คอร์ติโคโทรปิน (Corticotropin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- คอร์ติโคโทรปินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- คอร์ติโคโทรปินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คอร์ติโคโทรปินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คอร์ติโคโทรปินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- คอร์ติโคโทรปินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คอร์ติโคโทรปินอย่างไร?
- คอร์ติโคโทรปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคอร์ติโคโทรปินอย่างไร?
- คอร์ติโคโทรปินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
- กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)
บทนำ
ยาคอร์ติโคโทรปิน (Corticotropin) หรือในชื่ออื่น คือ Adrenocorticotropin หรือ Adrenocorticotropic Hormone ย่อว่า ACTH เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า(Anterior pituitary) หน้าที่หลักของฮอร์โมนคอร์ติโคโทรปิน จะไปกระตุ้นให้ต่อมหมวกไต(Adrenal cortex) หลั่งฮอร์โมน Glucocorticoids อีกทีหนึ่ง กรณีที่ฮอร์โมนคอร์ติโคโทรปินเกิดการเสียสมดุลทางธรรมชาติจะส่งผลต่อการทำงานของต่อมหมวกไตโดย
1. ทำให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมน Glucocorticoid มากไป จะทำให้เกิดอาการคุชชิง(Cushing syndrome)
2. ทำให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมน Glucocorticoid น้อยเกินไปจะก่อให้เกิดโรคแอดดิสัน(Addison disease)
คอร์ติโคโทรปิน มีกลไกการทำงานที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกับฮอร์โมนอื่นในร่างกาย เพื่อให้เข้าใจง่าย อาจสรุปประโยชน์ทางคลินิกที่ได้นำคอร์ติโคโทรปินมาใช้เป็นยารักษาอาการของโรคต่างๆเช่น Multiple Sclerosis, Ankylosing Spondylitis, Polymyositis/Dermatomyositis, Rheumatoid Arthritis, Juvenile Rheumatoid Arthritis, Sarcoidosis, Systemic Lupus Erythematosus, Uveitis, Iritis, Optic Neuritis, Keratitis, Psoriatic Arthritis, Iridocyclitis Chorioretinitis, Choroiditis, Stevens-Johnson Syndrome, Serum Sickness, Erythema Multiforme, และ Infantile Spasms (West's Syndrome)
สำหรับรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่พบเห็นการใช้ในปัจจุบันของยาคอร์ติโคโทรปิน จะเป็นลักษณะของยาฉีด ซึ่งมีการใช้ อยู่แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
มีข้อจำกัดและเงื่อนไขบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนได้รับยาคอร์ติโคโทรปิน เช่น
- ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาคอร์ติโคโทรปินมาก่อน
- ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด ผู้ที่มีภาวะกระดูกเปราะ/กระดูกหักง่าย ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ที่ติดเชื้อรา ผู้ที่ติดเชื้อเริมที่ตา ผู้มีภาวะต่อมหมวกไตทำงานน้อยเกินไป และผู้ป่วยโรค Scleroderma ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาคอร์ติโคโทรปินทั้งสิ้น จึงถือเป็นข้อปฏิบัติที่ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่าตนเองมีโรคประจำตัวใดบ้าง
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทรวมถึงยาคอร์ติโคโทรปิน ผู้ป่วยที่เป็นสตรีจะต้องแจ้งสถานภาพของตนเองกับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่า ปัจจุบันอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดผลกระทบจากการใช้ยาคอร์ติโคโทรปินต่อทารก
- การได้รับยาคอร์ติโคโทรปินบ่อยครั้งหรือนานเกินไป อาจกระตุ้นให้มีภาวะต้อกระจกหรือต้อหินตามมาได้
- การใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้ทำงานน้อยลง เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ผู้ป่วยต้องดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อของร่างกายตามมา เช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่อได้รับยานี้ อาจมีผลกระทบทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งเป็นสิ่งจำเป็นและแพทย์จะใช้บ่งบอกถึงความจำเป็นในการปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
- หลังได้รับการฉีดยาคอร์ติโคโทรปิน ต้องสังเกตอาการทางร่างกาย เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังลอก เกิดไข้ หายใจขัด/หายใจลำบาก เกิดอาการบวมตามร่างกาย ไอมากผิดสังเกต กรณีพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที
- ยาคอร์ติโคโทรปินสามารถกระตุ้นให้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้ เช่น ท้องเสีย นอนไม่หลับ หิวอาหารบ่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น คัดจมูก และเกิดสิว อาการข้างเคียงที่ไม่ค่อยรุนแรงมักจะหายเป็นปกติเองเมื่อหยุดใช้ยานี้
ยาคอร์ติโคโทรปินเป็นยาประเภทฮอร์โมนซึ่งมีฤทธิ์แรง การได้รับยา 1 ครั้ง จะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้ยาวนาน 10–25 ชั่วโมง จนถึง 3 วัน ระยะเวลาของการใช้ยานี้ย่อมขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรคประกอบกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
คอร์ติโคโทรปินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ตัวยาคอร์ติโคโทรปิน มีสรรพคุณ/สามารถใช้บำบัดอาการโรคที่มีความสัมพันธ์กับ ฮอร์โมนต่างๆของร่างกาย, การทำงานของระบบประสาท, รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย เช่น
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส (MS: Multiple Sclerosis)
- ข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis)
- โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคซาคอยโดซิส (Sarcoidosis)
- โรคเอสแอลอี (SLE; Systemic lupus erythematosus)
- การอักเสบของยูเวีย (Uveitis)
- ม่านตาอักเสบ (Iritis)
- ประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis)
- กระจกตาอักเสบ (Keratitis)
- โรคข้อรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis)
- ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรม(Stevens-Johnson syndrome)
- ซีรัมซิกเนส (Serum sickness)
- การเกิดผื่นแดงที่เรียกว่า Erythema multiforme
- ภาวะ West Syndrome(โรคลมชักชนิดหนึ่ง) ในเด็ก
คอร์ติโคโทรปินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคอร์ติโคโทรปิน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ต่อมหมวกไต ทำให้กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน Cortisol, Cortisone, และจำกัดปริมาณฮอร์โมน Aldosterone ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดกลไกการทำงานของระบบฮอร์โมนต่างๆเป็นไปอย่างมีสมดุลและเหมาะสมมากขึ้น ด้วยกลไกเหล่านี้ ทำให้การบำบัดโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมนต่างๆตลอดจนที่มีการสูญเสียสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายได้ตามสรรพคุณ
คอร์ติโคโทรปินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคอร์ติโคโทรปินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ประกอบด้วย Corticotropin ขนาด 20 และ 40 ยูนิตสากล/ขวด
- ยาฉีดที่ประกอบด้วย Corticotropin ขนาด 40 และ 80 ยูนิตสากล/มิลลิลิตร
คอร์ติโคโทรปินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาคอร์ติโคโทรปินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าผิวหนัง 80 – 120 ยูนิตสากล/วัน ใช้ยาในการรักษาต่อเนื่อง 2–3 สัปดาห์
- เด็ก: การใช้ยานี้ และขนาดยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับข้อสันหลังอักเสบยึดติด, โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ, โรคข้อรูมาตอยด์, ซาคอยโดซิส, เอสแออี, การอักเสบของยูเวีย/ม่านตาอักเสบ, ประสาทตาอักเสบ, กระจกตาอักเสบ, โรคข้อรูมาตอยด์ในเด็ก, ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน, โรคสะตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรม, ซีรัมซิกเนส, และ Erythema multiforme
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าผิวหนังขนาด 40–80 ยูนิตสากล ทุกๆ 24–72 ชั่วโมง
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีลงมา: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ค. สำหรับ West syndrome ในเด็ก:
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 75 ยูนิตสากล/พื้นที่ ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป จากนั้นแพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยาลงเป็นลำดับโดยใช้เวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไปเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ทำให้ต่อมหมวกไตทำงานน้อยกว่าปกติ (Adrenal insufficiency)
- เด็กที่อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ห้ามฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำ
- การใช้ยานี้ให้เกิดประสิทธิผล ต้องมีความต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคอร์ติโคโทรปิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคอร์ติโคโทรปินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
คอร์ติโคโทรปินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคอร์ติโคโทรปินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจโต บวม หัวใจล้มเหลว
- ผลต่อผิวหนัง เช่น เกิดสิว มีผื่นคัน ผิวหนังบางลง เหงื่อออกมาก
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ เช่น มีอาการคล้ายกลุ่มอาการ คุชชิง ซินโดรม/Cushing syndrome ที่เรียกว่า Cushingoid
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ ปวดท้อง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น หิวอาหารบ่อยหรือไม่ก็เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ในเด็กมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะกระดูกหักง่าย
- ผลต่อระบบประสาท เช่น ชัก ปวดศีรษะ วิงเวียน เลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก ปอดบวม โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น
มีข้อควรระวังการใช้คอร์ติโคโทรปินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคอร์ติโคโทรปิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อสุกร ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ผู้ที่ติดเชื้อราในระบบต่างๆของร่างกาย ผู้ที่ติดเชื้อเริมที่ตา ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆ ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนออกมา มากผิดปกติ
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับวัคซีนชนิดมีชีวิต เช่น วัคซีนหัด
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการตรวจร่างกายจากแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคอร์ติโคโทรปินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกประเภท(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
คอร์ติโคโทรปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคอร์ติโคโทรปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาคอร์ติโคโทรปินร่วมกับยาBupropion ด้วยจะทำให้เกิดอาการชักตามมา
- ห้ามใช้ยาคอร์ติโคโทรปินร่วมกับวัคซีนชนิดมีชีวิตอย่างวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ /วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าว
- ห้ามใช้ยาคอร์ติโคโทรปินร่วมกับยา Infliximab, Natalizumab(ยาเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรค) ด้วยเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อของร่างกายอย่างรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคอร์ติโคโทรปินร่วมกับยา Amiodarone เพราะจะทำให้เกิด อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
ควรเก็บรักษาคอร์ติโคโทรปินอย่างไร?
ควรเก็บยาคอร์ติโคโทรปินภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
คอร์ติโคโทรปินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคอร์ติโคโทรปิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
H.P. Acthar Gel (เฮช.พี. แอ็กทาร์ เจล) | Mallinckrodt |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น , Acthar, Acthrel, Cortrosyn,Cortigel, H.P. Acthar
บรรณานุกรม
- http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/B9780128021750000103[2017,Oct14]
- https://www.drugs.com/cdi/corticotropin.html[2017,Oct14]
- https://www.drugs.com/dosage/corticotropin.html[2017,Oct14]
- https://www.drugs.com/ppa/corticotropin.html[2017,Oct14]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/corticotropin-index.html?filter=3&generic_only=#F[2017,Oct14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Adrenocorticotropic_hormone[2017,Oct14]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01285[2017,Oct14]
- http://www.acthar.com/pdf/acthar-pi.pdf[2017,Oct14]