คลอโรไซลีนอล (Chloroxylenol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/น้ำยา/สาร/สารเคมี คลอโรไซลีนอล(Chloroxylenol หรือ Para-chloro-meta-xylenol ย่อว่า PCMX ) เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ยับยั้งและต่อต้านเชื้อโรค ทางคลินิกนำมาใช้เป็นเวชภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดผิวหนัง ทำความสะอาดแผลและเครื่องมือทางการแพทย์ ลักษณะการใช้งานอาจผสมน้ำหรือผสมแอลกอฮอล์เพื่อเจือจางให้ได้ความเข้มข้นที่เหมาะสม การได้รับสารคลอโรไซลีนอลเข้มข้นเข้าสู่ร่างกายสามารถก่อให้เกิดพิษอย่างรุนแรง ในต่างประเทศอย่างออสเตรเลียได้นำน้ำยาคลอโรไซลีนอลมาผลิตเป็นสเปรย์สำหรับฉีดไล่และกำจัดคางคก ในบ้านเราจะพบเห็นการใช้สารประกอบชนิดนี้ในลักษณะของ สารละลายหรือครีมทาบาดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค อย่างพวกแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา

เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ไม่แนะนำให้ทิ้งผลิตภัณฑ์สาร คลอโรไซลีนอลลงในแม่น้ำลำคลองโดยตรง ห้ามรับประทาน ห้ามไม่ให้เข้าตา เข้าปาก เข้าจมูก หรือการสูดดมโดยตรงก็จะเป็นอันตรายต่อระบบการหายใจได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ควรเรียนรู้ก่อนนำยา/สารคลอโรไซลีนอลมาใช้งาน เช่น

  • กรณีสารชนิดนี้เข้าตา ต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที นาน 15 นาทีขึ้นไป โดยสามารถใช้วิธีเปิดน้ำประปาสะอาดจากท่อน้ำเพื่อล้างตาโดยปรับแรงดันน้ำที่เหมาะสม ห้ามใช้แรงดันน้ำมากจนอาจทำอันตรายต่อตา หลังการล้างตาแล้ว อาการ ยังไม่ดีขึ้น เช่น มีการแสบระคายเคืองตามากขึ้น ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีสารคลอโรไซลีนอลสัมผัสผิวหนัง สามารถล้างออกด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที ในทางปฏิบัติ แนะนำใช้ชำระล้างด้วยน้ำนาน 15 นาทีขึ้นไป กรณีที่ยังรู้สึกระคายเคืองที่ผิวหนัง สามารถใช้ครีมหรือโลชั่นที่เพิ่มความชุ่มชื้นกับผิวหนัง ทาให้กับผิวหนังโดยทาเพียงบางๆเฉพาะกับผิวหนังที่สัมผัสสารนี้
  • *กรณีกลืนสารประกอบชนิดนี้ ไม่แนะนำให้แก้ไขด้วยตนเองโดยการกระตุ้นให้อาเจียน แต่ควรรีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือโดยหัตถการทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม

ในด้านเภสัชภัณฑ์ โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้สารคลอโรไซลีนอลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย ปัจจุบัน มีการใช้สารคลอโรไซลีนอลทั้งในสถานพยาบาลหรือนำมาใช้ทำความสะอาดสุขภัณฑ์ตามบ้าน ผู้บริโภค/ผู้ป่วย สามารถเรียนรู้การใช้สารคลอโรไซลีนอลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจากคู่มือการใช้งานหรือเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์

ปัจจุบัน ในตลาดยาของเรา สามารถพบเห็นสารคลอโรไซลีนอลถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Dettol”

คลอโรไซลีนอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คลอโรไซลีนอล

สารคลอโรไซลีนอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดยเป็นสารประกอบที่มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต การแพร่กระจายของเชื้อโรค อย่างเช่น แบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา สามารถนำไปทำความสะอาดผิวหนัง ทาบาดแผลที่มีลักษณะบาดเจ็บเล็กน้อยอย่าง แผลถลอก แผลจากของมีคม หรือนำมาใช้ทำความสะอาดเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงสุขภัณฑ์ภายในครัวเรือน โดยต้องใช้งานอย่างถูกต้อง เหมาะสมตรงตามคำแนะนำ/เอกสารกำกับยา/กำกับผลิตภัณฑ์

คลอโรไซลีนอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เมื่อสารคลอโรไซลีนอลสัมผัสกับเชื้อโรค จะทำให้ระบบการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นการสังเคราะห์ส่วนประกอบสำคัญภายในเซลล์ กระบวนการแบ่งเซลล์เพื่อขยายพันธุ์ หยุดชะงักลง ด้วยกลไกการออกฤทธิ์เหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ

คลอโรไซลีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สาร/ยา/น้ำยาคลอโรไซลีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • สารละลายที่ประกอบด้วย Chloroxylenol เข้มข้น 4.8% โดยมีขนาดบรรจุตั้งแต่ 50 มิลลิลิตร–1.2 ลิตร
  • ยาครีมทาผิวหนังภายนอกที่ประกอบด้วยตัวยา Chloroxylenol 0.3%+ Triclosan 0.3%+ Edetic acid 0.2%

คลอโรไซลีนอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

สาร/ยาคลอโรไซลีนอล มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. กรณีสารละลาย: ให้เจือจางด้วยน้ำสะอาดจนได้สารละลายที่มีความเข้มข้นตามคู่มือการใช้งานที่กำกับมากับผลิตภัณฑ์/เอกสารกำกับยา จากนั้นจึงใช้ล้างบาดแผลตามหัตถการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง

*ห้ามใช้สารละลายคลอโรไซลีนอลเข้มข้นในการล้างผิวหนัง

ข. กรณียาครีม: ทาบาดแผลที่มีลักษณะการบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น แผลถูกของมีคม แผลถลอก

อนึ่ง:

  • ควรศึกษาข้อมูลการใช้งานของสารประกอบคลอโรไซลีนอลจากเอกสารกำกับยา ให้เข้าใจ ก่อนนำมาใช้งานจริง รวมถึงวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่ออวัยวะของร่างกายสัมผัสกับสารชนิดนี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมสาร/สารเคมี/ยาคลอโรไซลีนอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยา/ใช้สารเคมีแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/ใช้สารเคมีอะไรอยู่ เพราะยา/สารคลอโรไซลีนอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา/สารเคมีอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยา/สารเคมีหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

คลอโรไซลีนอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยา/สารคลอโรไซลีนอลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ภายนอกร่างกายเท่านั้น จึงยังไม่พบมีรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา/สารคลอโรไซลีนอลกับยารับประทานชนิดใดๆ หรือเกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)เมื่อใช้ยานี้/สารนี้อย่างถูกต้องตามเอกสารกำกับยา/กำกับผลิตภัณฑ์

มีข้อควรระวังการใช้คลอโรไซลีนอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้สาร/ยาคลอโรไซลีนอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้/แพ้สารนี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้สาร/ยานี้ด้วยตนเอง และใช้สาร/ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ/ตามเอกสารกำกับยา
  • ห้ามใช้ยา/สารนี้ที่หมดอายุ หรือยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สี และ/หรือกลิ่นเปลี่ยนไป
  • ห้าม กลืน ห้ามเข้าตาหรือสัมผัสกับตา ปาก จมูก และหลีกเลี่ยงการสูดดมสารนี้โดยตรง
  • ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์นี้ลง แม่น้ำ คู คลอง โดยตรง ด้วยอาจจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ปลา ที่อาศัยอยู่ได้
  • ศึกษาคู่มือการใช้งานอย่างเข้าใจ และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้ยา/สารนี้อย่างถูกต้อง รวมถึงศึกษาขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารเคมีนี้เข้า ร่างกาย
  • กรณีที่ใช้ยา/สารนี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามใช้ยา/สารที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยา/สารที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา/สารเคมีต่างๆ”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมผลิตภัณฑ์คลอโรไซลีนอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คอโรไซลีนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยา/สารคลอโรไซลีนอลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ภายนอกร่างกาย จึงยังไม่พบเห็น/มีรายงานเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา/สารคลอโรไซลีนอลกับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาคลอโรไซลีนอลอย่างไร?

ควรเก็บยา/สารคลอโรไซลีนอลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยา/สารนี้ในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยา/สารนี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยา/สารนี้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยานี้/สารนี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

คลอโรไซลีนอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

สาร/ยา/น้ำยาคลอโรไซลีนอล มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dettol (เดทตอล)Reckitt Benckiser
Dettol Antiseptic Cream (เดทตอล แอนตี้เซพติก ครีม)Reckitt Benckiser

อนึ่ง ชื่อการค้าอื่นของผลิตภัณฑ์นี้ในต่างประเทศ เช่น Dermex, Detmed

บรรณานุกรม

  1. http://www.sciencelab.com/msds.php?msdsId=9923450[2017,July15]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/dettol/?type=brief[2017,July15]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/dettol%20antiseptic%20cream/?type=brief[2017,July15]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Chloroxylenol[2017,July15]
  5. http://cmr.asm.org/content/12/1/147.full[2017,July15]