คีแทนซีริน (Ketanserin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- คีแทนซีรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- คีแทนซีรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คีแทนซีรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คีแทนซีรินมีการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คีแทนซีรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คีแทนซีรินอย่างไร?
- คีแทนซีรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคีแทนซีรินอย่างไร?
- คีแทนซีรินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยาคีแทนซีริน(Ketanserin หรือ Ketanserin tartrate) เป็นยาในกลุ่มเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดและยาชนิดรับประทาน ตัวยาชนิดรับประทานจะมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารโดยใช้เวลาประมาณ 0.5–2 ชั่วโมงก็ทำให้ระดับยาในกระแสเลือดเริ่มจะออกฤทธิ์ได้แล้ว
ยาคีแทนซีริน สามารถออกฤทธิ์ ลดความดันโลหิตได้ทั้งประเภทเรื้อรัง และ ประเภทเฉียบพลัน กรณีผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงแบบเฉียบพลันแล้วได้รับยาชนิดนี้จนอาการหายเป็นปกติ แล้วหยุดใช้ยานี้ ก็จะไม่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงกลับมาใหม่
ขณะเริ่มต้นใช้ยาคีแทนซีริน ประสิทธิผลของการลดความดันโลหิตจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ภายในเวลาประมาณ 2–3 เดือนของการรักษา โดยผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยานี้ 20–40 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ยาคีแทนซีรินมักจะไม่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว และยังส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อการทำงานของไตได้น้อย จึงสามารถใช้ยานี้กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี
ข้อจำกัดของการใช้ยาคีแทนซีรินบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจ เต้นเร็วหรือผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าน้อยกว่า 50 ครั้ง/นาที หรือมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่ ผู้ที่มีภาวะเกลือ โปแตสเซียม/โพแทสเซียม หรือแมกนีเซียม ในเลือดต่ำ ผู้ที่มีค่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
ทั้งนี้ ก่อนการใช้ยาคีแทนซีริน แพทย์อาจต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยเพื่อเป็นการยืนยันสภาพร่างกายว่าสมควรได้รับยานี้หรือไม่ ยาคีแทนซีรินสามารถลดความดันโลหิตที่มีความรุนแรงโรคระดับต่ำๆไปจนถึงระดับปานกลาง บางกรณีแพทย์อาจต้องให้ยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็นยากลุ่ม Beta-blocker หรือกลุ่ม ยาขับปัสสาวะ เช่น Thiazide และ มีผู้ป่วยบางราย อาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำขึ้นมาหลังจากได้รับยาคีแทนซีรินในครั้งแรก
ยาคีแทนซีรินเป็นยาที่ได้รับการยอมรับจากแพทย์ให้ใช้ลดความดันโลหิตในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงการผ่าตัด รวมถึงใช้บำบัดอาการความดันโลหิตสูงหลังการผ่าตัดอีกด้วย โดยต้องให้ยานี้ในลักษณะของยาฉีด
ยาคีแทนซีรินสามารถทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มยาขับปัสสาวะ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาต้านเศร้า ยารักษาโรคจิต ยาแก้แพ้อย่างพวกAntihistamine ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมียาอะไรที่ใช้อยู่บ้าง
ในตลาดยา สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาคีแทนซีริน ภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Ketensin , Sufrexal
อนึ่ง หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยการใช้ยาคีแทนซีรินเพิ่มเติม ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลได้จากแพทย์ที่รับผิดชอบดูแลรักษาอาการของผู้ป่วย หรือสอบถามจากเภสัชกรได้ทั่วไป
คีแทนซีรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาคีแทนซีรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงในระดับความรุนแรงต่ำๆไปจนกระทั่งถึงระดับปานกลาง
- ใช้ลดความดันโลหิตในขณะที่ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการผ่าตัด หรือหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้ว
คีแทนซีรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคีแทนซีรินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะปิดกั้นตัวรับ(Receptor)ที่ผนังหลอดเลือด ที่มีชื่อว่า Serotonergic type 2 receptors เป็นผลยับยั้งหลอดเลือดไม่ให้เกิดการหดตัว ส่งผลทำให้ความดันภายในหลอดเลือดลดลง และหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ
คีแทนซีรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคีแทนซีรินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของ Ketanserin ขนาด 20 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของ Ketanserin ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
คีแทนซีรินมีการบริหารยาอย่างไร?
ยาคีแทนซีรินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 20 – 40 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารประมาณ 1.5 ชั่วโมง
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ข.สำหรับรักษาภาวะความดันโลหิตสูงภาวะวิกฤติในระหว่างหรือหลังการผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำขนาด 5–30 มิลลิกรัม โดยหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 3 มิลลิกรัม/นาที
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคีแทนซีริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคีแทนซีรินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคีแทนซีริน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ
*อนึ่ง การหยุดรับประทานยาคีแทนซีรินทันที อาจก่อให้เกิดอาการความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น
คีแทนซีรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคีแทนซีรินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง เบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
มีข้อควรระวังการใช้คีแทนซีรินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคีแทนซีริน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สียาเปลี่ยนไป หรือน้ำยาฉีดตกตะกอนแข็ง
- ระหว่างใช้ยานี้ ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- ขณะที่ใช้ยานี้ ถ้ามีภาวะใจสั่น ความดันโลหิตอาจต่ำหรือสูง ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคีแทนซีรินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
คีแทนซีรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคีแทนซีรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาคีแทนซีรินร่วมกับยาขับปัสสาวะที่ก่อให้เกิดการสูญเสียเกลือโปแตสเซียม ด้วยจะทำให้ร่างกายมีเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำตามมา
- ห้ามรับประทานยาคีแทนซีรินพร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน และมีภาวะความดันโลหิตต่ำ
- การใช้ยาคีแทนซีรินร่วมกับยากลุ่ม TCAs อย่างเช่น Maprotiline อาจทำให้ คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาคีแทนซีรินอย่างไร?
ควรเก็บยาคีแทนซีรินภายใต้เงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
คีแทนซีรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคีแทนซีริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Sufrexal (ซูเฟรซอล) | Janssen |
Ketensin (คีเทนซิน) | Janssen |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Vulketan
บรรณานุกรม
- http://www.sciencedirect.com/topics/page/Ketanserin[2017,April29]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/2827406[2017,April29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ketanserin[2017,April29]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/ketanserin/?type=brief&mtype=generic[2017,April29]