คาร์ฟิลโซมิบ (Carfilzomib)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- คาร์ฟิลโซมิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- คาร์ฟิลโซมิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาร์ฟิลโซมิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาร์ฟิลโซมิบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- คาร์ฟิลโซมิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คาร์ฟิลโซมิบอย่างไร?
- คาร์ฟิลโซมิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคาร์ฟิลโซมิบอย่างไร?
- คาร์ฟิลโซมิบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- มัลติเพิลมัยอีโลมา มะเร็งเอ็มเอ็ม (MM: Multiple myeloma)
- ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension)
- กลุ่มอาการมะเร็งถูกทำลาย (Tumor Lysis Syndrome)
บทนำ
ยาคาร์ฟิลโซมิบ(Carfilzomib) เป็นยาต่อต้านโรคมะเร็งที่มีการออกฤทธิ์ในลักษณะที่เรียกว่า Proteasome inhibitor สำหรับ Proteasome เกิดจากกลุ่มสารโปรตีนที่รวมตัวกันเป็นสารประกอบเชิงซ้อน มีหน้าที่คอยทำลายสายของโปรตีน(กรดอะมิโนที่เชื่อมต่อกันจนเกิดเป็นสายยาว/เส้นยาว)ที่ร่างกายไม่สามารถนำไป ใช้งานให้สั้นลง สารโปรตีนที่ผ่านกระบวนการตัดทำลายจาก Proteasome อาจทำได้ถึงระดับเป็นกรดอะมิโนที่จะถูกนำไปสังเคราะห์เป็นสายโปรตีนเส้นใหม่ กระบวนการขยายตัวของเซลล์มะเร็งก็ต้องอาศัย Proteasome มาตัดต่อโปรตีนที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อตัวมันให้สั้นลงเช่นกัน การปิดกั้นหน้าที่ Proteasome ของเซลล์มะเร็ง จะทำให้เกิดสายโปรตีนที่เซลล์มะเร็งไม่สามารถนำไปใช้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ การสะสมสายโปรตีนที่ไม่มีประโยชน์ดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ด้วยกลไกแบบนี้จึงทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตัวลง ลดการเจริญเติบโตจน ไม่สามารถลุกลามได้ในที่สุด
ในปี ค.ศ.2012(พ.ศ.2555) ยาคาร์ฟิลโซมิบได้รับการจดทะเบียนยาและมีวัตถุประสงค์การใช้ทางคลินิกเพื่อบำบัดรักษาโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma) ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาคาร์ฟิลโซมิบเป็นแบบยาฉีด ซึ่งต้องฉีดให้ผู้ป่วยเป็นรอบ(Course)ไป ในแต่ละรอบของการรักษาผู้ป่วยจะต้องได้รับยา 2 วันติดต่อกัน จากนั้นเว้นระยะเวลาการให้ยาไปอีก 5 วัน โดยให้ยาในลักษณะนี้เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นหยุดการใช้ยานี้ตั้งแต่วันที่ 17 เป็นต้นไป สำหรับขนาดยานี้ที่ต้องใช้กับผู้ป่วยแพทย์จะคำนวณโดยใช้พื้นที่ผิวหนังของร่างกายมาเป็นเกณฑ์อ้างอิง
ในทางคลินิก ยังไม่มีการระบุข้อห้ามใช้ของยาคาร์ฟิลโซมิบอย่างชัดเจนแต่ก็มีข้อควรระวังและคำเตือนที่ต้องใส่ใจรับฟัง เพื่อใช้เป็นประโยชน์ของตัวผู้ป่วยเอง กล่าวคือ
1. ยาคาร์ฟิลโซมิบอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งผลให้หัวใจหยุดเต้น และเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้เสียชีวิตในที่สุดได้ ดังนั้นขณะที่ ฉีดยาคาร์ฟิลโซมิบให้กับผู้ป่วย แพทย์/บุคคลากรทางการแพทย์จะทำการตรวจสอบสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วย เช่น อัตราการเต้นหัวใจตลอดจนกระทั่ง ความดันโลหิต หากพบอาการผิดปกติแพทย์/บุคคลากรทางการแพทย์จะหยุดการให้ยาคาร์ฟิลโซมิบ และรีบให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทันที
2. ประมาณ 2% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาคาร์ฟิลโซมิบ อาจมีอาการความดันหลอดเลือดปอดสูงขึ้น หากตรวจพบกรณีดังกล่าวแพทย์จะหยุดการให้ยาแล้วทำการลดความดันของหลอดเลือดในปอดให้กลับมาเป็นปกติเสียก่อน กรณีนี้แพทย์จะต้องพิจารณาถึงผลดี-ผลเสียว่าสมควรให้ยาคาร์ฟิลโซมิบกับผู้ป่วยต่อไปหรือไม่
3. เกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ในปอด กล่าวคือประมาณ 35% ของผู้ที่ได้รับยานี้ จะมีอาการหายใจลำบาก/หายใจขัด เมื่อพบเห็นอาการหายใจขัดเกิดขึ้นต้องรีบให้แพทย์/บุคคลากรทางแพทย์เข้าช่วยเหลือโดยเร็ว
4. ระหว่างหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยอาจมีอาการ เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ใบหน้าบวมแดง อาเจียน อ่อนแรง หายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ แน่นหน้าอก และมีภาวะหัวใจขาดเลือด กรณีนี้แพทย์จะให้ยาDexamethasone กับผู้ป่วยก่อนที่จะได้รับยาคาร์ฟิลโซมิบต่อไป
5. การให้ยาคาร์ฟิลโซมิบสามารถกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการมะเร็งถูกทำลาย (Tumor lysis syndrome) ส่งผลให้อิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ต่างๆเพิ่มในกระแสเลือดอย่างผิดปกติ การให้สารละลาย 0.9% Sodium chloride ทางเส้นเลือดดำ(หลอดเลือดดำ)เป็นการเพิ่มปริมาตรของเลือดซึ่งจะช่วยบรรเทาและป้องกันภาวะอาการมะเร็งถูกทำลายได้ดีในระดับหนึ่ง
6. ในวันที่ 8 ของการให้ยานี้ในแต่ละรอบ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเกล็ดเลือดต่ำ การตรวจประเมินจำนวนเกล็ดเลือดจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่แพทย์ต้องนำมา ประเมินผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อร่างกายผู้ป่วยเช่นกัน
7. สามารถตรวจพบภาวะตับเป็นพิษ/ตับอักเสบเกิดขึ้นหลังจากได้รับยานี้/ยาชนิดนี้ ทั้งนี้แพทย์จะใช้การตรวจเลือดดูระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดมาเป็นเครื่องมือบ่งบอกการทำงานของตับ กรณีตรวจพบความผิดปกติของระดับเอนไซม์ดังกล่าว แพทย์จะหยุดการใช้ยาคาร์ฟิลโซมิบ และรอให้ตับกลับมาทำงานเป็นปกติเสียก่อนจึงเริ่มทำการให้ยานี้ใหม่
ทั้ง 7 กรณีที่กล่าวมา หากแพทย์จำเป็นต้องใช้ยาคาร์ฟิลโซมิบอย่างต่อเนื่องแต่ต้องป้องกันระวังมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยควบคู่กันไป แพทย์มักจะใช้วิธีลดขนาดยาคาร์ฟิลโซมิบลงมา
ยาคาร์ฟิลโซมิบเป็นยาที่มีการใช้และจัดจำหน่ายในประเทศไทยเช่นกัน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยาคาร์ฟิลโซมิบเป็นยาควบคุมพิเศษ สามารถพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยใช้ชื่อการค้าว่า “Kyprolis”
คาร์ฟิลโซมิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาคาร์ฟิลโซมิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษามะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา(Multiple myeloma)
คาร์ฟิลโซมิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคาร์ฟิลโซมิบคือ เป็นตัวยาประเภท Proteasome inhibitor โดยตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของ Proteasome ซึ่งมีหน้าที่ตัดทำลายสายโปรตีนเพื่อให้ได้โปรตีนที่มีขนาดเล็กและเหมาะต่อเซลล์มะเร็งจะนำไปใช้ประโยชน์ การปิดกั้นหน้าที่ของProteasomeของเซลล์มะเร็ง จะทำให้เกิดสายโปรตีนที่เซลล์มะเร็งไม่สามารถนำไปใช้ได้มากขึ้นเรื่อยๆจนก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ด้วยกลไกปิดกั้นการทำงานของ Proteasome นี่เองจึงทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการแพร่กระจายและฝ่อตัวสลายตายไปในที่สุด
คาร์ฟิลโซมิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์ฟิลโซมิบ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของตัวยา Carfilzomab ขนาด 60 มิลลิกรัม/ขวด(Vial)
คาร์ฟิลโซมิบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาคาร์ฟิลโซมิบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับรักษา Multiple myeloma ดังนี้ เช่น
- รอบการรักษาที่ 1: ผู้ใหญ่; วันที่ 1และ2, ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 20 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร, วันที่ 3ถึง7 หยุดการให้ยา, วันที่ 8และ9 ให้ยาทางหลอดเลือดฯ 20 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง1 ตารางเมตร วันที่ 10ถึง14 หยุดการให้ยา, วันที่ 15และ16 ให้ยาทางหลอดเลือดฯ 20 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง1 ตารางเมตร, วันที่ 17ถึง28 หยุดการให้ยา
- รอบการรักษาที่ 2: ผู้ใหญ่; วันที่ 1และ2 ให้ยาทางหลอดเลือดฯ 27 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง1 ตารางเมตร, วันที่ 3ถึง7 หยุดการให้ยา, วันที่ 8และ9 ให้ยาทางหลอดเลือดฯ 27 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง1 ตารางเมตร, วันที่ 10ถึง14 หยุดการให้ยา, วันที่ 15และ16 ให้ยาทางหลอดเลือดฯ 27 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง1 ตารางเมตร, วันที่ 17 ถึง 28 หยุดการให้ยา
อนึ่ง:
- การรักษาโดยใช้ยานี้ในรอบที่ 2 นั้น แพทย์จะพิจารณาจากผลการใช้ยานี้ใน รอบแรก โดยดูการตอบสนองทางร่างกายของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
- ระยะห่างระหว่างการให้ยารอบที่ 1 และ 2 นั้น ให้เป็นไปตามที่แพทย์เห็นสมควรนัดหมาย
- เด็ก: ยังไม่มีรายงานถึงขนาดยาและความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์ฟิลโซมิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์ฟิลโซมิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมมารับการฉีดยาคาร์ฟิลโซมิบ ผู้ป่วยควรทำการนัดหมายแพทย์/บุคคลากรทางแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับยาคาร์ฟิลโซมิบโดยร็ว และไม่ควรหยุดการใช้ยานี้ไปโดยไม่ปรึกษาแพทย์
คาร์ฟิลโซมิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์ฟิลโซมิบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนได้ ง่าย หายใจขัด ไอ ปอดบวม
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล/Neutrophilต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น บวมปลายมือปลายเท้า ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ และแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้คาร์ฟิลโซมิบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์ฟิลโซมิบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาคาร์ฟิลโซมิบโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาร์ฟิลโซมิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทควาเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
คาร์ฟิลโซมิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์ฟิลโซมิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาคาร์ฟิลโซมิบร่วมกับวัคซีนไข้ทรพิษ ด้วยจะทำให้เกิดความเสี่ยงของการติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาร์ฟิลโซมิบร่วมกับยา Estradiol , Nandrolone, เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดตามมา
- ห้ามใช้ยาคาร์ฟิลโซมิบร่วมกับ ยาZafirlukast เพราะจะทำให้เส้นประสาทของผู้ป่วยเกิดความเสียหายได้
ควรเก็บรักษาคาร์ฟิลโซมิบอย่างไร?
ควรเก็บยาคาร์ฟิลโซมิบภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
คาร์ฟิลโซมิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์ฟิลโซมิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
KYPROLIS (ไคโพรลิส) | Onyx Pharmaceuticals, Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carfilzomib [2018, Jan27]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/202714lbl.pdf [2018, Jan27]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/kyprolis/?type=brief [2018, Jan27]
- https://www.drugs.com/ppa/carfilzomib.html [2018, Jan27]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/carfilzomib-index.html?filter=3&generic_only= [2018, Jan27]