กาเฟอีน คาเฟอีน (Caffeine) – Update
- โดย อาภาภรณ์ โชติกเสถียร
- 2 มกราคม 2568
- Tweet
สารบัญ
เกริ่นนำ
การทำงานของคาเฟอีน
- ลักษณะและการใช้คาเฟอีน
ทางการแพทย์
การใช้เกินขนาด
คาเฟอีนกับความเจ็บป่วย
ข้อควรระวังในการบริโภค
- อ่อนเพลีย
- เครื่องดื่มชูกำลัง
- ภาวะพิษคาเฟอีน
- ปริมาณที่อันตรายถึงชีวิต
การทำงานร่วมกัน
- แอลกอฮอล์
- การสูบบุหรี่
- ยาคุมกำเนิด
การบำบัดทางยา
เกริ่นนำ
คาเฟอีนจัดเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system: CNS) ในกลุ่มเมทิลแซนทีน และเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่มีผู้บริโภคมากที่สุดทั่วโลก เพื่อใช้กระตุ้นการตื่นตัว เพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย และกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
การทำงานของคาเฟอีน
คาเฟอีนออกฤทธิ์โดยบล็อกการจับของอะดีโนซีนที่ตัวรับ ด้วยโครงสร้างสามมิติที่คล้ายคลึงกับอะดีโนซีน จึงสามารถยับยั้งฤทธิ์ในการกดประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นการหลั่งอะเซทิลโคลีน เพิ่มระดับ ไซคลิก AMP ผ่านการยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส กระตุ้นให้มีการปล่อยแคลเซียมจากเซลล์ และต้านฤทธิ์ของตัวรับกาบา (GABA receptors) อย่างไรก็ตามกลไกเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบริโภคคาเฟอีนในระดับที่เข้มข้นมากพอ ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ได้รับการแนะนำให้บริโภคทั่วไป
- ลักษณะและการใช้คาเฟอีน
คาเฟอีนเป็นผลึกพิวรีนสีขาวมีรสขม พบได้ในเมล็ด ผลไม้ ถั่ว และใบของพืชหลายชนิด มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เอเชียตะวันออก และอเมริกาใต้ รสขมของคาเฟอีนป้องกันการกินเป็นอาหารของสัตว์กินพืชและทำให้คาเฟอีนไม่ถูกพืชชนิดอื่นที่อยู่ใกล้เคียงแย่งการเติบโต และทำให้สัตว์บางชนิดเช่นผึ้งน้ำหวานมากินเพื่อช่วยการแพร่พันธุ์ แหล่งคาเฟอีนที่เรารู้จักกันดีที่สุดคือเมล็ดกาแฟ จากต้นกาแฟ (Coffea) ในการผลิตคาเฟอีนเพื่อการบริโภค เมล็ดกาแฟจะถูกสกัดด้วยกรรมวิธีอินฟูชั่น (Infusion) โดยแช่ทิ้งไว้ในน้ำเพื่อสกัดคุณสมบัติที่มีประโยชน์หรือรสชาติออกมา
ปัจจุบันเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และเครื่องดื่มชูกำลัง ได้รับการบริโภคในปริมาณที่สูงมากขึ้นทุกวัน เพื่อบรรเทาหรือผ่อนคลายความง่วง และกระตุ้นความสามารถในการรับรู้ พบว่าในปี 2020 เมล็ดกาแฟเกือบ10 ล้านตันถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคทั่วโลก
คาเฟอีนยังจัดเป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง แต่ต่างจากสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททั่วไป เพราะคาเฟอีนถูกกฎหมายและไม่มีการควบคุมอย่างจริงจังในเกือบทุกประเทศ การบริโภคคาเฟอีนถูกมาองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในวัฒนธรรมส่วนใหญ่ หรืออาจมีการส่งเสริมให้บริโภคในบางวัฒนธรรมด้วย
คาเฟอีนมีทั้งผลดีและผลเสียต่อสุขภาพ อาทิ มีการนำคาเฟอีนมาใช้เพื่อรักษาและป้องกันปัญหาระบบทางเดินหายใจของทารกที่คลอดก่อนกำหนด จากหลอดลมผิดปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะหยุดหายใจได้ ฤทธิ์ของคาเฟอีนยังมีผลช่วยป้องกันโรคบางชนิดอย่างโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) ได้ด้วย แม้คาเฟอีนอาจก่อให้เกิดปัญหาการนอนไม่หลับหรือวิตกกังวลในผู้บริโภคบางกลุ่ม แต่ในคนส่วนใหญ่จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย หลักฐานแสดงถึงความเสี่ยงในการบริโภคคาเฟอีนของหญิงตั้งครรภ์ยังไม่ชัดเจน บุคลากรทางการแพทย์จึงมักแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์จำกัดจำนวนคาเฟอีนให้อยู่ประมาณสองถ้วยต่อวันหรือน้อยกว่านั้น
คาเฟอีนสามารถก่อให้เกิดการเสพติดแบบอ่อน ๆ ได้ อาการที่เกิดขึ้นเมื่อผู้บริโภคคาเฟอีนเป็นประจำทุกวัน หยุดบริโภคโดยทันที คือ ง่วงนอน ปวดหัว และหงุดหงิด ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป คือความดันเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว และปัสสาวะบ่อย (อาการเหล่านี้จะน้อยลง หรือไม่เกิดขึ้นหากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม)
องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) จัดคาเฟอีนอยู่ในกลุ่มสารที่ไม่เป็นอันตราย ปริมาณที่ก่อให้เกิดพิษได้คือมากกว่า 10 กรัมต่อวันในผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบกับขนาดรับประทานแนะนำทั่วไป (น้อยกว่า 500 มิลลิกรัมต่อวัน) หน่วยความปลอดภัยด้านอาหารของยุโรป (European Food Safety Authority ) รายงานว่า ปริมาณคาเฟอีน 400 มิลลิกรัมต่อวัน (ประมาณ 5.7.มก,/วัน ต่อน้ำหนักตัว) ไม่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ใหญ่ ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ขณะเดียวกันหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรยังสามารถบริโภคคาเฟอีนได้ไม่เกิน 200 มก.ต่อวัน โดยไม่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์หรือเด็กที่ดื่มนมมารดา
เราจะพบว่ากาแฟหนึ่งแก้วมีจำนวนคาเฟอีน 80-175 มก ขึ้นอยู่กับเมล็ดกาแฟที่ใช้ การคั่ว และวิธีการชง (ดริป กรอง หรือเอสเปรสโซ่) ดังนั้นจึงต้องบริโภคกาแฟมากถึงประมาณ 50-100 แก้วจึงจะถึงขั้นเป็นพิษได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นคาเฟอีนผงบริสุทธิ์ ซึ่งหาซื้อได้ในรูปอาหารเสริมแล้ว ปริมาณหนึ่งช้อนโต๊ะก็สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ทางการแพทย์
- มีการนำคาเฟอีนมาใช้ทั้งเพื่อป้องกันและรักษาโรคปอดเรื้อรังในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวของทารกในระหว่างการรักษา และลดความเสี่ยงในการเกิดสมองพิการ ลดความบกพร่องทางพัฒนาการการรับรู้และเข้าใจภาษา แต่กระนั้นการใช้คาเฟอีนก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่ยังไม่แน่ชัดแก่ทารกในระยะยาวได้
- คาเฟอีนเป็นหนึ่งในทางเลือกเบื้องต้นสำหรับรักษาภาวะหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนด แต่ไม่สามาถใช้ในเชิงป้องกันได้
- คาเฟอีนสามารถใช้รักษาความดันเลือดต่ำที่เกิดจากการเปลี่ยนท่าทางกะทันหัน (Orthostatic hypotension)
- มีการใช้เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เช่น กาแฟหรือชา เพื่อรักษาอาการหอบหืด (หลักฐานสนับสนุนยังไม่ชัดเจน) และยังพบว่าการบริโภคคาเฟอีนบริมาณเล็กน้อยช่วยเพิ่มการทำงานของทางเดินหายใจในผู้ป่วยโรคหอบหืด (ด้วยการเพิ่มปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรงในวินาทีที่ 1 (FEV1) จาก 5% เป็น 8% ได้นานถึงสี่ชั่วโมง)
- การเสริมคาเฟอีน (100-130 มก.) ในยาบรรเทาปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล หรือ ไอบูโพรเฟน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดของยาได้มากขึ้น
- การบริโภคคาเฟอีนหลังผ่าตัดช่องท้อง ช่วยลดระยะเวลาในการฟื้นฟูการทำงานของลำไส้ให้กลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วกว่ากำหนด
- คาเฟอีนได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาขั้นที่สอง (Second-line treatment) สำหรับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น (Attention-deficit/hyperactivity disorder: ADHD) แม้จะได้ผลน้อยกว่ายากลุ่มเมทิลเฟนิเดต หรือแอมเฟตตามีน แต่ได้ผลดีกว่ายาหลอก (placebo)ถ้าใช้รักษาผู้ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ จะเลือกใช้คาเฟอีนเป็นทางเลือกในการรักษามากขึ้น
การใช้เกินขนาด
การบริโภคคาเฟอีนเป็นประมาณ 1-1.5 กรัมต่อวัน สามารถก่อให้เกิดภาวะคาเฟอีนมากเกินได้ในร่างกายได้ (Caffeinism) อาการของผู้ป่วยจะประกอบด้วยการเสพติดขาดไม่ได้ ร่วมกับอาการไม่พึงประสงค์หลากหลาย เช่น วิตกกังวล หงุดหงิด กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ปวดหัว และหัวใจเต้นเร็ว หลังจากบริโภคคาเฟอีน
การบริโภคคาเฟอีนเกินขนาด อาจก่อให้เกิดการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางมากเกินไป รู้จักกันในชื่อ ภาวะพิษคาเฟอีน เป็นภาวะชั่วคราวที่เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังจากบริโภคคาเฟอีนช่วงสั้น ๆ กลุ่มอาการนี้มักเกิดขึ้นหลังจากบริโภคคาเฟอีนจำนวนมากเท่านั้น (มากกว่าจำนวนที่พบในเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนและคาเฟอีนเม็ดทั่วไป เช่น มากกว่า 400-500 มก. ต่อครั้ง) ตาม DSM-5 (คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต : Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ฉบับที่ 5) การวินิจฉัยภาวะพิษจากคาเฟอีน ผู้ป่วยจะต้องเกิดอย่างน้อยห้าอาการหลังจากการบริโภคคาเฟอีนดังนี้ กระวนกระวาย ประหม่า ตื่นเต้น นอนไม่หลับ หน้าแดง ปัสสาวะถี่ ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก ความคิดและคำพูดวกวน หัวใจเต้นเร็วหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คึก จิตใจปั่นป่วน
ตามมาตรการจำแนกโรคระหว่างประเทศ (ICD-11) ระบุว่าการบริโภคคาเฟอีนจำนวนมากเกิน (มากกว่า 5 กรัม) อาจก่อให้เกิดอาการภาวะพิษคาเฟอีนด้วยอาการต่าง ๆ รวมถึง ขาดสติ ซึมเศร้า ความสามารถในการตัดสินใจลดลง สับสน ขาดการยับยั้งชั่งใจ เห็นภาพลวงตา หรืออาการทางจิตผิดปกติ และกล้ามเนื้อสลาย
คาเฟอีนกับความเจ็บป่วย
มีความเป็นไปได้ที่คาเฟอีนจะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อม แต่หลักฐานอาจยังไม่มากพอ
การบริโภคคาเฟอีนเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันโรคตับแข็ง ชะลอความรุนแรงในคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคตับ ลดความเสี่ยของภาวะพังผืดในตับ และช่วยป้องกันโรคมะเร็งตับในผู้บริโภคปริมาณที่เหมาะสม จากการศึกษาในปี 2017 พบว่าคาเฟอีนเป็นผลดีต่อตับในผู้บริโภคกาแฟไม่ว่าจะชงด้วยวิธีใดก็ตาม
คาเฟอีนช่วยลดความรุนแงของโรค AMS (Acute mountain sickness) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดินทางขึ้นที่สูง โดยทั่วไปต้องมากกว่า 2500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไปโดยดื่มกาแฟ 2-3 ชั่วโมงก่อนขึ้นที่สูง
ในการวิเคราะห์เชิงอภิมาน (การวิเคราะห์จากหลาย ๆ งานวิจัย) พบว่า การบริโภคคาเฟอีนสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้
การบริโภคคาเฟอีนเป็นประจำอาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสิน และชะลอความรุนแรงของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้วได้ด้วย
คาเฟอีนเพิ่มความดันลูกตาในโรคต้อหิน แต่ไม่มีผลกับผู้ป่วยที่มีสุขภาพตาปกติ
ใน DSM5 ระบุถึงความผิดปกติจากการบริโภคคาเฟอีนที่สามารถเกิดขึ้นได้ ประกอบด้วย โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ และความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคคาเฟอีน สองความผิดปกติแรกได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล และโรคนอนหลับผิดเวลา ส่วนความผิดปกติอื่นที่มีผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในทางการแพทย์แต่ไม่ได้อันตรายจนต้องมีการวินิจฉัยว่าเป็นอาการเจ็บป่วย จะถูกบันทึกอยู่ใน “กลุ่มความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับคาเฟอีนที่ไม่ได้จำแนก”"
ข้อควรระวังในการบริโภคคาเฟอีน
- อ่อนเพลีย (Energy crash)
เป็นที่รู้กันว่า คาเฟอีนสามารถก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียหลังจากบริโภคไปแล้วสองสามชั่วโมงได้ในบางคน แต่การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มากนัก
- เครื่องดื่มชูกำลัง
ในเครื่องดื่มชูกำลังจะมีคาเฟอีนผสมอยู่จำนวนมาก (หนึ่งลิตรมีปริมาณคาเฟอีน 320 มก.) ส่งผลต่อหลอดเลือดหัวในใจระยะสั้น รวมถึง โรคความดันโลหิตสูง การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ ผลข้างเคียงต่อหลอดเลือดหัวใจเหล่านี้ยากจะเกิดขึ้นหากผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มชูกำลังในปริมาณที่เหมาะสม (มีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่า 200 มก.)
- ภาวะพิษคาเฟอีน
จากข้อมูลในปี 2007 ยังไม่มียาแก้พิษหรือ ต้านอาการภาวะพิษคาเฟอีนโดยตรง การรักษาจะเป็นการบรรเทาแบบรักษาตามอาการ ผู้ที่มีภาวะพิษคาเฟอีนรุนแรงจำเป็นต้องใช้วิธีขจัดคาเฟอีนออกจากร่างกาย เช่น การล้างไตทางช่องท้อง การฟอกเลือด หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแบบประสิทธิภาพสูง ส่วนการฉีดไขมันทางเส้นเลือด (Intralipid infusion therapy) จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น
- ปริมาณที่อันตรายถึงชีวิต
จำนวนผู้เสียชีวิตจากการบริโภคคาเฟอีนมีให้พบน้อยมาก และส่วนใหญ่มักเกิดจากการบริโภคเกินขนาดโดยเจตนา ในปี 2016 ศูนย์ควบคุมพิษแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่ามีผู้ป่วยจากการบริโภคคาเฟอีน 3,702 ราย ในจำนวนนั้นมีเพียง 846 รายต้องได้รับการรักษาเฉพาะจากสถานพยาบาล ผู้ป่วย 16 รายมีอาการรุนแรง และหลายรายที่มีอันตรายถึงชีวิต
ปริมาณคาเฟอีนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตอยู่ที่ประมาณ 150-200 มก.ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม (75-100 แก้ว ต่อน้ำหนักตัว 70 กก. ในผู้ใหญ่) อย่างไรก็ตามมีบางกรณีที่พบผู้เสียชีวิตจากการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณน้อยกว่า 57 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม
กรณีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคคาเฟอีนเกินขนาดในรูปของอาหารเสริมแบบผงสกัด ปริมาณที่อันตรายถึงชีวิตอาจน้อยกว่าหนึ่งช้อนโต๊ะ
สำหรับผู้ที่ร่างกายมีความสามารถในการเผาผลาญคาเฟอีนบกพร่องจากพันธุกรรมหรือโรคตับเรื้อรัง ปริมาณคาเฟอีนที่อันตรายถึงชีวิตอาจน้อยกว่าปริมาณแนะนำได้ เช่น ในปี 2013 มีรายงานของชายที่ป่วยด้วยโรคตับแข็ง เสียชีวิตจากการบริโภคอาหารเสริมคาเฟอีนมินท์
การทำงานร่วมกัน
คาเฟอีนมีปฏิกริยาต่อยีนควบคุมเอนไซม์ CYP1A2 หากเอนไซม์นี้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนได้ช้า คาเฟอีนออกฤทธิ์ในร่างกายนานขึ้น ส่งผลให้แม้ดื่มเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอาการตาค้างและนอนไม่หลับได้
- แอลกอฮอล์
จากผลของการสอบ DSST (DANTES Subject Standardized Tests) พบว่า แอลกอฮอล์ ลดประสิทธิภาพในการทำแบบทดสอบมาตราฐานของผู้เข้าสอบ ขณะที่คาเฟอีนทำให้ผลการทดสอบของแต่ละคนดีขึ้น แต่เมื่อบริโภคแอลกอฮอล์และคาฟอีนร่วมกัน ฤทธิ์ของคาเฟอีนจะเปลี่ยนไป ขณะที่ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ยังคงเหมือนเดิม เช่น การบริโถคคาเฟอีนร่วมไม่ได้ลดผลกระทบจากการบริโภคแอลกอฮอล์ แต่ความกระวนกระวายใจและความตื่นตัวที่ได้จากการบริโภคคาเฟอีนจะลดลงเมื่อบริโภคร่วมกับแอลกอฮอล์
การบริโภคแอลกอฮอล์ลดความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมทั้งด้านการยับยั้งและการกระตุ้น คาเฟอีนต่อต้านฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ในด้านการกระตุ้น แต่ไม่มีผลในแง่ของการยับยั้ง ตามคู่มือการบริโภคอาหารของอเมริกา (Dietary Guidelines for Americans) แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์พร้อมกัน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่อันตรายได้
- การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เพิ่มความสามารถของร่างกายในการขับคาเฟอีนได้มากถึง 56% อันเป็นผลมาจากสาร PAHs (สารประกอบโพไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน) จากการเผาไหม้ของบุหรี่ ไปกระตุ้นการทำงานของยีน CYP1A2 ซึ่งมีหน้าที่เผาผลาญคาเฟอีนออกจากร่างกาย จึงทำให้ผู้สูบบุหรี่มีความสามารถในการขจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายได้เร็วขึ้นทำให้สามารถดื่มกาแฟได้มากขึ้นในบุคคลที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดทำให้คาเฟอีนอยู่ในร่างกายได้นานขึ้นเพราะยาคุมกำเนิดจะทำให้คาเฟอีนมีระยะเวลาสลายตัวเหลือครึ่งหนึ่ง (Half life) นานขึ้นถึง 40% จึงควรให้ความใส่ใจระมัดระวังในการบริโภคคาเฟอีนปริมาณมากในคนกินยาคุมกำเนิด
การบำบัดทางยา
คาเฟอีนอาจมีผลกับยาบางชนิดเช่น ในกลุ่มของยาแก้ปวดหัว การเพิ่มส่วนผสมคาเฟอีนลงไปสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของยาแก้ปวดเหล่านั้นได้มากขึ้นถึง 40%
ขณะเดียวกันผลทางเภสัชวิทยาของอะดีโนซีน (ตัวยาสำหรับรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติบางชนิด) อาจลดลงในผู้ที่บริโภคคาเฟอีนเนื่องจากคาเฟอีนมีโครงสร้างของของโมเลกุลคล้ายยาเมทิลแซนทีน (ต่อต้านอะดีโนซีน) เช่น ยาขยายหลอดลม (Theophylline และ Aminophylline) สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease: COPD)
อ่านตรวจทานโดย ศ. คลินิก นพ. พนัส เฉลิมแสนยากร
แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Caffeine [2025, January 2] โดย อาภาภรณ์ โชติกเสถียร