ความเข้าใจผิดพบบ่อยในโรคหลอดเลือดสมอง (Common misunderstood in stroke)

สารบัญ

บทนำ

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต (Stroke) เป็นโรคที่พบบ่อยโดยทุกคนมีโอกาสเกิดโรคนี้ และทุกคนพยายามหาทางป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ และเมื่อเกิดโรคขึ้นก็พยายามดูแลรักษาให้ดี แต่ก็มีความเชื่อและความเข้าใจไม่ถูกต้องหลายประการ ที่ส่งผลต่อการป้องกันและการรักษาโรคได้ บทความนี้จะตอบข้อสงสัยที่พบบ่อยที่เกี่ยวกับความเชื่อเหล่านั้นครับ

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคเวรโรคกรรม ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น เราไม่สามารถป้องกันได้

ความเข้าใจผิดในโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองมีสาเหตุทั้งในส่วนที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้

  • สาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ ประวัติครอบครัวที่มีคนเป็นโรคนี้, เพศ ที่เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิง, และอายุที่มากขึ้น
  • สาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ที่แก้ไขได้ คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง การไม่ออกกำลังกาย (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การออกกำลังกาย ) โรคอ้วน และการสูบบุหรี่

ดังนั้น โรคหลอดเลือดสมอง ไม่ใช่โรคเวรโรคกรรม แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ จากการป้องกันและควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง, ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ, และการไม่สูบบุหรี่ การเลิกบุหรี่

โรคหลอดเลือดสมองเป็นเฉพาะผู้สูงอายุ ถ้ายังอายุไม่ถึง 60 ปี ไม่มีโอกาสเป็น

ผู้ป่วยอายุน้อยก็เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ เรียกว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยอายุน้อย คือ อายุน้อยกว่า 45 ปี (Stroke in young adult) สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของตัวหลอดเลือดเอง, หลอดเลือดอักเสบ, โรคเอสแอลอี (SLE : Systemic lupus erythemato sus), โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคลิ้นหัวใจตีบ, และการใช้ยาเสพติด

การทานยาแอสไพริน สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้

การทานยาแอสไพรินในคนแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ แต่ถ้ามีโรคประจำตัว เป็นโรคเบาหวาน การทานยาแอสไพริน พบว่ามีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ดูแลตนเองไม่ให้เกิด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ร่วมกับ ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ และไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่

ถ้ามีอาการแขนขาอ่อนแรงเป็นๆหายๆ เมื่อมีอาการอ่อนแรงอีกให้สังเกตอาการว่าจะหายเองหรือไม่ ถ้าหายดีก็ไม่ต้องมาโรงพยาบาล

อาการอ่อนแรง เป็นๆหายๆ เรียกว่า ทีไอเอ (TIA:Transient ischemic attack, สมองขาดเลือดชัวคราว) เป็นอาการที่สำคัญมาก เพราะอาการดังกล่าว มีโอกาสเป็นโรคอัมพาต หรือ อาการอ่อนแรงที่ไม่หายได้สูง โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์แรกของการเกิดอาการ อาจสูงถึง 15% ดัง นั้น ถ้ามีอาการ TIA นั้น ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพื่อให้การรักษาป้องกันไม่ให้เป็นอัมพาต

ถ้ามีอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ควรสังเกตอาการว่าจะหายหรือไม่ ถ้าไม่หายจึงค่อยมาโรงพยาบาล

ปัจจุบัน การรักษาโรคอัมพาตที่ดีมีโอกาสหายเป็นปกติสูง คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) โดยต้องได้รับการรักษาเร็วที่สุด ถ้าช้าก็ต้องไม่เกิน 270 นา ทีนับตั้งแต่มีอาการ จนฉีดยาละลายลิ่มเลือด (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง อัมพาต:270นาทีชี วิต)

ดังนั้น ถ้ามีอาการผิดปกติทางระบบประสาท สงสัยว่าจะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที ไม่ควรสังเกตอาการให้เสียเวลา ถ้ามาเร็วก็มีโอกาสหายเป็นปกติสูง

ถ้ามีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ควรต้องพบแพทย์ระบบประสาทเท่านั้น

จากข้อข้างต้น ผู้ป่วยไม่ควรรอพบแพทย์เฉพาะทางระบบประสาท ควรรีบไปโรงพยา บาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้มีการประเมินอาการและโรคที่เป็นอย่างรวดเร็ว ถ้าโรงพยาบาลนั้นสามารถรักษาได้ ก็จะให้การรักษาทันที แต่ถ้ารักษาไม่ได้ โรงพยาบาลนั้นก็จะรีบประสานงานไปยังโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษาได้ โดยให้การตรวจรักษาเบื้องต้นก่อน และรีบส่งต่อเพื่อรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลที่รักษาได้ต่อไป

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่ออาการหายดี ก็ไม่ต้องทานยารักษาต่อเนื่อง

โรคหลอดเลือดสมองมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้สูง ดังนั้น ต้องทานยารักษาต่อเนื่อง ถึงแม้อาการจะหายเป็นปกติ ร่วมกับการรักษาควบคุมโรคร่วมต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ให้ดีตลอด ร่วมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุข ภาพ และไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ จะยิ่งช่วยลดโอกาสการเป็นซ้ำ

การทานยาบำรุงสมอง ช่วยให้อาการอัมพาตหายเร็วขึ้น

การศึกษาแบบเป็นระบบและมาตรฐาน (การศึกษาทางการแพทย์) มีข้อมูลว่า ยาบำรุงสมองส่วนใหญ่ ไม่มีประโยชน์ต่อการหายของอาการอัมพาต มีเพียงบางชนิดเท่านั้น แต่ก็มีประ โยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ที่นอนลมเพื่อป้องกันแผลกดทับ ทดแทนการพลิกตัวผู้ป่วยอัมพาตได้

ที่นอนลม มีการออกแบบเพื่อลดปัญหาแผลกดทับ จึงประกอบด้วย ลูกฟูกมาเรียงต่อกัน แล้วปั๊มลมเข้าออกสลับกันไปมาระหว่างลูกฟูก เพื่อให้มีการลดแรงกดทับระหว่างตัวผู้ป่วยกับที่นอน เพื่อลดโอกาสการเกิดแผลกดทับ แต่ประสิทธิภาพนั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนการพลิกตัวผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมงได้ ประโยชน์คือการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอโดยระบบอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้แรงคน ลดภาระของผู้ดูแลบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น ยังคงต้องพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงสม่ำเสมอ ถึงแม้จะใช้ที่นอนลมก็ตาม

การแพทย์ทางเลือกช่วยให้ผู้ป่วยโรคอัมพาตดีขึ้น

การแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม นวดแผนไทย อบสมุนไพร ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเป็นการรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน (ใช้เป็นการ แพทย์สนับสนุน)

ข้อแนะนำคือ ควรเข้ารับการรักษาแพทย์ทางเลือก การแพทย์สนับสนุน เฉพาะกับสถาน พยาบาลที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันตามโรงพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบันหลายโรงพยาบาล ก็มีแผนกบริการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ห้ามหยุดยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาร่วมด้วย และข้อควรระวัง อีกประเด็นหนึ่ง คือ ผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือด วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจมีปัญหาเลือดออกง่าย ต้องระมัดระวังในการฝังเข็ม หรือการนวดที่รุนแรง อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายได้

สรุป

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต ไม่ใช่โรคเวรโรคกรรม สามารถป้องกันได้ รักษาให้หายได้ ถ้าเราดูแลสุขภาพให้ดี และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง