีโตโปรเฟนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคีโตโปรเฟน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้ แพ้ยาแอสไพริน หรือแพ้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมพิษ มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือเคยมีประวัติมีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ที่มีการทำงานของไต และ/หรือของตับ ผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคีโตโปรเฟนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้ คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาคีโตโปรเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคีโตโปรเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาคีโตโปรเฟน ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของ การมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร จึงห้ามรับประทานร่วมกัน
  • การรับประทานยาคีโตโปรเฟน ร่วมกับยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่นยา Prednisolone จะเพิ่มความเสี่ยงของเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาคีโตโปรเฟน ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจทำ ให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกได้ง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสม
  • การรับประทานยาคีโตโปรเฟน ร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ)บางตัว เช่นยา Quinolones อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอาการชักติดตามมา หากไม่จำเป็น ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาคีโตโปรเฟน ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง กลุ่ม ACE inhibitors (Angio tensin - converting enzyme inhibitor, ยาลดความดันโลหิตชนิดต้านเอนไซม์ที่ทำให้หลอดเลือดบีบตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น) และ Beta blocker (ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง ที่ต้านการทำงานของฮอร์โมน ทำให้หลอดเลือดบีบตัว ส่งผลให้ ความดันโลหิตสูงขึ้น) จะทำให้ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตด้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาคีโตโปรเฟนอย่างไร?

ควรเก็บยาคีโตโปรเฟน เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาคีโตโปรเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคีโตโปรเฟนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Fastum (ฟาสตัม) Menarini
Lolita (โลลิตา) Unison
Oruvail (โอรุเวล) Aventis
Rhumafen Gel (รูมาเฟน เจล) T. O. Chemicals
Rofepain (โรเฟเพน) L. B. S.
Rofepain Gel (โรเฟเพน เจล) L. B. S.
Vestam Gel (เวสตัม เจล) Pharmasant Lab

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Ketoprofen [2020,Dec12]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fketoprofen%2f [2020,Dec12]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ketoprofen [2020,Dec12]
4 http://www.drugs.com/drug-interactions/ketoprofen.html [2020,Dec12]
5 http://www.drugs.com/pro/ketoprofen.html [2020,Dec12]