คิดใหม่ ตอน คนไข้ผิดนัด ลืมนัด ความผิดของใคร

คิดใหม่-1

      

คิดใหม่ ตอน คนไข้ผิดนัด ลืมนัด ความผิดของใคร

การที่ผู้ป่วยมาตรวจไม่ตรงตามนัด หรือลืมมาตรวจตามนัดก็ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องมาตรวจรักษาในวันอื่นๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจรักษาในวันที่ไม่ได้นัด และอาจทำให้มีจำนวนผู้ป่วยมาตรวจมากเกินกว่าที่นัดไว้ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้ป่วยคนอื่นๆ และแพทย์ พยาบาลที่ต้องให้บริบาลการตรวจรักษาเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่การมีแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่มาตรวจไม่ตรงนัด เช่น ตรวจเป็นคิวหลังสุด หรือไม่ให้ตรวจ เนื่องจากคิวเต็มแล้ว การเกิดปัญหานี้ขึ้นส่งผลต่อการรักษาที่ต้องการความต่อเนื่อง เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้างที่ดีกว่าการให้ตรวจเป็นคิวสุดท้าย หรือไม่รับตรวจ ซึ่งเป็นการทำโทษผู้ป่วยผิดนัด ลืมนัด เรามาลองคิดใหม่ คิดทบทวนกันนะครับ

1. โรงพยาบาลควรพัฒนาระบบเตือนผู้ป่วย ญาติให้รู้ว่าวันนัดที่ต้องมาพบแพทย์นั้นใกล้ถึงหรือยัง เมื่อไหร่ เพื่อเป็นการเตือนผู้ป่วย ญาติให้ทราบถึงวันนัด จะได้เตรียมตัวมาตรวจได้ตรงตามนัด

2. กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถมาตรวจตามนัดได้จริง ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทางโรงพยาบาลควรมีระบบการเลื่อนนัด เพื่อให้ผู้ป่วยมาตรวจได้ตามวันที่สะดวก และโรงพยาบาลก็สะดวกด้วย ไม่เกิดความแออัดในวันใดวันหนึ่งมากเกินไป

3. การนัดหมายทุกๆ ครั้ง ควรมีการแจ้งให้ผู้ป่วยและญาติทราบก่อนเสมอว่าจะนัดเมื่อไหร่ เพราะบางครั้งผู้ป่วยและญาติก็ต้องมีธุระ ถ้าทราบว่าวันที่แพทย์นัดนั้น อย่างไรก็ไม่ว่างแน่ๆ จะได้มีการปรับวันนัดให้สะดวกกับทั้งแพทย์ และผู้ป่วย ญาติด้วย

4. กรณีที่ผู้ป่วยติดธุระด่วน และไม่สามารถมาตรวจตามวันนัดได้ และการเลื่อนวันนัดออกไป ยาที่ทานก็ไม่เพียงพอ โรงพยาบาลอาจจะต้องมีระบบการกระจายยาให้ผู้ป่วย เช่น การรับยาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน การรับยาที่ร้านยาคุณภาพ หรือ การส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อให้เกิดการรักษาที่ต่อเนื่อง

5. การปรับทัศนคติการให้การรักษาว่าต้องเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพ อย่าคิดเพียงว่าการมาตรวจตามนัดนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยและญาติอย่างเดียว ทั้งผู้ให้การรักษาและผู้รับการรักษาต้องร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย

การรักษาต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพต้องเกิดจากการจัดระบบริการที่เอื้อให้ผู้รับบริการเกิดความสะดวก และผู้ป่วย ญาติก็ต้องให้ความร่วมมือกับทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาด้วย ทั้ง 2 ฝ่ายต้องร่วมกันคิดใหม่ คิดทบทวนเพื่อก่อให้เกิดระบบบริการที่เกิดประโยชน์สูงสุด