คาร์บาเมต (Carbamate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาร์บาเมต(Carbamate) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นอนุพันธ์ของกรดคาร์บามิก (Carbamic acid,สารเคมีชนิดหนึ่ง) ประโยชน์จาก สารคาร์บาเมตมีหลายประการและถูกนำไปใช้ในลักษณะต่างๆ เช่น

  • เป็นยาฆ่าแมลง (Carbamate insecticides)
  • ใช้ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (Preservatives and cosmetics)
  • ใช้เป็นยารักษาโรค (Medicine)

ในบทความนี้จะกล่าวถึงประโยชน์ของการนำสารคาร์บาเมตมาใช้เป็นยาเท่านั้น อาจจำแนกยาคาร์บาเมต ออกเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

1. Ethyl carbamate: มีการนำไปใช้ในประเทศญี่ปุ่นโดยนำไปเป็นตัวทำละลาย กับยาแก้ปวดที่ฉีดให้ผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัด และในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 Ethyl carbamate ถูกนำไปใช้รักษามะเร็งชนิดที่เรียกว่า Multiple myeloma แต่กลับ พบว่า Ethyl carbamate ก่อให้เกิดพิษกับตัวผู้ป่วยและสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งอื่นๆ ได้เช่นกัน จึงถูกเพิกถอนการใช้กับมนุษย์ ปัจจุบันสารชนิดนี้ถูกนำกลับมาใช้เป็นยาสลบ หรือยาชากับสัตว์ทดลองแทน

2. Acethylcholinesterase inhibitor/Anti-cholinesterase: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านเอนไซม์ในร่างกายที่มีชื่อว่า Acetylcholinesterase(เอนไซม์ที่ช่วยการทำงานของสาร Acetylcholine) ประโยชน์ทางคลินิกที่ปรากฏในปัจจุบัน ได้แก่

  • ใช้บำบัดอาการโรคต้อหิน (Glaucoma) และช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ อย่างเช่นยา Physostigmine
  • บำบัดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) อย่างเช่นยา Neostigmine, Pyridostigmine, Ambenonium
  • บำบัดอาการความจำเสื่อมของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อย่างเช่นยา Rivastigmine
  • นำมาใช้รักษาอาการต้อหินในสัตว์ เช่นยา Demecarium

3. Meprobamate: เป็นยาคาร์บาเมตอีกประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการ วิตกกังวล (Anxiolytic) และอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) โดยมีระยะเวลาของการ ใช้ยาเพียงสั้นๆ ปัจจุบัน ยา Meprobamate จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับ Benzodiazepines และยังพบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Reinbamate

4. Carisoprodol: เป็นยาที่มีโครงสร้างและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคล้ายกับยา Meprobamate ถูกนำมาเป็นยาทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว/ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxant) สามารถพบเห็นการใช้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Caritasone

5. Febamate: ถูกนำมาใช้รักษาอาการชัก/ยากันชัก(Anticonvulsant) สามารถใช้รักษาได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ยาFebamate อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง (Aplastic anemia) และทำให้ตับวาย ไม่พบเห็นการจัดจำหน่ายในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศ มียานี้จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Felbatol

6. Mebutamate: ใช้บรรเทาอาการวิตกกังวลและสงบประสาท/ยาคลายเครียด มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย ยังไม่พบเห็นยานี้จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใด อาจเป็นช่วงของการศึกษาฤทธิ์ของการรักษาในระยะยาว รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆจนกว่าจะมีข้อสรุปออกมาจึงค่อยทำการตลาด

7. Tybamate: มีคุณสมบัติบำบัดอาการวิตกกังวล ยานี้จะต้องถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็น Meprobamate เสียก่อนจึงจะเริ่มออกฤทธิ์ (Produg) ยังไม่พบเห็นการ จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใดๆ

อาจกล่าวได้ว่า ยาคาร์บาเมตเป็นกลุ่มยาที่ยังมีการใช้ในปัจจุบัน ด้วยมีประโยชน์ทางคลินิก แต่ก็มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยอาจไม่ทราบรายละเอียด เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้บริโภคเอง การใช้ยากลุ่มคาร์บาเมตควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

คาร์บาเมตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คาร์บาเมต

ยาคาร์บาเมตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) อย่างเช่นยา Neostigmine, Ambenonium, Pyridostigmine
  • บำบัดรักษาโรคต้อหิน อย่างเช่นยา Physostigmine
  • รักษาอาการวิตกกังวล อย่างเช่นยา Meprobamate
  • ช่วยคลายกล้ามเนื้อ อย่างเช่นยา Carisoprodol
  • รักษาอาการชัก อย่างเช่นยา Febamate
  • รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เช่นยา Rivastigmine

คาร์บาเมตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัวในกลุ่มยาคาร์บาเมต มีทั้งความคล้ายคลึงและแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของตัวยา และมีความสัมพันธ์กับอวัยวะที่ยาออกฤทธิ์ เช่น สมอง ตา กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งในภาพรวม กลุ่มยาคาร์บาเมต มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในอวัยวะต่างๆที่ตัวยาออกฤทธ์ โดยทำให้สารสื่อประสาทนั้นๆกลับมามีปริมาณเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติและส่งผลให้มีฤทธิ์ของการรักษาเกิดขึ้น

คาร์บาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์บาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

คาร์บาเมตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มยาคาร์บาเมต มีหลากหลายรายการ ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย เช่น อาการโรค ความรุนแรงโรค ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาอื่นๆ แล้วจึงนำมาประกอบการเลือกใช้ยานี้ให้ตรงตามอาการ เกิดความเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุดกับผู้ป่วย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์บาเมต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น เยื่อตาอักเสบ ระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บาเมต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีใช้ยาคาร์บาเมตที่เป็นยาชนิดรับประทาน เช่นยา Pyridostigmine, Rivastigmine, หากลืมรับประทานยาเหล่านี้ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

คาร์บาเมตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มคาร์บาเมตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการ-ข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ : เช่น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ : เช่นหลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร : เช่น กระเพาะอาหาร-ลำไส้มีการเคลื่อนไหวมากผิดปกติ ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปากแห้ง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อมีการหดตัวเป็นเวลานาน/เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ชัก
  • ผลต่อตา: เช่น ความดันในลูกตาต่ำ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย การครองสติไม่เป็นปกติ
  • ผลต่อตับ: ตัวเหลือง/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้คาร์บาเมตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บาเมต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาต่างๆกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดย ไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคลำไส้อุดตัน หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด อวัยวะในช่องทางเดินอาหาร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มคาร์บาเมตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ฌสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คาร์บาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์บาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่ม Acetylcholinesterase inhibitor/AChEI ร่วมกับยาแก้ปวด กลุ่ม NSAIDs จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระตุ้นให้กรดหลั่งออกมามากจากกระเพาะอาหารจนอาจก่อให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Physostigmine ร่วมกับยากลุ่ม Beta blockers สามารถก่อให้เกิดภาวะ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Neostigmine ร่วมกับยา Tramadol, Bupropion, อาจทำให้มีความเสี่ยงของภาวะลมชักเกิดขึ้นได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยา Carisoprodol ร่วมกับการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะเสริมฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง จนทำให้เกิดอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษาคาร์บาเมตอย่างไร?

ควรเก็บยาคาร์บาเมต ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คาร์บาเมตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์บาเมต ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Neostigmine GPO (นีโอสติกมีน จีพีโอ)GPO 
Neostigmine Chi Sheng (นีโอสติกมีน ไชเชง)Chi Sheng
Prostigmin (โพรสติกมิน)A.Menarini 
Mestinon (เมสทินอน)A.Menarini 
Pyrimine 60 (ไพริมีน 60)Sriprasit Pharma
Exelon Patch (เอ็กเซลอน แพช)Novartis
Exelon (เอ็กเซลอน)Novartis
Rivasta (ไรเวสตา)Siam Bheasach
Reinbamate (รีนบาเมต)Chew Brothers
Caritasone (คาริทาโซน)Pharma Square

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbamate#Medicine [2016,Dec17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ethyl_carbamate#Uses [2016,Dec17]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcholinesterase_inhibitor [2016,Dec17]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/meprobamate/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec17]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Felbamate [2016,Dec17]