คาร์บิมาโซล (Carbimazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาร์บิมาโซล(Carbimazole) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ แต่ตัวยาคาร์บิมาโซลไม่ใช่สารที่ออกฤทธิ์โดยตรง(Pro-drug) ซึ่งหลังจากถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาจะถูกเปลี่ยนเป็นสารที่ออกฤทธิ์ที่มีชื่อว่า เมไทมาโซล (Methimazole) ซึ่งมีกลไกยับยั้งการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมน 2 ตัว คือ Triiodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ต่อมไทรอยด์:โรคของต่อมไทรอยด์ และเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ)

โดยทั่วไป การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยยานี้ต้องเริ่มใช้ยาในขนาดสูง คือประมาณ 15 – 40 มิลลิกรัม/วันอย่างต่อเนื่อง เมื่อการตอบสนองของการรักษาดีขึ้นแพทย์จะค่อยๆลดขนาดรับประทานลงมาเป็นประมาณ 5 – 15 มิลลิกรัม/วัน โดยใช้เวลาประมาณ 12 – 18 เดือนก่อนที่จะเริ่มหยุดการใช้ยานี้ ยาคาร์บิมาโซลนี้จะถูกใช้เป็นทางเลือกแรกๆในการรักษาโรค/ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษก่อนที่จะใช้วิธีผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก

ทั้งนี้ มีข้อจำกัดบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะได้รับยาคาร์บิมาโซล เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้คาร์บิมาโซลกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้ หรือแพ้ยา Thiamazole, Methimazole หรือ Propylthiouracil
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อต้องการใช้ยาคาร์บิมาโซลในกลุ่มผู้ป่วยต่อไปนี้ เช่น ผู้ที่มีอาการคอพอกชนิดที่ลามลงไปในช่องอก(Intrathoracic goiter) สตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงาน(เช่น ได้รับยาเคมีบำบัด) ผู้ที่ได้รับการรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยการใช้น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radio-iodine) (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาไทรอยด์)
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคาร์บิมาโซลกับยาอื่นๆบางกลุ่ม ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) อย่างเช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาTheophylline ยาสเตียรอยด์(Steroids) ยาErythoromycin ยาDigitalis ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta-blockers)

ทั่วไป หลังจากที่ได้รับยาคาร์บิมาโซลรักษา ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษจะดีขึ้นภายในประมาณ 1 – 3 สัปดาห์หลังได้รับยานี้ และเมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 4 – 8 ร่างกายผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกดีเป็นปกติ โดยการใช้ยาคาร์บิมาโซล อาจต้องรับประทาน 1 – 3 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ประการสำคัญ ผู้ป่วยต้องไม่ปรับขนาดรับประทานยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

กรณีการลืมรับประทานยาคาร์บิมาโซล แพทย์/เภสัชกรจะแนะนำให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้รับประทานยาพร้อมกันทั้ง 2 มื้อได้เลย

ในทางตรงกันข้าม หากรับประทานยาคาร์บิมาโซลเกินขนาด แนะนำให้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ซึ่งหากมีความผิดปกติจะได้รักษาได้ทันเวลา อาการเช่น มีไข้ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยอย่างผิดปกติ เป็นต้น

การใช้ยาคาร์บิมาโซลมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามระยะเวลาที่แพทย์นัดหมาย นอกจากเพื่อการติดตามประสิทธิผลของการรักษาแล้ว ผู้ป่วยยังต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมน ระดับน้ำตาลในเลือด การทำงานของตับ ของกล้ามเนื้อ และการทำงานของเส้นประสาท

หากมองในภาพรวม จะเห็นได้ว่ายาคาร์บิมาโซลเป็นยาที่มีความจำเพาะเจาะจงเฉพาะโรค การใช้ยานี้กับผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล อาจมีความแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา การใช้ยานี้ผิดวิธี นอกจากจะไม่ทำให้อาการป่วยดีขึ้นแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้อย่างมากมายตามมา(อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ หัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์ฯ)

คาร์บิมาโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คาร์บิมาโซล

ยาคาร์บิมาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาโรค/ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)

คาร์บิมาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

คาร์บิมาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็นยาเมไทมาโซล (Methimazole)ซึ่งเป็นสาร/ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนโดยไปรบกวนกระบวนการทางเคมีในต่อมไทรอยด์ไม่ให้ธาตุไอโอดีน(Iodine,ธาตุที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์)ไปรวมตัวกับสารไทโรซีน (Tyrosine, กรดอะมิโนที่ร่างกายนำไปสร้างเป็นสารสื่อประสาท และไทรอยด์ฮอร์โมน) ด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้ชะลอการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัว(T-3, T-4)ลง จึงช่วยบำบัดโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษได้ตามสรรพคุณ

คาร์บิมาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์บิมาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5,10, และ20 มิลลิกรัม/เม็ด

คาร์บิมาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคาร์บิมาโซลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 20 – 60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 – 3 ครั้งตามแพทย์สั่ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ประมาณ 5 – 15 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาของการใช้ยาอยู่ที่ประมาณ 6 – 18 เดือนหรือตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในบางครั้งแพทย์อาจให้ยาไทรอยด์ฮอร์โมน อย่างเช่น Levothyroxine 50 – 150 ไมโครกรัม/วันร่วมด้วยเพื่อป้องกันภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจากการใช้ยาคาร์บิมาโซล
  • เด็กอายุ 3 – 17 ปี: รับประทานวันละ 15 มิลลิกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้ และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือพร้อม อาหารก็ได้
  • ระหว่างรับประทานยานี้ ระวังการเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยจึงควรต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้ หรือปรับขนาดรับประทานโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์บิมาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคเลือด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะคาร์บิมาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาร์บิมาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้เพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า(คือ มื้อที่ลืม และมื้อปกติ)

คาร์บิมาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาร์บิมาโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารเล็กน้อย การรับรสชาติอาหารเปลี่ยน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีไข้
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน/ ตับอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดการทำงานของไขกระดูก เกิดภาวะNeutropenia(ภาวะเม็ดเลือดขาวในเลือดชนิด Neutrophilต่ำ) Eosinophilia (ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophilในเลือดสูง) Leucopenia(ภาวะเม็ดเลือดขาวในเลือดทุกชนิดในเลือดต่ำ) Thrombocytopenia(ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ) ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก

มีข้อควรระวังการใช้คาร์บิมาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บิมาโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง การลดหรือเพิ่มขนาดรับประทานตลอดจนถึงขั้นหยุดการใช้ยานี้ ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น เกิดผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ยานี้ อาจทำให้รู้สึก สับสน ความจำแย่ลง ควรมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการดังกล่าว เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์บิมาโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) ควรปรึกษา เภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คาร์บิมาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์บิมาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาคาร์บิมาโซลร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้ระดับยา Theophylline ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงสูงขึ้นตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาคาร์บิมาโซลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้มีภาวะเลือดออกได้ง่ายขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาคาร์บิมาโซลอย่างไร

ควรเก็บยาคาร์บิมาโซล ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

คาร์บิมาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์บิมาโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anti-Thyrox (แอนไท-ไทรอกซ์)/td>Macleods Pharmaceuticals
Neo-Mercazole (นีโอ-เมอร์คาโซล)Nicholas Piramal India Ltd.
Thyrocab (ไทโรแค็บ)Abbott India Ltd
Thyroma (ไทโรมา)Pharma Synth Formulations Ltd.
Thyrosim (ไทโรซิม)Ankyl Earth Pharmaceuticals

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Vidalta, Thyrozole

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/uk/carbimazole-5mg-tablets-leaflet.html [2016,Nov19]
  2. http://www.medindia.net/drug-price/carbimazole/thyrocab-10-mg.htm [2016,Nov19]
  3. https://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/792800.pdf [2016,Nov19]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbimazole [2016,Nov19]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/carbimazole/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov19]