คัน คัน คัน (ตอนที่ 3)

คันคันคัน-3

      

      โดยโรคหิดนอร์เวย์มักเกิดกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น

  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้ติดเชื้อเฮชไอวีหรือผู้ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (Chronic leukemia)
  • ผู้ที่ป่วย อ่อนเพลียมาก เช่น ผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
  • ผู้สูงวัยที่อยู่ตามเนอร์สซิ่งโฮม

      กรณีที่เคยเป็นโรคหิดมาก่อน อาการอาจเกิดใน 1-4 วันหลังการติดเชื้อ ส่วนกรณีที่ไม่เคยเป็นก็อาจใช้เวลานานถึง 4-6 สัปดาห์จึงจะปรากฏอาการ ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถแพร่เชื้อได้แม้จะยังไม่แสดงอาการแต่อย่างใด

      ทั้งนี้ อาการแทรกซ้อนของโรคหิดสามารถเกิดขึ้นได้จากการเกาผิวหนังจนเปิด ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ เช่น โรคผิวหนังชนิดเป็นตุ่มพุพอง (Impetigo) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Staph (Staphylococci) หรือบางทีก็เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Strep (Streptococci)

      ในส่วนของการวิเคราะห์โรคมักตรวจได้จากการมองเห็น และยืนยันผลด้วยการนำตัวหิด ไข่หิด หรือสิ่งขับถ่ายของหิด จากผิวหนังไปทำการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งมักจะพบตัวหิดไม่เกิน 10-15 ตัวต่อหนึ่งคน แต่กรณีที่รุนแรงเป็นสะเก็ดทั่วตัวอาจพบหิดเป็นพันตัว ซึ่งทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อติดต่อได้สูง

      สำหรับการรักษาทำได้ด้วยการใช้ยาฆ่าหิดสำหรับคน (Scabicides) ตามที่แพทย์สั่ง โดยทาครีมหรือโลชั่นให้ทั่วร่างกายตั้งแต่คอจรดเท้า ส่วนในทารกควรทาที่ศีรษะด้วย และทิ้งไว้อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงจึงล้างออก แล้วสวมเสื้อผ้าใหม่ที่สะอาด นอกจากนี้ยังแนะนำให้ใช้กับคู่นอนและคนในบ้านที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ โดยให้ทำการรักษาในเวลาเดียวกันเพื่อป้องกันการติดซ้ำกันไปมา

      โดยยาที่ The American Academy of Dermatologists (AAD) มักแนะนำให้ใช้ ได้แก่

  • Permethrin cream 5%
  • Benzyl benzoate lotion 25%
  • Sulfur ointment 10%
  • Crotamiton cream 10%
  • Lindane lotion 1%

      ซึ่งในสัปดาห์แรกของการรักษาอาการอาจดูเหมือนจะแย่ลง อย่างไรก็ดีหลังหนึ่งสัปดาห์อาการคันจะลดน้อยลง แต่ควรทำการรักษาต่อไปจนครบเดือน แต่หลัง 1 เดือน หากยังมีอาการอยู่ให้ไปพบแพทย์ทันที

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Scabies. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scabies/symptoms-causes/syc-20377378 [2019, March 5].
  2. Scabies Frequently Asked Questions (FAQs). https://www.cdc.gov/parasites/scabies/gen_info/faqs.html [2019, March 5].
  3. Scabies. https://www.healthline.com/health/scabies [2019, March 5].