คิดใหม่ ตอน เข้าถึงหมอยาก หรือ เข้าถึงหมอง่าย
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 25 มิถุนายน 2564
- Tweet
การหาหมอที่โรงพยาบาลแต่ละครั้งนั้นอาจต้องใช้เวลาหมดวัน เพราะจำนวนคนไข้ที่มีจำนวนมาก หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่มีจำนวนไม่เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย ร่วมกับภาระงานอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่ที่มีมาก ทำให้การตรวจรักษาผู้ป่วยไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่เดียวของหมอ พยาบาลเท่านั้น ทำให้การเข้าถึงการรักษาแต่ละครั้งของผู้ป่วยเป็นไปด้วยความยาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงเลือกไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชน หรือที่คลินิก ผมชวนมาคิดใหม่ คิดทบทวนระบบการให้บริการที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้แบบสะดวกขึ้นกันครับ
1. คิดว่าทุกโรงพยาบาลจะสามารถพัฒนาระบบบริการที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้สะดวกขึ้นกว่าปัจจุบันได้หรือไม่ ผมขอตอบว่าได้แน่นอนครับ ถ้าเรามาร่วมมือกันระดมความคิดกันทุกฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ให้บริการ คือ ทุกทีมในโรงพยาบาล ผู้ป่วย ญาติ หน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ผู้แทนจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2. คิดว่าขั้นตอนไหนที่ทำให้เกิดการรอคอยนานที่เป็นคอขวดที่สำคัญ ก็นำมาพูดคุยกัน หาทางออกทั้งจากทางผู้ให้บริการ และผู้มารับบริการ ค่อยๆ คิดว่าจะแก้ไขตรงไหน อย่างไร แล้วลงมือแก้ไข ผมเชื่อมั่นว่าไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้ครับ เพียงแต่จะแก้ไขอย่างไร ได้แค่ไหนก็ลองแก้กันดดีกว่าไม่แก้ไขเลย
3. เราลองให้ผู้แทนของประชาชนหรือผู้แทนกลุ่มผู้ป่วยมาร่วมให้บริการแบบจิตอาสากันบ้าง ผมว่าน่าลองดูนะครับ เมื่อภาคประชาชนมาลองให้บริการเอง ก็จะได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง จะได้เข้ามาช่วยกันแก้ไขให้สำเร็จ
4. ลองลดขั้นตอนโดยการใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้ว เช่น การนัดหมายเป็นช่วงเวลา การให้ผู้ป่วยตรวจวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงมาจากทาง รพ.สต.ก่อน หรือใครมีเครื่องมือวัดที่บ้านก็บันทึกข้อมูลมาเลย ลดขั้นตอนหนึ่งในโรงพยาบาลลงไป หรือการจัดระบบคลินิกเฉพาะกลุ่มโรคที่พบบ่อยในโรงพยาบาล เพื่อให้ง่ายต่อการให้การความรู้ การปฏิบัติ การทานยาต่างๆ การใช้การสื่อสารผ่านทางกลุ่มไลน์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วย และชุมชน
5. การสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนว่า รพ.สต.นั้นมีมาตรฐานสามารถให้การดูแลด้านสุขภาพได้ในระดับมาตรฐาน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงของประชาชน และผู้ป่วย
6. การให้บริการคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้ผู้ป่วย ประชาชนสามารถติดต่อเข้ามาสอบถาม เลื่อนนัด นัดหมายล่วงหน้า หรืออื่นๆ ได้ อาจลดการมาใช้บริการที่โรงพยาบาลได้
7. ปรับทัศนคติของทีมว่า เราจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วย ประชาชนเข้าถึงการบริการของเราได้สะดวกขึ้น ต้องพยายามทำให้ได้มากที่สุด
ผมเชื่อว่ายิ่งเราทำให้การเข้าถึงสะดวกมากขึ้นเท่าไหร่ ระยะยาวสุขภาพของประชาชนก็ต้องดีขึ้น และภาระงานของทีมสุขภาพก็จะลดลง ลองคิดใหม่ คิดทบทวนดูนะครับ ผมว่าน่าคิด