ความผิดปกติทางระบบประสาทเหตุเอชไอวี (HIV associated neurological disorders)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: Human immunodeficiency virus) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าโรคเอดส์ (AIDS: Acquired immunodeficiency syndrome) หรือโรคภูมิ คุ้มกันบกพร่องนั้น เป็นโรคที่น่ากลัว เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาการติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection) ได้บ่อยในอวัยวะเกือบทุกระบบของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต การติดเชื้อต่างๆทั้งจากตัวเชื้อเอชไอวีเอง และจากเชื้อฉวยโอกาส ก็ยังส่งผลให้ผู้ ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเพิ่มได้อีก ทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system: CNS), และในระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system: PNS )

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงทางระบบประสาทกรณีติดเชื้อเอชไอวี มีอะไรบ้าง มีอาการผิดปกติอย่างไร รักษาหายได้หรือไม่ เรามาทำความรู้จักกันครับ

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวีคืออะไร?

ความผิดปกติทางระบบประสาทเหตุเอชไอวี

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวี คือ ความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเกิดจากตัวเชื้อเอชไอวีเอง และ/หรือจากเชื้อฉวยโอกาส โดยอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในระยะแรกของการติดเชื้อ หรือในระยะสุดท้าย เช่น ภาวะรากประสาทอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute inflammation demyelination polyradiculopathy: AIDP), ภาวะติดเชื้อราในสมอง (CNS cryptococcal infection) เป็นต้น

สาเหตุภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวีเกิดจากอะไร?

สาเหตุของภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวี ผู้เขียนขอแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • จากระบบประสาทติดเชื้อเอชไอวี เช่น ภาวะสมองเสื่อมจากติดเชื้อเอชไอวี (HIV-dementia หรือ HIV-encephalopathy) เป็นต้น
  • จากระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น
  • จากโรคอื่นๆทางระบบประสาทที่ไม่ใช่จากติดเชื้อเอชไอวี หรือติดเชื้อฉวยโอกาส โดยเป็นโรคทางระบบประสาทอื่นๆที่พบได้ในคนทั่วไป เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก เป็นต้น แต่โรคเหล่านี้เมื่อเกิดในผู้ป่วยเอชไอวี จะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ลักษณะอาการของผู้ป่วย และการรักษาแตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี

อนึ่ง ทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะแยกเขียนรายละเอียดของแต่ละกลุ่ม ในแต่ละบทความแยกต่างหาก ในเว็บ haamor.com ได้แก่ บทความเรื่อง ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี, เรื่อง ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี, และเรื่องโรคอื่นๆทางระบบประสาทในเอชไอวี ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเอชไอวี และ โรคลมชักในผู้ป่วยเอชไอวี

เชื้อเอชไอวีก่อภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนต่อระบบประสาทที่เกิดจากตัวเชื้อเอชไอวีเอง ที่พบได้ ได้แก่

  • ภาวะสมองเสื่อมเหตุติดเชื้อเอชไอวี (HIV-dementia หรือ HIV-encephalopathy)
  • ภาวะไขสันหลังเสื่อมเหตุติดเชื้อเอชไอวี (HIV-1-associated myelopathy หรือ Vacuolar- myelopathy)
  • เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเหตุติดเชื้อเอชไอวี (Neuropathic associated with HIV)

การติดเชื้อฉวยโอกาสในระบบประสาทเหตุเอชไอวีเกิดจากเชื้ออะไร?

เชื้อฉวยโอกาสที่ก่อการติดเชื้อในระบบประสาท (ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี) ที่จัดเป็นภาวะ แทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวีอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่

  • สมองอักเสบ จากติดเชื้อปรสิต Toxoplasma, จากติดเชื้อรา Cryptococcus, จากติดเชื้อวัณโรค, และจากการติดเชื้อไวรัส CMV (Cytomegalovirus) และไวรัส JC (John Cunning ham virus)
  • การติดเชื้อ CMV ของรากประสาท และของไขสันหลัง

โรคอื่นทางระบบประสาทในผู้ป่วยเอชไอวีมีอะไรบ้าง?

โรคอื่นทางระบบประสาทในผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งจัดเป็นภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทได้อีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน ได้แก่

  • โรคที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากติดเชื้อเอชไอวี (เช่น มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ) แล้วภาวะแทรกซ้อนนั้นๆส่งผลให้เกิดเป็นโรคต่างๆในระบบประสาท ได้แก่ โรคลมชัก, โรคหลอดเลือดสมอง, เนื้องอกสมอง , มะเร็งสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมองจากโรคร่วมต่างๆ (โรคที่เกิดร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวี เช่น โรคเบาหวาน) เช่น ภาวะติดเชื้อในสมองที่ไม่ใช่จากเชื้อฉวยโอกาส, การอักเสบของเนื้อสมองกรณีโรคเบาหวาน และ/หรือมีไขมันในเลือดสูง
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ Immune reconstitution inflammatory syndrome (IRIS)

ผู้ป่วยเอชไอวีรายใดมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท?

ผู้ป่วยเอชไอวี ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (ยกเว้นกลุ่มอาการ IRIS ที่เกิดจากการได้ยาต้านไวรัส) ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีปริมาณเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก, ขาดสาร อาหาร, มีเม็ดเลือดขาวชนิด ซีดี4 (CD4) มีจำนวนต่ำ, ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส, และไม่ได้รับยาป้องกันการติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งยาป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวีเหล่านี้ก่ออาการอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวี ก่อให้เกิดอาการหลายกลุ่มอาการ ดังนี้

  • กลุ่มอาการเยื่อสมองอักเสบ (Meningitis) ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดตึงต้นคอ
  • กลุ่มอาการสมองอักเสบ (Encephalitis) ได้แก่ ไข้ ซึม สับสน ชัก แขน ขาอ่อนแรง
  • กลุ่มอาการฝีสมอง หรือก้อนในสมอง (Abscess หรือ Mass lesion) ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง ไข้ ซึม
  • กลุ่มอาการสมองเสื่อม (AIDS dementia complex) ได้แก่ อาการความจำลดลง พฤติ กรรมผิดปกติ
  • กลุ่มอาการไขสันหลังเสื่อม (Vacuolar myelopathy) ได้แก่ อาการอ่อนแรงเฉพาะขาสองข้าง ปัสสาวะลำบาก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ชาลำตัวและขาสองข้าง
  • กลุ่มอาการเส้นประสาทส่วนปลายและรากประสาทอักเสบ (Polyradiculopathy) ได้แก่ อาการปวด ชา ร้อน และอ่อนแรง ของขา เท้า ฝ่าเท้า
  • กลุ่มอาการ ไข้ ซึม สับสน ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เมื่อได้รับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี (Immune reconstitution inflammatory syndrome: IRIS)
  • กลุ่มอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้แก่ แขน ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด คิดคำพูดไม่ออก
  • อาการชัก (Epilepsy) อาจร่วมกับ อาการไข้ แขน ขาอ่อนแรง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

กรณีผู้ป่วยเอชไอวี ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นที่รุนแรง หรือไม่ดีขึ้นเมื่อรักษาตนเองเบื้อง ต้น หรือมีอาการชัก อาการแขนขาอ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวีได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนนี้ได้ โดยจะใช้ข้อมูลจากอาการผิดปกติต่างๆ การตรวจร่างกาย ร่วมกับผลการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง ตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (ซีเอสเอฟ/CSF), ตรวจระดับเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี 4, และอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวีรักษาอย่างไร?

การรักษาภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ขึ้นกับภาวะแทรกซ้อนนั้นๆ เช่น การติดเชื้อวัณโรค ก็ให้ยาต้านวัณโรค และ เมื่อให้การรักษาจนหายดีแล้ว ก็จำเป็นต้องให้ยาต้านวัณโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำอีก ซึ่งจะแตกต่างกับการรักษาในผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ผลการรักษาภาวะแทรกซ้อนนี้ ขึ้นกับ ชนิดของภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อรา เชื้อวัณโรค สามารถรักษาหายได้ แต่ต้องให้ยาป้องกันการติดเชื้อซ้ำไปตลอดชีวิต แต่ถ้าเป็นภาวะสมองเสื่อม ไขสันหลังเสื่อม การรักษาได้ผลไม่ดี การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการ

โดยสรุป การพยากรณ์โรคเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค, ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท, ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดในอวัยวะระบบอื่นๆ, และระยะของโรคเอชไอวี

โดยทั่วไปการติดเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อวัณโรค ผู้ป่วยจะสามารถมีอายุอยู่ได้อีกนาน(หลายปี) แต่ถ้าเป็นกลุ่มอาการสมองเสื่อม หรือไขสันหลังเสื่อมนั้น มักจะเกิดขึ้นในระยะสุด ท้ายของโรคเอชไอวี ดังนั้นผู้ป่วยจะมีอายุอยู่ได้อีกไม่นาน (ไม่กี่เดือน)

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่เหมาะสม คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ทานยาทุกชนิดที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ทั้งนี้รวมถึงยาต้านไวรัสด้วย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ทานอาหารที่สุกที่ทำใหม่
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อดูแลตนเองให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
  • ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชนที่มีคนมาก เพราะจะเกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย ถ้าจำเป็นต้องพบปะคนจำนวนมาก หรือไปในสถานที่แออัด ควรใช้หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้คนหรือสถานที่เหล่านั้น
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดสม่ำเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ อาการต่างๆเลวลง มีอาการใหม่เกิดขึ้น เมื่อแพ้ยา เช่น กรณีได้ยาชนิดใหม่ที่ไม่เคยได้มาก่อน แล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น ผื่นคัน ลม พิษ และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

การดูแลของญาติต่อผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญมาก การดูแลประกอบด้วยการให้กำลังใจซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า ซึมเศร้า ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดี เมื่อผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีแล้ว การรักษาโรค หรือภาวะแทรกซ้อนที่พบ ก็ทำได้ง่ายขึ้น ความสม่ำเสมอในการรักษาดีขึ้น, ควรดูแลและให้คำแนะนำเรื่องการทานยา การพักผ่อน จัดหาอา หารที่สุก สะอาด และมีคุณค่าทางโภชนาการ, และถ้าพบว่า ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติไปจากเดิม ก็ควรรีบพาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอชไอวีได้อย่างไร?

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนฯเหล่านี้ที่ดีที่สุด จะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • การพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
  • ทานยาต้านไวรัสและยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • ป้องกันการติดเชื้อต่างๆด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)