คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- คลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- คลอโรไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คลอโรไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คลอโรไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คลอโรไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คลอโรไทอะไซด์อย่างไร?
- คลอโรไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?
- คลอโรไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- เกาต์ (Gout)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาคลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide หรือ คลอโรไทอะไซด์โซเดียม/Chlorothiazide sodium) คือ ยาประเภทกลุ่มยาขับปัสสาวะ ทางแพทย์ได้นำมาร่วมรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคความดันโลหิตสูง, ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย, รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นของยานี้จะเป็นลักษณะเป็นยาชนิดรับประทาน
ยาคลอโรไทอะไซด์ ดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ค่อนข้างน้อย เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาสามารถซึมผ่านรกและมีปริมาณยาเล็กน้อยที่ซึมผ่านเข้าในน้ำนมของมารดา และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 45 - 120 นาทีเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ข้อจำกัดของการใช้ยานี้มีกับผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ผู้ป่วยด้วยภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด รวมถึงการใช้ยาอื่นๆอยู่ก่อนหน้านี้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของการใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ ผู้ป่วยควรต้องผ่านการตรวจคัดกรองและใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
คลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาคลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาบรรเทาภาวะหัวใจล้มเหลว
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
คลอโรไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอโรไทอะไซด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่เนื้อเยื่อไต/หน่วยไต (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไต) โดยลดการดูดกลับเข้าหลอดเลือดของสารเกลือแร่จากน้ำปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการขับเกลือโซเดียมในรูปแบบโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) และขับน้ำออกจากร่างกายได้มากขึ้น จากกลไกนี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตและลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
คลอโรไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคลอโรไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/ขวด
คลอโรไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคลอโรไทอะไซด์ ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะใช้สำหรับลดความดันโลหิตสูงและลดอาการบวมน้ำของร่างกาย มีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 500 - 1,000 มิลลิกรัมครั้งเดียว หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุมากกว่า 6 เดือน : รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันครั้งเดียว หรือแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง โดยต้องอยู่ในคำสั่งใช้ยาและในการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- เด็กทารก - เด็กอายุ 6 เดือน: รับประทานประมาณ 10 - 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง, โดยต้องอยู่ในคำสั่งการใช้ยาและในการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ:
- สามารถกินยานี้ได้ก่อนอาหาร หลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอโรไทอะไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอโรไทอะไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคลอโรไทอะไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
คลอโรไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคลอโรไทอะไซด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดังนี้เช่น
- เกิดภาวะเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- น้ำตาลในเลือดสูง
- กระหายน้ำ
- มีอาการโรคเกาต์ กำเริบ
- ปากคอแห้ง
- อ่อนเพลีย
- ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นตะคริว
- เบื่ออาหาร
- อาจเกิดอาการลมชัก
- ความดันโลหิตต่ำ
- รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- อาจเกิดการแพ้ยา
- เกิดภาวะดีซ่าน
- ตับอ่อนอักเสบ
- การตรวจปัสสาวะ: อาจพบมีน้ำตาลปนมากับปัสสาวะ
- ผิวแพ้แสงแดด
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
มีข้อควรระวังการใช้คลอโรไทอะไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง, ผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด, ผู้ป่วยที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง, และผู้ป่วยด้วยอาการโรคแอดดิสัน (Addison’s disease: โรคการทำงานผิดปกติของต่อมหมวกไต)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยโรคเกาต์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวระยะรุนแรง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องคอยตรวจควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอโรไทอะไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คลอโรไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคลอโรไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ ร่วมกับ ยา Amiodarone สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจ เต้นผิดจังหวะ รวมถึงมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเช่น วิงเวียน เป็นลม อ่อนเพลีย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการ ใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับยา Cisapride ด้วยจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อผู้ป่วยติดตามมา
- การใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ ร่วมกับ ยา Lithium อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก Lithium มากขึ้นเช่น พบอาการ ท้องเสีย อาเจียน ง่วงนอน มีอาการตัวสั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะมากขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ก่อนการใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?
สามารถเก็บยาคลอโรไทอะไซด์:
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
คลอโรไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคลอโรไทอะไซด์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Diuril Injection (ไดยูริล อินเจ็คชั่น) | OVATION PHARMACEUTICALS |
Diuril suspension (ไดยูริล ซัสเพนชั่น) | MERCK and CO Info |
Chlorothiazide tablet, USP (คลอโรไทอะไซด์ แท็ปเบลท, ยูเอสพี) | Mylan Pharmaceuticals Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorothiazide [2021,May1]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/chlorothiazide?mtype=generic [2021,May1]
- https://www.drugs.com/cdi/chlorothiazide-injection.html [2021,May1]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/chlorothiazide?mtype=generic [2021,May1]
- https://www.drugs.com/dosage/chlorothiazide.html#Usual_Adult_Dose_for_Edema [2021,May1]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/chlorothiazide-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May1]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682341.html#storage-conditions [2021,May1]
- https://www.drugs.com/chlorothiazide-images.html [2021,May1]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/diuril [2021,May1]
- https://reference.medscape.com/drug/diuril-chlorothiazide-342411 [2021,May1]
- https://www.google.co.th/search?q=chlorothiazide+tablet+image&rlz=1C2GIWA_enTH602TH602&biw=1920&bih=955&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ei=c67uVM3UGYuwuASWv4BY&ved=0CBsQsAQ [2021,May1]