คิดใหม่ ตอน ยานอก หรือ ยาในดีกว่ากัน
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 6 สิงหาคม 2564
- Tweet
ยาในหรือจะสู้ยานอกได้ เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดอย่างนี้ ยาในหมายถึงยาชื่อสามัญ หรือยาที่ผลิต จำหน่ายโดยบริษัทที่ไม่ได้คิดค้นตั้งแต่ต้น ซึ่งจะมีราคาต่ำกว่ายานอก หรือยาต้นแบบ ซึ่งเป็นยาที่ผลิต จำหน่ายโดยบริษัทแรกที่คิดค้น มีการศึกษาวิจัยอย่างดีตั้งแต่ต้น จึงมีราคาสูงกว่ายาในอย่างมาก จึงทำให้คนทั่วไปมีความเชื่อว่ายานอกต้องดีกว่ายาใน ผมมาชวนลองคิดใหม่ คิดทบทวนว่า ยานอกกับยาในนั้นมีอะไรที่ต่างกัน ดังนี้
1. ยาในมีการควบคุมมาตรฐานที่เทียบเท่ากับยานอกหรือไม่ ประเทศไทยและนานาชาติมีแนวทางการควบคุมมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด ทำให้ยาในมีมาตรฐานแน่นอน แต่อาจมีปัญหาการติดตามคุณภาพในระยะยาว ซึ่งต้องประเมินคุณภาพ และมาตรฐานของโรงงานที่ผลิต
2. ยาในสามารถใช้แทนยานอกได้หรือไม่ จริงแล้วถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแนวทางมาตรฐานของประเทศไทยและนานาชาติ ต้องบอกว่ายาในสามารถใช้แทนยานอกได้แน่นอน แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนประมาณร้อยละ 5 ที่อาจไม่สามารถใช้ยาในแทนได้
3. ยาในสามารถใช้แทนยานอกในทุกโรคหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องคิดดีๆ เพราะโรคที่ต้องการระดับยาที่พอเหมาะ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระดับยาเพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา เช่น โรคลมชัก ยากันชักชนิดยานอกบางตัวมีคุณสมบัติเฉพาะที่ยาในไม่สามารถผลิตได้เหมือนตามมาตรฐานยานอก หรือแตกต่างจากยานอกไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดอาการชักได้ และทุกครั้งที่มีการชัก ก็ส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย กรณีแบบนี้การใช้ยาในเพื่อแทนยานอก ก็ต้องพิจารณาอย่างดี ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
4. การใช้ยาในแทนยานอกนั้นมีข้อดี คือ ค่าใช้จ่ายที่ลดลงอย่างมาก ตั้งแต่ 2-100 เท่า ดังนั้นจึงเหมาะสมกับประเทศของเรา ซึ่งต้องการยกระดับการเข้าถึงการรักษาให้ทั่วถึง โดยส่วนตัวผมมีความคิดว่า การใช้ยาในนั้นมีความเหมาะสมในโรคส่วนใหญ่ แต่ในบางโรค เช่น โรคลมชัก ต้องมีความระมัดระวังในผู้ป่วยบางส่วน
การคิดใหม่ คิดทบทวนอย่างรอบครอบก็สามารถทำให้การรักษาโรค การเข้าถึงระบบการรักษาที่ดีนั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า