คอเลสไทรามีน (Cholestyramine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- คอเลสไทรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- คอเลสไทรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คอเลสไทรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คอเลสไทรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คอเลสไทรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คอเลสไทรามีนอย่างไร?
- คอเลสไทรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคอเลสไทรามีนอย่างไร?
- คอเลสไทรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ดีซ่าน (Jaundice)
- ตับวาย ตับล้มเหลว (Liver failure)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrhea drugs)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
บทนำ
ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) เป็นยาที่สามารถเข้าจับกับน้ำดีที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารของคนเรา ทำให้น้ำดีหมดสภาพ และไม่สามารถย่อยไขมันในอาหารที่คนเรารับประทานเข้าไป เป็นผลให้ลดการดูดซึมสารอาหารประเภทไขมันดังกล่าว ด้วยกลไกข้างต้น วงการแพทย์จึงนำคอเลสไทรามีนมาใช้เป็นยารักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง หรือภาวะผื่นคันตามผิวหนังที่มีสาเหตุจากปริมาณสารให้สีเหลืองในน้ำดีมีมากเกินไปและร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะดีซ่าน) หรือใช้บรรเทาอาการท้องเสียอันเนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถดูดน้ำดีกลับไปเก็บด้วยสาเหตุจากตับวาย นอกจากนี้คอเลสไทรามีนยังสามารถดูดจับพิษของเชื้อโรคได้เช่น จากเชื้อ Clostidium difficil ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ท้องเสีย เป็นต้น
ยาคอเลสไทรามีน ที่เป็นยาแผนปัจจุบัน จะเป็นชนิดรับประทาน และมีการดูดซึมเข้าร่างกายได้ต่ำ และจะถูกขับออกมากับอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาคอเลสไทรามีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุเป็นยาอันตราย ใช้ลดไขมันในเลือด และเป็นยาแก้ท้องเสียที่มีสาเหตุจากน้ำดีของร่างกาย
คอเลสไทรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาคอเลสไทรามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาและลดปริมาณคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูง
- รักษาอาการ ท้องเสีย และผื่นคันตามผิวหนัง อันมีสาเหตุมาจากน้ำดีที่มากกว่าปกติ หรือจากเยื่อบุลำไส้ระคายเคืองจากน้ำดีเช่น ในภาวะลำไส้อักเสบ
คอเลสไทรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคอเลสไทรามีน คือ ตัวยาจะเข้าจับกับน้ำดีในลำไส้และกลายเป็นสารที่ไม่ละลายน้ำ จากนั้นจะถูกขับออกมากับอุจจาระ ส่งผลให้ลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่ร่างกาย และลดการระคายเคืองของลำไส้จากน้ำดี ด้วยกลไกที่กล่าวมา จึงมีผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
คอเลสไทรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคอเลสไทรามีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาผงสำหรับละลายน้ำขนาดบรรจุ 4 กรัม /ซอง
คอเลสไทรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคอเลสไทรามีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 ซองวันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทานครั้งละ 1 ซองวันละ 1 - 2 ครั้ง
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- ห้ามรับประทานยานี้ในลักษณะที่เป็นผงแห้ง ต้องละลายผงยากับน้ำ 1 แก้ว (150 มิลลิลิตร) หรือกับน้ำผลไม้ คนผสมให้เข้ากันดีก่อนดื่ม
- หากต้องรับประทานยานี้ร่วมกับยาอื่น ควรปฏิบัติดังนี้ คือ
- รับประทานยาคอเลสไทรามีนหลังจากรับประทานยาอื่นไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง หรือ
- รับประทานยาอื่นหลังรับประทานยาคอเลสไทรามีนไปแล้วประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคอเลสไทรามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคอเลสไทรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคอเลสไทรามีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
คอเลสไทรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคอเลสไทรามีน สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- ท้องอืด
- คลื่นไส้-อาเจียน
- อาหารไม่ย่อย
- ผื่นคัน
- กัดกร่อนเคลือบฟันและสามารถทำให้ฟันผุได้
- เพิ่มไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในกระแสเลือด
- อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
มีข้อควรระวังการใช้คอเลสไทรามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคอเลสไทรามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง ระบบทางเดินน้ำดี), ผู้ที่มีภาวะท้องผูกขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีระดับเกลือแร่คลอไรด์ (Chloride, เกลือแร่ที่ช่วยรักษาความเป็นกรด -ด่างในเลือด) ในกระแสเลือดสูง
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน), โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคตับ, โรคพิษสุราเรื้อรัง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคอเลสไทรามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คอเลสไทรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคอเลสไทรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาคอเลสไทรามีนร่วมกับยาหลายตัว ก่อให้เกิดการดูดซึมของยาเหล่านั้นลดน้อยลงไป จนอาจส่งผลต่อการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน ยาที่กล่าวถึงเช่น Digitalis, Estrogen, Penicillin G, Phenobarbital, Spironolactone, Tetracy cline, Chlorothiazide, ยาไทรอยด์ฮอร์โมน (เช่น Levothyroxine), Warfarin และ Leflunomide (ยารักษาโรคออโตอิมมูน)
- การรับประทานยาคอเลสไทรามีนร่วมกับวิตามินที่ละลายในไขมันเช่น วิตามิน เอ, ดี, อี, เค สามารถทำให้ลดการดูดซึมของวิตามินเหล่านี้ได้ จึงควรเลี่ยงการรับประทานร่วมกันหรือปรับเวลาของการรับประทานดังได้แนะนำแล้วในหัวข้อ ขนาดรับประทาน
ควรเก็บรักษาคอเลสไทรามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาคอเลสไทรามีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
คอเลสไทรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคอเลสไทรามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Resin Colestiramina (เรซินโคเลสทิรามินา) | Lab Rubio |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Colestyramine [2020,Nov7]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fHongkong%2fdrug%2finfo%2fCholestyramine%2520Pharmascience%2f [2020,Nov7]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fcolestyramine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov7]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fResincolestiramina%2f%3ftype%3dbrief [2020,Nov7]
- https://www.drugs.com/cdi/cholestyramine-resin.html [2020,Nov7]