ความเข้าใจผิดและปัญหาพบบ่อยในการใช้ยา (Common misunderstood and common problem about medication)

สารบัญ

บทนำ

ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ได้มีโอกาสรักษาผู้ป่วย พบว่ามีความเข้าใจผิดที่ไม่ถูกต้องมากมายในการใช้ยา และความเข้าใจผิดนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ เช่น การฉีดยาดีกว่าการทานยา หาหมอที่คลินิกดีกว่าที่โรงพยาบาลรัฐ ยารักษาโรคห้ามทานต่อเนื่องเพราะจะมีผลเสียต่อตับและไต เป็นต้น ผมจึงต้องการอธิบายให้ผู้อ่านทราบถึงความจริงว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจกัน

ยาฉีดดีกว่ายาทานหรือไม่?

ความเข้าใจผิดและปัญหาพบบ่อยในการใช้ยา

ยาฉีดที่ใช้กันโดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection, ย่อว่า IM/ไอเอ็ม)
  • ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous injection, ย่อว่า IV/ไอวี)
  • และฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนัง (Subcutaneous injection, ย่อว่า Subcut/สับคิว)

การใช้ยาฉีดนั้น ต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น เป็นโรคเบาหวานชนิดขาดอินซูลินก็ต้องฉีดยาเพราะทานยาลดน้ำตาลไม่ได้ผล หรือเป็นโรคเบาหวานร่วมกับภาวะไตวายก็ต้องฉีดอินซูลินเพราะเป็นข้อห้ามการใช้ยาทาน หรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ก็จำ เป็นต้องฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ทานยาไม่ได้ผล

ดังนั้น การฉีดยาไม่ได้ดีกว่า หรือทำให้โรคหายเร็วกว่าการทานยา การใช้ยาทานหรือยาฉีดจะต้องพิจารณาตามข้อบ่งชี้ของโรคนั้นๆ หรือตามรูปแบบของยาชนิดนั้นๆ ไม่ใช่ต้องการให้หายเร็วจึงฉีดยา

ข้อเสียของการใช้ยาฉีดคือ เจ็บตัว, มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นถ้าการฉีดยานั้นมีการปน เปื้อน หรือไม่ได้ใช้เทคนิคการปลอดเชื้อ, เสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

เมื่อการฉีดยาไม่ได้ดีกว่าการทานยา แล้วทำไมเวลาที่ไปพบแพทย์ที่คลินิกแพทย์ถึงฉีดยาให้ผู้ป่วย กรณีนี้เป็นเพราะว่าแพทย์ตามใจผู้ป่วยจนเคยชินครับ ที่มาของเรื่องก็เพราะว่า ผู้ ป่วยขอให้แพทย์ฉีด เพราะเข้าใจว่าการฉีดยาดีกว่าทานยา เมื่อเป็นแบบนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ขอ ให้หมอฉีดยาให้ แพทย์ช่วงแรกๆก็พยายามอธิบาย แต่ผู้ป่วยก็ขอฉีดยา ถ้าไม่ฉีดก็ไม่พอใจ สุด ท้ายก็เลยตามเลย มีการฉีดยาโดยไม่จำเป็น และก็สร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ป่วยต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ จากรุ่นต่อรุ่น ดังนั้นเราควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

ยาจากคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนดีกว่ายาจากโรงพยาบาลรัฐจริงไหม?

ความเข้าใจนี้ เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการรักษาเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยและคนทั่วไปยังมีความเข้าใจอย่างนี้ ซึ่งที่จริงแล้วยาที่ไหนๆเมื่อผ่านการตรวจสอบจาก อย. (สำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ก็มีประสิทธิภาพใกล้เคียงหรือเหมือนกันเลย บาง ครั้งยาจากคลินิกจะไม่ได้บรรจุในแผงหรือกล่องบรรจุ จะเป็นเม็ดๆ ใส่ในซอง และอาจมีรูปร่าง สีแตกต่างกัน แต่แท้จริงแล้วคือ ยาชนิดเดียวกันจริงๆทั้งจาก คลินิก โรงพยาบาลเอกชน และจากโรงพยาบาลรัฐบาล

ยานอกดีกว่ายาในประเทศจริงหรือไม่?

โดยทั่วไป “ยาต้นแบบ (Original drug)” มีการผลิตจากต่างประเทศ และเมื่อหมดสิทธิ บัตรก็จะมีการผลิตเป็น “ยาชื่อสามัญ (Generic name)” ซึ่งในขั้นตอนการผลิตนั้นจะต้องเป็น ไปตามมาตรฐาน และมีการทดสอบคุณสมบัติต่างๆของยาว่า ต้องมีคุณสมบัติต่างๆแตกต่างกับยาต้นแบบไม่เกิน 20% ดังนั้น ยาชื่อสามัญซึ่งผลิตในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศก็ตาม จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว เพราะมี “อย.” ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ยาในหรือยานอกประเทศก็สามารถใช้ทดแทนกันได้ เพราะยาชื่อสามัญมีราคาที่ประหยัดกว่ากันมาก

อย่างไรก็ตามกรณียาที่มีช่วงระดับการรักษาที่แคบ (Narrow therapeutic window/ประ สิทธิภาพของยาเมื่อขนาดยาเท่ากัน) ยาชื่อสามัญหรือยาในประเทศก็อาจต้องระมัดระวังประ เด็นนี้ เช่น ยากันชัก อย่างไรก็ตามก็สามารถใช้แทนกันได้ แต่ถ้าใช้แล้วมีปัญหาก็ต้องปรับ เปลี่ยนเป็นยาต้นแบบหรือยานอกในภายหลัง หลังจากการติดตามผลการรักษาจากแพทย์

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเรื่องของ ยานอก ยาในประเทศ ยาต้นแบบ และ ยาชื่อสามัญ ได้ในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ประเภทยา:ยาชื่อสามัญและยาต้นแบบ

การทานยาต่อเนื่องนานๆจะทำให้เป็นโรคไต โรคตับจริงหรือไม่?

ความคิดนี้ มีทั้งถูกและไม่ถูก ที่ถูกต้องคือ การทานยาโดยไม่จำเป็นหรือไม่ถูกต้อง เช่น การทานยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายๆเดือน เพราะยาแก้ปวดไม่ว่าจะเป็นพาราเซตามอล (Paracetamol), ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (ยาเอ็นเสด) ก็ส่งผลต่อตับ ต่อไตทั้งสิ้น ดังนั้น ควรทานยาเป็นระยะเวลาสั้นๆเท่าที่มีอาการ และถ้าไม่หายจากอาการปวดนั้นๆ ก็ต้องหาวิธีรักษาอื่นๆร่วมด้วย เช่น การผ่อนคลายความเครียด หรือการพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

กรณีเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไข มันในเลือดสูง จำเป็นต้องทานยารักษาต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการของโรคนั้นๆ และป้องกันภา วะแทรกซ้อน กรณีนี้การทานยาต่อเนื่อง ภายใต้การดูแลของแพทย์ก็มีความปลอดภัย เพราะยาส่วนใหญ่ ก็ส่งผลต่อไตหรือตับน้อยมาก และแพทย์ก็จะต้องมีการประเมินอาการจากผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของยาเป็นระยะๆ ดังนั้น ผู้ป่วยห้ามหยุดยาเอง

การทานยาแอสไพรินเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ต้องหยุดยาเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันยากัดกระเพาะอาหารจริงหรือไม่?

ความเข้าใจในประเด็นนี้ก็เกือบจะถูก คือ ยาแอสไพรินมีผลข้างเคียงต่อกระเพาอาหารและลำไส้จริง อาจก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือในลำไส้ได้ แต่มีโอกาสเกิดน้อยมากครับ คือ ประมาณ 1-2% เท่านั้น และส่วนใหญ่ถ้ามีอาการก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆของการรัก ษา ประกอบกับขนาดยาแอสไพรินที่ได้รับนั้น ขนาดก็ต่ำมาก คือ 81 มิลลิกรัม การเกิดผลข้าง เคียงก็ยิ่งลดต่ำลงไปตามขนาดของยาที่ได้รับ

มีข้อแนะนำเพิ่มเติมคือ ไม่ควรทานยาแอสไพรินร่วมกับยาแก้ปวดชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาเอ็นเสด) เช่น บลูเฟ็น (Brufen), ไดคลอฟิแนค (Diclofenac), หรือ โวลทาเรน (Voltaren) เพราะจะเสริมฤทธิ์ด้านการกัดกระเพาะอาหารมากขึ้น

ยาแอสไพรินเพิ่มโอกาสเกิดเลือดออกในสมองจริงหรือไม่?

ข้อเสียของยาแอสไพรินนอกจากการกัดกระเพาะอาหารและลำไส้แล้ว ยังมีโอกาสเกิดเลือดออกในสมองได้ ประมาณ 1-2 % ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี, เบาหวาน, และเคยเกิดโรคเลือดสมองขาดเลือดมาก่อน

ทานยาแอสไพรินอยู่ถ้าต้องถอนฟันต้องหยุดยาก่อน 7 วันจริงหรือ?

ความเข้าใจนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันในอดีต ปัจจุบันมีหลักฐานจากการศึกษาที่เป็นระบบแล้ว พบว่าไม่มีความจำเป็นต้องหยุดยาแอสไพริน เพราะมีโอกาสเลือดออกมากผิดปกติน้อยมาก เพียงแต่ในการถอนฟัน ผู้ป่วยต้องกัดสำลีให้แน่นและกัดไว้นานๆ นานกว่าคนทั่วไป เพื่อเป็นการห้ามเลือด เพราะการหยุดยาแอสไพรินโดยไม่จำเป็นก็มีโอกาสเกิดการเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจได้

การหยุดยาแอสไพรินจะทำเฉพาะการผ่าตัดใหญ่ที่มีโอกาสเลือดออกได้มาก เช่น ผ่าตัดถุงน้ำดี ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดสมอง เป็นต้น ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ หรืออุบัติ เหตุ ก็สามารถผ่าตัดได้ทันที เพราะปัจจุบันจะมีวิธีแก้ไขปัญหาเลือดออกที่หยุดยากหลังจากการผ่าตัดที่ได้ประสิทธิภาพ

ยาหลังอาหารถ้าไม่ได้ทานอาหารก็ห้ามทานยาใช่ไหม?

ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้องครับ การทานยาส่วนใหญ่นั้น แพทย์มักจะสั่งเป็นยาทานหลังอาหารส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันการลืม ไม่ได้เกี่ยวกับยาว่าจะกัดกระเพาะอาหารจึงต้องทานยาหลังอาหาร มีเพียงยาบางชนิดที่กัดกระเพาะอาหาร เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอ็นเสด) ต้องทานหลังอาหารทันที ส่วนยาชนิดอื่นๆที่กำหนดให้ทานหลังอาหารนั้น ควรทานหลังมื้ออาหารประมาณ 30 นาที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านการดูดซึม หรือตีกันระหว่างยากับอาหาร

ส่วนยาที่ต้องทานก่อนอาหารนั้นเป็นเพราะยานั้นต้องออกฤทธิ์สัมพันธ์กับอาหารที่ทานเข้าไป เช่น ยาเบาหวานทานก่อนอาหารเพราะช่วงที่ยาออกฤทธิ์สูงสุด จะได้สัมพันธ์กับช่วงที่มีระดับน้ำตาลขึ้นสูงสุดเช่นเดียวกัน และยาก่อนอาหารบางชนิดก็ต้องทานตอนท้องว่างเพื่อให้การดูดซึมของยาดีที่สุด จะได้ออกฤทธิ์ดีที่สุด

กรณีที่ไม่ได้ทานอาหารเช้าแต่ต้องทานยาหลังอาหารนั้น ก็อาจต้องหาอาหารหรือขนมปังทานรองท้องเล็กน้อยแล้วก็ทานยา แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยทานอาหารเช้าเลยและยานั้นก็ไม่ ได้เป็นยาแก้ปวด หรือกัดกระเพาะอาหารก็ทานยาได้โดยไม่ได้ทานอาหาร แต่ทางที่ดี ทุกคนควรทานอาหารเช้า เพราะเป็นมื้ออาหารที่สำคัญที่สุด

ลืมทานยาก่อนอาหารและทานอาหารไปแล้ว ควรทำอย่างไร?

ในทางปฏิบัติ พบปัญหานี้บ่อยมากๆ เพราะมีโอกาสลืมได้บ่อยมาก ถ้าทานอาหารไปแล้วก็สามารถทานยาได้ครับ ถึงแม้อาจจะส่งผลต่อการออกฤทธิ์หรือการดูดซึมยาบ้าง แต่ก็ดีกว่าที่ไม่ได้ทานยาเลย

ยาก่อนนอนควรทานเมื่อไหร่ เพราะถ้าทานก่อนนอนจริงๆก็จะลืม?

ปัญหาการทานยาก่อนนอนเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย แต่มักไม่ค่อยเกิดปัญหา เพราะส่วนใหญ่เป็นยานอนหลับหรือยาคลายกังวล/ตลายเครียด ซึ่งไม่ทานและหลับดีก็ไม่เป็นไหร่ แต่ยาที่มีปัญหา คือ ยากันชัก ยาละลายลิ่มเลือด ยารักษาต่อมลูกหมาก เพราะยาเหล่านี้ที่ให้ทานก่อนนอน เพราะเนื่องจากผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของยาที่อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน ความดันโลหิตลดลง วิงเวียนศีรษะง่ายขึ้น หรือไม่ต้องการให้ใกล้เคียงกับมื้ออาหาร เพราะยาจะทำปฏิกิริยากับอาหารที่ทาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยหลับง่ายและมักลืมทานยาเหล่านี้เป็นประจำก็ส่งผลต่อการรักษาโรคนั้นๆ

วิธีในการป้องกันการลืมกินยาก็คือ ต้องตั้งใจ มีระบบเตือน เช่น ทานยาพร้อมแปรงฟันก่อนนอน หรือทานยาหลังอาหารเย็นประมาณ 2 ชั่วโมงได้ เช่น ทานอาหารเย็น/ค่ำ เวลาประ มาณ 6 โมงเย็น 2 ทุ่ม ก็ทานยาได้ หรือทานอาหารค่ำช้าก็อาจทานเป็นยาหลังอาหารค่ำก็ได้ ยกเว้น ยากันชักอาจต้องให้ห่างมื้ออาหารมากกว่า 1.5 ชั่วโมง เพราะอาจมีผลด้านการดูดซึมและการออกฤทธิ์ของยากันชัก

ถ้าปัสสาวะสีเข้มหรือมีกลิ่นฉุนมาก แสดงว่าทานยามากเกินไปใช่ไหม?

กรณีนี้ มี 2 ประเด็น คือ กรณีปัสสาวะสีเข้ม และกรณีปัสสาวะกลิ่นฉุน

  • กรณีปัสสาวะสีเข้ม เกิดจากการที่ผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงส่งผลต่อสีปัสสาวะที่เข้มขึ้น มียาเพียงบางชนิดที่ทำให้ปัสสาวะสีเปลี่ยนไป เช่น วิตามินบางชนิด หรือยารักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบบางชนิด
  • ส่วนกลิ่นฉุนของปัสสาวะนั้น เกิดจากมีสารเคมีหลายชนิดขับออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งรวมทั้งจากยาหลากหลายชนิด แต่กลิ่นฉุนนั้น ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าทานยามากเกินไป

ทานยาแล้วสี/กลิ่นปัสสาวะผิดปกติหมายความอย่างไร? ควรทำอย่างไร? ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

สีและกลิ่นปัสสาวะที่เปลี่ยนไปหลังทานยานั้น เกิดจากการขับชิ้นส่วนของยาออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งไม่มีผลเสียใดๆ ยกเว้นปัสสาวะเป็นเลือดหลังจากทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละ ลายลิ่มเลือด ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ให้หยุดทานยานั้น แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือถ้าทานยาแล้วสังเกตพบว่าปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง เช่น ลดลงหรือมากขึ้นชัดเจน เพราะยานั้นอาจส่งผลเสียต่อหน้าที่ของไต ก็ควรหยุดยาแล้วรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่นเดียวกัน

ทานยาแล้วสี/กลิ่นอุจจาระผิดปกติหมายความอย่างไร? ควรทำอย่างไร? ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

สีและกลิ่นอุจจาระที่เปลี่ยนไปนั้น เกิดจากการขับชิ้นส่วนยาออกทางอุจจาระ ซึ่งไม่มีผล เสียใดๆ ยกเว้นถ่ายเป็นสีดำมีลักษณะเหนียวเปียกเหมือนยางมะตอย เหม็นคาว หรือเป็นเลือดสดออกมานั้น บ่งชี้ว่ามีปัญหาเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากยากัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ต้องหยุดยาและรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ทานยาแล้วสีตัว/กลิ่นตัว/เหงื่อผิดปกติหมายความอย่างไร? ควรทำอย่างไร? ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

กลิ่นตัวและเหงื่อที่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติหลังทานยานั้น เกิดจากการขับออกของชิ้นส่วนยาทางสารคัดหลั่งต่างๆ โดยเฉพาะเหงื่อ ไม่มีผลเสียต่อร่างกายใดๆ แต่สีผิวที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเกิดจากยามีผลต่อเซลล์สร้างเม็ดสี อาจทำให้สีผิวเข้มขึ้นหรือเปลี่ยนสีได้ ถ้าพบควรหยุดยาแล้วรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ทานยาแล้วมีอาการผิดปกติจะต้องทำอย่างไร? ต้องหยุดกินยาไหม? ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

การทานยาทุกชนิดที่ได้มาจากแพทย์ หรือซื้อมาทานเองเพื่อรักษาอาการหรือโรคใดๆก็ตาม อาจก่อให้เกิดผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) หรือการแพ้ยาที่ไม่คาดคิดได้ เช่น คลื่นไส้ อา เจียน ผื่นคัน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย วิงเวียน ปวดกล้ามเนื้อ

ถ้ามีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย ซึงสามารถดูได้จากเอกสารกำกับยาที่ใส่ไว้ในกล่องหรือแผงยา ก็อาจสังเกตอาการได้ เพราะอาจเกิดเพียงครั้งแรกๆของการกินยานั้นเท่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดยา

ถ้าอาการนั้นๆเป็นทุกครั้งที่ทานยา ก็ควรหยุดทานยานั้น และควรพบแพทย์ก่อนนัดเพื่อการปรับเปลี่ยนยา แต่ถ้ายานั้นเป็นยาสำคัญที่รักษาตัวโรค เช่น ยาขยายหลอดเลือดในโรคหัว ใจ ก็ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อการปรับเปลี่ยนยา แต่ไม่ควรหยุดยาเอง

แต่อาการบางอย่าง ต้องหยุดยาทันที เช่น หลังกินยา เกิดผื่นแดงคัน ลมพิษ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปากบวม เพราะเป็นอาการแพ้ยาที่รุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ และควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

ทานยาพร้อมๆกันหลายๆอย่างเป็นอะไรไหม?

การทานยาหลายชนิด ก็เพราะมีความจำเป็นเนื่องจากมีหลายโรคที่ต้องรักษา จึงมีโอ กาสที่ยาหลายชนิดจะเกิดการตีกันของยา (ปฏิกิริยาระหว่างยา) ที่ทานได้ ดังนั้นต้องแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทราบว่า มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ทานยาชนิดใดอยู่บ้าง เพื่อป้องกันการตีกันของยาที่ทาน

นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตว่า เมื่อทานยาหลายๆชนิดแล้ว มีอาการอะไรที่ผิดปกติเกิดขึ้นบ้าง เพราะบางครั้งอาการผิดปกติ หรือการตีกันของยานั้น อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ดัง นั้นต้องคอยสังเกตให้ดีเพื่อแจ้ง แพทย์ เภสัชกร และพยาบาล

กรณีไหนที่ควรต้องหยุดกินยาที่แพทย์สั่ง?

กรณีมีการแพ้ยา เช่น ผื่นแดง คัน ลมพิษ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปากบวม เพราะเป็นอาการแพ้ยาที่รุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ ควรหยุดยา และ รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

สรุป

หลากหลายความเข้าใจผิด นำมาซึ่งปัญหาการดูแลสุขภาพ ผมหวังว่าทุกท่านเมื่ออ่านบทความนี้แล้ว จะสบายใจขึ้น ดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น โชคดีไม่มีโรคครับ