คาริโซโพรดอล (Carisoprodol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาริโซโพรดอล (Carisoprodol) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ และยาบรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวด ซึ่งอยู่ในกลุ่มยาคาร์บาเมต(Carbamate) ยาคาริโซโพรดอลไม่ใช่ตัวยาที่สามารถออกฤทธิ์ได้ทันทีหรือที่เราเรียกกันว่าเป็น “โปรดัก(Prodrug)”นั่นเอง โดยร่างกายจะต้องเปลี่ยนตัวยาคาริโซโพรดอลไปเป็นสารออกฤทธิ์ที่มีชื่อว่า “Meprobamate” เสียก่อน จึงจะเกิดฤทธิ์ทางการรักษาได้ตามสรรพคุณ ยาชนิดนี้ยังมีคุณสมบติทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เคลิบเคลิ้ม ง่วงนอน และช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียดอีกด้วย

ยา คาริโซโพรดอลมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน หลังถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะมีความเข้มข้นสูงสุดในกระแสเลือดภายในเวลาประมาณ 1.5–2 ชั่วโมงหลังรับประทาน ตัวยานี้สามารถผ่านเข้ารก และผ่านน้ำนมของมารดา โดยตับจะคอยทำลายและเปลี่ยนโครงสร้างของยาคาริโซโพรดอลไปเป็นยา Meprobamate อย่างต่อเนื่องก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีข้อจำกัดการใช้ยาคาริโซโพรดอลบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาคาริโซโพรดอล
  • ห้ามใช้ยาคาริโซโพรดอลกับผู้ป่วยโรค Porphyria
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และกับเด็ก
  • การใช้ยาคาริโซโพรดอลกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประเภท อาทิ โรคตับ โรคไต โรคทางระบบประสาท/โรคสมอง อย่างเช่น โรคลมชัก อาจทำให้อาการของโรคประจำตัวเหล่านี้กำเริบ และรุนแรงขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งว่า ตนเองมีโรคประจำตัวใดบ้าง
  • กรณีที่มีอาการวิงเวียนศีรษะเมื่อใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิดรวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆด้วยจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ ด้วยจะทำให้มีอาการง่วงนอน และวิงเวียนศีรษะมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ทันที แพทย์จะเป็นผู้คอยปรับลดขนาดการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสม
  • หากหลังใช้ยานี้แล้วพบอาการ ลมชัก ประสาทหลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียง(อาการข้างเคียง)จากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • อาการข้างเคียงที่พบเห็นบ่อยจากการใช้ยานี้ ได้แก่ ง่วงนอน วิงเวียน/ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • *กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด อาจสังเกตได้จากอาการ ตาพร่า รู้สึกสับสน ประสาทหลอน หายใจแผ่ว/หายใจเบา กล้ามเนื้อต่างๆทำงานไม่ประสานกัน เป็นลม เกิดภาวะโคม่า หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • มียาหลายประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงใช้ร่วมกับยาคาริโซโพรดอล เช่น Fluoxetine, Rifampin, Ketoconazole, Voriconazole, Diazepam, Alprazolam, Lorazepam, Carbamazepine, Oxcarbazepine , Esomeprazole, Omeprazole

สำหรับระยะเวลาของการใช้ยาคาริโซโพรดอล อยู่ในช่วง 2–3 สัปดาห์ การรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง จะทำให้อาการปวดเกร็ง/ปวดบีบของกล้ามเนื้อทุเลาได้อย่างรวดเร็ว ผู้ที่หยุดใช้ยานี้ทันที อาจได้รับอาการถอนยาตามมา

ในต่างประเทศเราจะพบเห็นสูตรตำรับยาคาริโซโพรดอลมีทั้งยาเดี่ยว และสูตรตำรับแบบผสมร่วมกับยา Aspirin หรือ Paracetamol โดยจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Soma”

กรณีผู้ป่วยที่มีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาคาริโซโพรดอล สามารถสอบ ถามข้อมูลได้จากแพทย์ผู้รักษาและเภสัชกรโดยทั่วไป

คาริโซโพรดอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คาริโซโพรดอล

ยาคาริโซโพรดอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ

คาริโซโพรดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคาริโซโพรดอลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ เมื่อตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะใช้ Enzyme CYP2C19 (Cytochrome P450 2C19) เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของยาคาริโซโพรดอลไปเป็นยา Meprobamate ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กดสมอง/กดการทำงานของสมองโดยปิดกั้นการส่งสัญญาณความรู้สึกจาก สมอง ไขสันหลัง ส่งผลทำให้ลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ตามสรรพคุณ

คาริโซโพรดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาริโซโพรดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดรับประทานที่ประกอบด้วย Carisoprodol ขนาด 250 และ 350 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดรับประทานที่ประกอบด้วย Carisoprodol 175 มิลลิกรัม + Paracetamol 350 มิลลิกรัม/เม็ด

คาริโซโพรดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคาริโซโพรดอล มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250-350 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหาร และก่อนนอน เป็นเวลา 2–3 สัปดาห์
  • ผู้สูงอายุ: ลดขนาดรับประทานลงมา 50% จากขนาดรับประทานของผู้ใหญ่
  • เด็ก: ในทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาริโซโพรดอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคลมชัก รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาริโซโพรดอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาริโซโพรดอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่าให้รับประทานที่ขนาดปกติ

คาริโซโพรดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาริโซโพรดอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/-อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ เดินเซ ตัวสั่น เกิดอาการชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(Leukopenia) และ/หรือ ภาวะเม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ(Pancytopenia)

มีข้อควรระวังการใช้คาริโซโพรดอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาริโซโพรดอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นม และ กับเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหัน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาริโซโพรดอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คาริโซโพรดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาริโซโพรดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาริโซโพรดอลร่วมกับยา Codeine , Hydrocodone, Tramadol, ด้วยจะทำให้กดประสาทส่วนกลาง/กดสมองมากขึ้น จนเป็นเหตุให้มีการกดการหายใจจนเกิดอาการหายใจขัดข้อง/หายใจผิดปกติ/หายใจเบา/หายใจแผ่ว/ หายใจตื้น จนอาจเกิดอาการโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด
  • ห้ามใช้ยาคาริโซโพรดอลร่วมกับยา Alprazolam , Brompheniramine, เพราะจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ลำบากตามมา
  • ห้ามใช้ยาคาริโซโพรดอลร่วมกับยา Sodium oxybate ด้วยจะทำให้มีอาการง่วงนอน วิงเวียน ซึม ความดันโลหิตต่ำ หายใจแผ่วตามมา
  • ห้ามใช้ยาคาริโซโพรดอลร่วมกับยา Carbinoxamine เพราะจะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน การครองสติทำได้ลำบาก รุนแรงมากขึ้น

ควรเก็บรักษาคาริโซโพรดอลอย่างไร?

ควรเก็บยาคาริโซโพรดอล ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลล์เซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คาริโซโพรดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาริโซโพรดอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Soma (โซมา)MedPointe Healthcare Inc.

อนึ่ง ยาขื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Rela, Carisol, Vanadom, Aciprodol

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Carisoprodol#Withdrawal_treatment[2017,Sept30]
  2. https://www.drugs.com/carisoprodol.html[2017,Sept30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Carisoprodol#Withdrawal_treatment[2017,Sept30]
  4. https://www.drugs.com/soma.html[2017,Sept30]