คาโบแซนทินิบ (Cabozantinib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาโบแซนทินิบ(Cabozantinib) เป็นยารักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด เมดัลลารี (Medullary thyroid cancer) และมะเร็งไตชนิดคาร์ซิโนมา (Renal cell carcinoma) มีการวางจำหน่ายยานี้เมื่อปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) เภสัชภัณฑ์ของยาคาโบแซนทินิบ เป็นยารับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้จะถูกทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 55 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาคาโบแซนทินิบออกจากกระแสเลือดโดยทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

โดยทั่วไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาคาโบแซนทินิบวันละ 1 ครั้ง ตอนท้องว่าง และต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง แพทย์จะสั่งหยุดรับประทานยานี้ก็ต่อเมื่อตรวจพบบาดแผลของอวัยวะภายใน หรือเกิดฝีคัณฑสูตรหรือมีภาวะเลือดออกในร่างกาย เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื้อสมองตายด้วยเหตุขาดเลือด เกิดภาวะไตรั่วคือมีโปรตีนปนมากับปัสสาวะ มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง มีการตายของกระดูกขากรรไกร อาการดังกล่าวล้วนมีสาเหตุจากการใช้ยาคาโบแซนทินิบทั้งสิ้น ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยาชนิดนี้/นี้ แพทย์จะขอนัดตรวจร่างกายของผู้ป่วยเป็นระยะๆ เพื่อดูระดับของเม็ดเลือด ตลอดจนกระทั่งดูการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ตับ ไต หัวใจ เป็นต้น

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังและข้อพึงปฏิบัติที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบขณะที่ได้รับยาคาโบแซนทินิบ ดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ต้องแจ้งแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาทราบว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไร และใช้ยา ชนิดใดอยู่บ้าง ทั้งนี้เป็นการป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • ห้ามรับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯ(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ต่างๆจากการฉีดวัคซีน ขณะที่ได้รับยาคาโบแซนทินิบ เพราะการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะไม่เป็นผลสำเร็จ
  • ระหว่างที่ได้รับยาคาโบแซนทินิบ ทั้งบุรุษและสตรี จะต้องระวังมิให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่ต้องมีเพศสัมพันธ์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร กรณีต้องใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องเปลี่ยนให้เลี้ยงบุตรด้วยนมผงดัดแปลงแทนน้ำนม มารดา
  • หากเกิดอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น ท้องเสียวันละ 4–6 ครั้ง คลื่นไส้ทุกครั้งเมื่อรับประทานอาหาร อาเจียนวันละ 4–5 ครั้ง ผิวหนังหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำเข้ม ปวดท้องใต้ชายโครงด้านขวา เกิดผื่นคันตามร่างกาย มีภาวะเลือดออกง่าย ไอแห้งๆหรือไอแบบมีเสมหะบ่อย เกิดแผลในช่องปาก เจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะ
  • มีอาการบางอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนว่า ร่างกายได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาคาโบแซนทินิบอย่างรุนแรง เช่น มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป เกิดภาวะเลือดออกตามร่างกายอย่างผิดปกติ ขับถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด ปวดศีรษะรุนแรง หรือเกิดอาการชาตามร่างกาย เป็นเหน็บชา พูดจาติดขัด เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หายใจลำบาก กรณีนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลทันที

ยาคาโบแซนทินิบจัดว่าเป็นยารักษามะเร็งรุ่นใหม่ การผลิตและจัดจำหน่ายจึงอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทที่พัฒนายาชนิดนี้ขึ้นมา และอาจพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ในวงจำกัดแต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น โดยจัดจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Cabometyx และ Cometriq

คาโบแซนทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คาโบแซนทินิบ

ยาคาโบแซนทินิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary thyroid cancer)
  • ใช้รักษามะเร็งไตชนิดคาร์ซิโนมา (Renal cell carcinoma)

คาโบแซนทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคาโบแซนทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อเรียกว่า Tyrosine kinase เอนไซม์ชนิดนี้มีความสำคัญต่อการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดยตัวยาจะเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ชนิด Tyrosine kinase receptor ส่งผลเกิดการปิดกั้นการทำงานของTyrosine kinase ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัว และเป็นที่มาของสรรพคุณ

คาโบแซนทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

คาโบแซนทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Cabozantinib 20, 40 และ 60 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Cabozantinib 20 และ 80 มิลลิกรัม/แคปซูล

คาโบแซนทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคาโบแซนทินิบมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 140 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง (80 มิลลิกรัม 1 แคปซูล และ20 มิลลิกรัม 3 แคปซูล) ในขณะท้องว่าง

ข. สำหรับมะเร็งไตชนิดคาร์ซิโนนา:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 60 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง (ยาเม็ดขนาด 60 มิลลิกรัม)ในขณะท้องว่าง

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยการใช้ยานี้ในเด็ก
  • ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมงขึ้นไป
  • ห้ามรับประทานยาชนิดเม็ดสลับไปมากับชนิดแคปซูล
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมน้ำผลไม้จำพวก เกรปฟรุต (Grape fruit juice) ด้วยจะทำให้ระดับตัวยาคาโบแซนทินิบในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงไป
  • กลืนยานี้พร้อมน้ำดื่มอย่างเพียงพอ (240 มิลลิลิตรขึ้นไป) ห้ามกัด หัก แบ่ง เม็ดยาหรือเปิดแกะยานี้ออกจากแคปซูล
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ และไม่หยุดรับประทานยานี้เอง

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาโบแซนทินิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาโบแซนทินิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาโบแซนทินิบ น้อยกว่า 12 ชั่วโมง สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป(นานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป) ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

คาโบแซนทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาโบแซนทินิบสามารถกระตุ้นให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆใน ร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก เป็นแผลในช่องปาก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวแห้งหรือบวม แดง สีผมเปลี่ยนไป ฝ่ามือลอก กรณีนี้แพทย์อาจลดขนาดรับประทานลงตามความเหมาะสมเพื่อลดความรุนแรงที่เกิดต่อผิวหนัง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร เกลือโปแตสเซียม และเกลือโซเดียมเลือดต่ำลง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ โดยเฉพาะชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น การกลืนอาหารลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้คาโบแซนทินิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาโบแซนทินิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามรับการฉีดวัคซีนทุกชนิดขณะใช้ยาคาโบแซนทินิบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ป้องกันการตั้งครรภ์ขณะได้รับยานี้โดยสวมถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร/วันระหว่างใช้ยานี้
  • กรณีมีอาการอาเจียน ผู้ป่วยสามารถใช้ยาลดอาการอาเจียนได้โดยต้องให้แพทย์ ผู้ที่ทำการรักษาเป็นผู้สั่งจ่ายยาแก้อาเจียน ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารเป็นปริมาณน้อยๆต่อมื้อ แต่รับประทานอาหารบ่อยขึ้น
  • ขณะได้รับยานี้ ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลเพิ่มผลข้างเคียงรุนแรงของยานี้
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อให้อาการโรคดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • รับประทานอาหารอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ระวังการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด
  • ล้างมือบ่อยๆและหลีกเลี่ยงการขยี้ตา การแคะจมูก ซึ่งเป็นช่องทางทำให้เชื้อโรค เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลตามร่างกาย ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • เลี่ยงการออกแสงแดดจัด ด้วยจะทำให้เกิดอาการทางผิวหนังๆตามมา หากจำเป็นต้องออกในที่โล่งแจ้ง/ออกแดด ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด หรือใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไปทาผิว
  • กรณีฝ่ามือ-ฝ่าเท้าลอก อาจบรรเทาด้วยการทาโลชั่นบำรุงผิวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังบริเวณดังกล่าว
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาโบแซนทินิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คาโบแซนทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาโบแซนทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาโบแซนทินิบร่วมกับยา Aspirin , Ibuprofen, Urokinase, ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาคาโบแซนทินิบร่วมกับ ยาNelfinavir เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากยาคาโบแซนทินิบมากยิ่งขึ้น เช่น เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปวดท้อง และ/หรือเกิดผื่นคันตามมา
  • ห้ามรับประทานยาคาโบแซนทินิบร่วมกับ ยาAmiodarone ด้วยจะทำให้มีอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ยาคาโบแซนทินิบร่วมกับ ยาHydroxyzine เพราะจะทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจจาก Q wave ถึง T wave ยาวนานขึ้นผิดปกติ และเป็นผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

ควรเก็บรักษาคาโบแซนทินิบอย่างไร?

ควรเก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คาโบแซนทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาโบแซนทินิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cabometyx (คาโบเมติกซ์) Exelixis
Cometriq (โคมีทริก)Exelixis

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/cabozantinib.aspx [2018,March10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cabozantinib [2018,March10]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/203756lbl.pdf [2018,March10]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2016/208692s000lbl.pdf [2018,March10]