คาเบอร์โกลีน (Cabergoline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- คาเบอร์โกลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- คาเบอร์โกลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาเบอร์โกลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาเบอร์โกลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คาเบอร์โกลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คาเบอร์โกลีนอย่างไร?
- คาเบอร์โกลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคาเบอร์โกลีนอย่างไร?
- คาเบอร์โกลีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โดพามีน อะโกนิสต์ (Dopamine agonist)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- เนื้องอก (Tumor)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
บทนำ
ยาคาเบอร์โกลีน(Cabergoline)เป็นยากลุ่ม Dopamine agonist (D2 agonist) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน/โปรแลกติน(Prolactin)ที่ปกติจะพบมากในสตรีที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง ผู้ที่มีฮอร์โมนโปรแลคตินในกระแสเลือดมากเกินไป(Hyperprolactinemia) ซึ่งอาจมีสาเหตุจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง และส่งผลกระทบต่อสมดุลฮอร์โมนอื่นๆของร่างกาย
เภสัชภัณฑ์ของยาคาเบอร์โกลีนเป็นยาชนิดรับประทาน หลังจากการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาที่เข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 40–42% ตับเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยาคาเบอร์โกลีนอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 63–69 ชั่วโมง เพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแส เลือด/ออกจากร่างกาย ผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะ
อาจจะกล่าวได้ว่ายาคาเบอร์โกลีนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้นานทีเดียว และกลุ่มผู้ป่วย ที่ไม่เหมาะต่อการใช้ยานี้ด้วยมีความสัมพันธ์กับผลข้างเคียงจากยานี้โดยตรง ได้แก่
- ผู้ที่แพ้ยานี้
- ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทซึ่งรวมถึงยาคาเบอร์โกลีนด้วยที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาต่างๆ
- มียาอื่นๆหลายตัวที่ทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) เมื่อใช้ร่วมกับยาคาเบอร์โกลีน เช่น กลุ่มยา Macrolides, Haloperidol, Metoclopramide, Phenothiazine, Thioxanthenes และ Triptans ดังนั้น จึงควรต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาคาเบอร์โกลีนกับผู้ป่วยที่ใช้กลุ่มยาดังกล่าวอยู่ก่อน
ยาคาเบอร์โกลีนมีผลต่อสมดุลและการทำงานของฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเองโดยเด็ดขาด ผู้ป่วยอาจต้องระบุวันรับประทานบนปฏิทินเพื่อป้องกันหลงลืมการรับประทานยานี้ และด้วยเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้นาน จึงมีการใช้ยานี้เพียง 2 ครั้ง/สัปดาห์เท่านั้น และต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องถึง 6 เดือน แพทย์จึงจะพิจารณาความเหมาะสมว่าสมควรหยุดการใช้ยานี้ได้หรือไม่ นอกจากนั้น ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา รวมถึงผู้ที่มีภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยานี้ ยังต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจ เลือดดูการทำงานของตับตามแพทย์สั่ง และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด ประกอบกับมารับการตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
คาเบอร์โกลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาคาเบอร์โกลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาภาวะฮอร์โมนโปรแลคติน(Prolactin)ในเลือดสูง ที่มีสาเหตุจากเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
คาเบอร์โกลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคาเบอร์โกลีนคือ ตัวยาเป็นยาประเภท Dopamine receptor agonist (Dopamine agonist) โดยตัวยาจะจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มี ชื่อเรียกว่า D2 receptors(Dopamine 2 receptor) ส่งผลยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน(Prolactin) และทำให้ระดับฮอร์โมนนี้กลับมาเป็นปกติ
คาเบอร์โกลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาเบอร์โกลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของ Cabergoline 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
คาเบอร์โกลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคาเบอร์โกลีน มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาเริ่มต้นครั้งละ 0.25 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 0.25 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/สัปดาห์ และรับประทานยานี้ พร้อมอาหาร หรือ หลังอาหาร ก็ได้
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัด ถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน แพทย์จึงจะสั่งงดใช้ยา
- หลีกเลี่ยงการหลงลืมใช้ยานี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยานี้มากกว่าคำสั่งแพทย์ ตลอดจนลืมรับประทานยานี้ ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบ/ผลเสียต่ออาการโรคและต่อสุขภาพร่างกายผู้ป่วยทั้งสิ้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาเบอร์โกลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาเบอร์โกลีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคาเบอร์โกลีน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากลืมรับประทานยาข้ามวัน แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้รักษา เพื่อกำหนดระยะเวลาการรับประทานยานี้ที่เหมาะสมต่อไป ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง และการลืมรับประทานยาคาเบอร์โกลีน จะทำให้ประสิทธิผลของการรักษาต่ำลง
คาเบอร์โกลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาเบอร์โกลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย เบื่ออาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง ปากแห้ง ท้องอืด ระคายคอ และปวดฟัน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน ตัวสั่น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ประสาทหลอน รู้สึกสับสน วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มือ-เท้าบวม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจวาย
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ขาเป็นตะคริว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เป็นสิว ผมร่วง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก เยื่อจมูกอักเสบ เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก การหายใจล้มเหลว
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ประจำเดือนขาด อารมณ์ทางเพศถดถอย
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้คาเบอร์โกลีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาเบอร์โกลีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมอาการไม่ได้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้ที่ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สี/กลิ่นเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ห้ามใช้ยานี้เป็นเวลานานกว่าที่แพทย์กำหนด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคตับ โรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคจิต ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ
- กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด อาจทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ความดันโลหิตต่ำ รู้สึกสับสน หากพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หลีกเลี่ยงการลืมรับประทานยานี้
- ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาเบอร์โกลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
คาเบอร์โกลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาเบอร์โกลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาคาเบอร์โกลีนร่วมกับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจนำมาซึ่งภาวะความดันโลหิตต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาเบอร์โกลีนร่วมกับยากลุ่ม Macrolides เช่น Clarithromycin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาคาเบอร์โกลีนสูงขึ้นตามมา
- ห้ามใช้ยาคาเบอร์โกลีนร่วมกับยา Haloperidol , Metoclopramide และ Chlorpromazine เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาคาเบอร์โกลีนลดลง
- ห้ามใช้ยาคาเบอร์โกลีนร่วมกับยา Triptans เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยากลุ่ม Triptans สูงมากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาคาเบอร์โกลีนอย่างไร?
ควรเก็บยาคาเบอร์โกลีน ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
คาเบอร์โกลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาเบอร์โกลีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DOSTINEX (ดอสทิเนกซ์) | Pfizer |
Cabaser (คาบาเซอร์) | Pfizer |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Caberlin, Cabgolin
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020664s011lbl.pdf[2017,May6]
- https://www.drugs.com/dosage/cabergoline.html[2017,May6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cabergoline[2017,May6]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/cabergoline/?type=brief&mtype=generic[2017,May6]
- https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.11198.latest.pdf[2017,May6]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/14562140haah[2017,May6]