คาร์วีดิลอล (Carvedilol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาร์วีดิลอล (Carvedilol) เป็นยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) ที่นำมาใช้รักษาอาการหัวใจล้มเหลวรวมถึงภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานที่มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและผ่านเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 25 - 35% จากนั้นตัวยาเกือบทั้งหมดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ตับเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาคาร์วีดิลอลอยู่ตลอดเวลา ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 - 10 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ให้ออกมากับปัสสาวะและอุจจาระ

การออกฤทธิ์ของยาคาร์วีดิลอลจะมีผลทำให้อัตราการเต้นรวมถึงการบีบตัวของหัวใจลดลงซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ยาคาร์วีดิลอลยังออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกและเป็นผลให้ความดันโลหิตลดลง

แพทย์/เภสัชกร/พยาบาลจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาคาร์วีดิลอลหลังอาหารเพื่อชะลอการดูดซึมซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำที่อาจเกิดได้หลังรับประทานยานี้ และแพทย์มักเริ่มการใช้ยานี้ในขนาดต่ำๆก่อนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย (อ่านเพิ่มเติมเรื่องขนาดยา ในหัวข้อ ขนาดการใช้ยา) ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อการตรวจร่างกาย และแพทย์อาจมีการปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น การหยุดใช้ยานี้เองในทันทีหรือการลืมรับประทานยานี้ในแต่ละวันสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบของโรคให้รุนแรงขึ้นได้

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางกลุ่มอาจไม่สามารถใช้ยาคาร์วีดิลอลได้ หากมีประวัติหรืออาการป่วยอื่นๆร่วมด้วยดังนี้

  • เป็นผู้ป่วยโรคหืด
  • มีอาการทางโรคลิ้นหัวใจในระดับต่างๆ (Second - third degree AV block) หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติกลุ่ม Sick sinus syndrome หรือมีอาการหัวใจเต้นช้าในระดับรุนแรง
  • ป่วยด้วยโรคตับขั้นรุนแรงมาก
  • ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาคาร์วีดิลอล

นอกจากนั้นยังมีการเจ็บป่วยอื่นๆที่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้งก่อนที่จะมีการสั่งจ่ายยาคาร์วีดิลอลเช่น มีอาการของโรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการป่วยของโรคไต โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์ เนื้องอกฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่สามารถพบเห็นได้ขณะที่ใช้ยาคาร์วีดิลอลได้แก่ วิงเวียน อ่อนเพลีย ท้องเสีย ตาแห้ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ระหว่างการใช้ยาคาร์วีดิลอลแล้วกลับพบอาการใบหน้าบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เหล่านี้ถือเป็นอาการรุนแรงจากการแพ้ยานี้ ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ยาคาร์วีดิลอลเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยอีกหนึ่งรายการโดยระบุเงื่อนไขการใช้สำหรับบำบัดอาการหัวใจล้มเหลวชนิด Systolic heart failure และอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคไปซื้อหายานี้มารับประทานเองเป็นอันขาด

คาร์วีดิลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คาร์วีดิลอล

ยาคาร์วีดิลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • บำบัดอาการเจ็บหน้าอกด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
  • บำบัดภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานผิดปกติ (Left ventricular dysfunction)

คาร์วีดิลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคาร์วีดิลอลเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและต่อหลอดเลือดดังนี้

ก. ต่อหัวใจ: ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานในบริเวณตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อเรียกว่า Beta adrenergic receptors ที่กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การหดตัวและการเต้นของหัวใจลดลง ถือเป็นกลไกการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

ข. ต่อหลอดเลือด: มีการออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับในผนังหลอดเลือดที่มีชื่อว่า Alpha1-receptors ส่งผลให้หลอดเลือดคลายตัว เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น และเป็นที่มาของการลดความดันโลหิตตามสรรพคุณ

คาร์วีดิลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์วีดิลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 6.25, 12.5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด

คาร์วีดิลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคาร์วีดิลอลมีขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดอาการโรคและความรุนแรงของอาการ ขนาดยานี้จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น

ก. สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 3.125 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2 เท่าทุกๆ 2 สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัว 85 กิโลกรัมขึ้นไปรับประทานยาได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง และผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 85 กิโลกรัมลงมารับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง

ข. สำหรับภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 6.25 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาให้รับประทาน 6.25 - 25 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิ กรัม/วัน

*อนึ่ง

  • เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กยังมิได้ถูกระบุในทางคลินิกด้วยยังไม่ทราบผลข้างเคียงที่แน่ชัด การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • เพื่อการดูดซึมและการออกฤทธิ์ที่ดีควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • รับประทานยานี้ตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์เสมอ ห้ามหยุดรับประทานยานี้เองในทันทีถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการป่วยหายดีแล้ว
  • ตรวจสอบความดันโลหิตระหว่างที่ใช้ยาคาร์ดีวิลอลเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • กรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเช่น ผ่าตัดต้อกระจก ควรต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบและแพทย์อาจต้องเว้นการใช้ยานี้สักระยะหนึ่งด้วยตัวยามีผลต่อรูม่านตาของผู้ป่วย
  • ออกกำลังกายตามความเหมาะสมหรือตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมด้วยเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์ดีวิลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์ดีวิลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาร์ดีวิลอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาคาร์ดีวิลอลตรงเวลา

คาร์วีดิลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาร์วีดิลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ มีภาวะหัวใจเต้นช้า เจ็บหน้าอก บวมตามร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะไมเกรน การรับรู้อุณหภูมิของผิวหนังผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาจพบอาการไอ หอบหืด หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อการทำงานของไต: เช่น ตรวจปัสสาวะพบมีโปรตีนปนในปัสสาวะ (Albuminuria/Proteinuria)
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวในเลือดน้อยกว่าปกติ ภาวะเม็ดเลือดทุกชนิดลดลง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักตัวเพิ่ม คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ผลต่ออารมณ์ความรู้สึก: เช่น ง่วงนอน กระสับกระส่าย ซึมเศร้า
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดตะคริว ปวดข้อ มีอาการโรคเกาต์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น ตาพร่า การมองเห็นภาพผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้คาร์วีดิลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์วีดิลอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองในทันที
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืด โรคตับระยะรุนแรง ผู้ที่มีภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อก/อาการช็อก
  • คอยตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอระหว่างที่ใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ให้หยุดใช้ยานี้ทันทีและรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ออกกำลังกาย รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ พักผ่อน ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ระหว่างการใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์วีดิลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คาร์วีดิลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์วีดิลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาคาร์วีดิลอลร่วมกับยารักษาอาการหอบหืดเช่น Albuterol (ยาขยายหลอดลม) พบว่ายาคาร์วีดิลอลอาจทำให้มีภาวะหลอดลมตีบลงจนส่งผลให้การรักษาของยา Albuterol ด้อยประสิทธิภาพลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาคาร์วีดิลอลร่วมกับยา Epinephrine จะทำให้ร่างกายผู้ป่วยตอบสนองต่อยา Epine phrine น้อยลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาคาร์วีดิลอลร่วมกับยา Verapamil อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆเช่น อ่อนแรง ปวดศีรษะ เป็นลม บวมตามปลายมือและเท้า น้ำหนักตัวเพิ่ม หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หัวใจ เต้นแผ่วและหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามรับประทานยาคาร์วีดิลอลร่วมกับการดื่มสุราด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน เป็นลม และชีพจรเต้นผิดปกติ

ควรเก็บรักษาคาร์วีดิลอลอย่างไร?

อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บยาคาร์วีดิลอลอยู่ในช่วง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือควรเก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

คาร์วีดิลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์วีดิลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Caraten (คาราเทน)Berlin Pharm
Dilatrend (ไดลาเทรน) Roche
Tocarlol 25 (โทคาร์ลอล 25) T. O. Chemicals

อนึ่งยาชื่อการค้าของยาคาร์วีดิลอลในต่างประเทศเช่น Coreg, Coreg CR

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Carvedilol [2016,Feb27]
  2. http://www.drugs.com/pro/carvedilol.html#Section_14.2 [2016,Feb27]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/29#item-8398 [2016,Feb27]
  4. http://www.drugs.com/carvedilol.html [2016,Feb27]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/carvedilol-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Feb27]