คาวาซากิกับโควิด-19 (ตอนที่ 1)

คาวาซากิกับโควิด-19-1

      

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากที่เชื่อกันว่าเด็กเล็ก มีความเสี่ยงจะเป็นอันตรายถึงชีวิตน้อยกว่าผู้สูงอายุ แต่ในช่วงที่ผ่านมามีเด็กเล็ก 3 รายในนิวยอร์กของสหรัฐฯ ติดเชื้อไวรัสโควิด และมีอาการประหลาดป่วยมีไข้สูงหลายวัน มีผื่นที่ผิวหนัง และหัวใจอักเสบ จนเกิดอาการช็อกเสียชีวิต และยังมีเด็ก 73 รายป่วยในลักษณะนี้

ไม่เท่านั้นเด็กๆ ในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ สเปนและอิตาลี ได้ป่วยด้วยอาการประหลาดนี้เช่นกัน จนวงการแพทย์ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโควิดเป็นต้นเหตุหรือไม่ และได้สร้างความกังวลให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กในขณะนี้

เพื่อคลายความกังวลในเรื่องนี้ ทาง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีเด็กในหลายประเทศทางตะวันตก ป่วยจากการอักเสบของอวัยวะทั่วร่างกาย คล้ายกับโรคคาวาซากิ และมีเด็กจำนวนหนึ่งติดเชื้อไวรัสโควิด ร่วมด้วย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีเด็ก 3 คนในเมืองนิวยอร์กเสียชีวิต อยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคว่ามีสาเหตุจากการติดเชื้อโควิด จริงหรือไม่

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ บอกว่า ในภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยและจีน ยังไม่มีหลักฐานว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อโควิดกับกลุ่มอาการคาวาซากิ และเดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยในไทยที่มีอาการภาวะหลอดเลือดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ 2 ราย และรักษาจนสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งโดยสรุปแล้วในภูมิภาคเอเชีย ยังไม่พบผู้ป่วยเด็กที่มีอาการเหล่านี้มากขึ้น

เช่นเดียวกับ นพ.ยง ภู่วรวรรณ เปิดเผยว่า การเกิดโรคปริศนาระบาดในกลุ่มเด็กสหรัฐฯ และอังกฤษ มีหลายอาการทั้งมีไข้ อักเสบ มีผื่น มีความผิดปกติของหัวใจคล้ายโรคหัดญี่ปุ่น หรือโรคคาวาซากิ ผู้เชี่ยวชาญเร่งหาความเชื่อมโยงกับเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งปัญหาแทรกซ้อนของโรคนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบหัวใจโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง จึงจำเป็นที่จะต้องให้ยาต้านการอักเสบ เช่น แอสไพริน และคงจะต้องติดตามรายงานผลผู้ป่วยดังกล่าว

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงขนาดกลางทั่วร่างกาย บางครั้งเรียกว่า “กลุ่มอาการเยื่อเมือกผิวหนังต่อมน้ำเหลือง” (Mucocutaneous lymph node syndrome) เพราะระหว่างที่ติดเชื้อจะทำให้มีการบวมของต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง เยื่อเมือกในปาก จมูก และ คอ

ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการอักเสบโป่งพองของหลอดเลือดโคโรนารี (Coronary arteries) ที่เป็นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งหากผนังหลอดเลือดบางลงและแตกออก จะทำให้เสียชีวิตได้

เป็นโรคที่พบในเด็กญี่ปุ่นเป็นที่แรก ค้นพบโดย นพ.โทมิซาคุ คาวาซากิ กุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น เมื่อปี 2510 ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี แต่ยังไม่แน่ชัดเกิดจากสาเหตุใด มักจะพบในเด็กที่มีอาการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรียหรือปัจจัยแวดล้อมที่ยังไม่ทราบแน่ชัด เช่น สารเคมี สารระคายเคือง เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. ไขปริศนาเด็กเล็กในสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิด ป่วยตาย 3 ศพ คล้ายโรคคาวาซากิ. https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1841651 [2020, May 20].
  2. Kawasaki disease. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/kawasaki-disease/symptoms-causes/syc-20354598 [2020, May 20].
  3. Kawasaki Disease. https://www.webmd.com/children/what-is-kawasaki-disease#1 [2020, May 20].