คลอราซีเพท (Clorazepate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลอราซีเพท (Clorazepate) หรือคลอราซีเพท ไดโปแตสเซียม (Clorazepate dipotas sium) เป็นยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ทางคลินิกได้นำมารักษาอาการวิตกกังวล ใช้เป็นยากันชัก ยาช่วยสงบประสาท (ยาคลายเครียด) ยาทำให้นอนหลับ (ยานอนหลับ) รวมถึงเป็นยาช่วยคลายกล้ามเนื้อ (ยาคลายกล้ามเนื้อ) ได้ด้วย นอกจากนี้ยังนำไปใช้บำบัดอาการของผู้ที่ติดสุรา รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานที่เป็นแบบปลดปล่อยตัวยาทันที กับเป็นแบบควบคุมการปลดปล่อยตัวยาให้ค่อยเป็นค่อยไป

ตัวยาคลอราซีเพทสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ถึงประมาณ 91% จากนั้นตัวยาจะถูกลำเรียงไปทำลายที่ตับ ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

โดยทั่วไปในช่วงเริ่มต้นการรักษาแพทย์อาจให้ยาคลอราซีเพทในขนาดต่ำก่อนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองต่อยาของตัวผู้ป่วย หลังจากนั้นจึงอาจมีการปรับขนาดยาให้สูงขึ้น

ยาคลอราซีเพทมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะไปชะลอการเคลื่อนย้ายและการทำงานของสารสื่อประสาทต่างๆในสมอง เป็นผลให้ลดความวิตกกังวล และอาจส่งผลให้มีอาการง่วงนอน และผ่อนคลายการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อตามมา ยานี้ใช้ได้กับทั้งผู้ใหญ่เด็กและรวมถึงผู้สูงอายุ

ข้อห้ามทางคลินิกของการใช้ยาคลอราซีเพทได้แก่

  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาคลอราซีเพทมาก่อน
  • ป่วยด้วยโรคต้อหิน หรือโรคตับระยะรุนแรง
  • ผู้ป่วยมีการใช้ยา Sodium oxybate อยู่ก่อนก็ถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้อีกเช่นกัน

สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาคลอราซีเพทซึ่งควรหลีกเลี่ยงหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์

ผู้ป่วยที่มีประวัติทำร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าตัวตายก็จัดเป็นอีกกลุ่มที่ต้องระวังการใช้ยานี้เป็นอย่างมาก

ทั่วไปสามารถรับประทานยาคลอราซีเพทนี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่การหยุดใช้ยานี้ทันทีอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงตามมา ซึ่งอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาคลอราซีเพท อย่างเช่น ตาพร่า วิงเวียน ง่วงนอน โดยหากเกิดอาการเหล่านี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้การใช้ยานี้นานเกินไปสามารถส่งผลให้ติดยานี้ได้ หรือผู้ใดรับประทานยานี้เกินขนาดก็อาจพบอาการรู้สึกสับสน หลับลึก ง่วงนอน การทรงตัวด้อยลง มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆช้าลง

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้ยาคลอราซีเพทเป็นยา/วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 4 การใช้ยานี้จะต้องมีใบสั่งจ่ายจากแพทย์กำกับเท่านั้น และจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้นเช่นกัน ไม่สามารถหาซื้อยานี้จากร้านขายยาได้โดยทั่วไป

คลอราซีเพทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คลอราซีเพท

คลอราซีเพทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังนี้

  • บำบัดอาการติดสุราเรื้อรัง
  • บำบัดและควบคุมอาการโรคลมชัก
  • ช่วยคลายความวิตกกังวล

คลอราซีเพทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอราซีเพทคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor) ในสมองที่มีชื่อว่า เบนโซไดอะซีปีน รีเซพเตอร์ (Benzodiazepine receptor) ส่งผลเพิ่มการส่งผ่านเกลือคลอไรด์ (Chloride) ในเซลล์สมองและนำมาซึ่งสมดุลทางเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทดีขึ้นตามสรรพคุณ

คลอราซีเพทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

คลอราซีเพทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/แคปซูล

คลอราซีเพทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคลอราซีเพทมีขนาดรับประทานเช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการติดสุราและโรคลมชัก:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 90 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุ 9 - 12 ปี: รับประทาน 60 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี: ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่แน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็กวัยนี้ ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ผู้สูงอายุ: ให้เริ่มรับประทานยานี้ในขนาดต่ำๆตามดุลยพินิจของแพทย์

ข. สำหรับคลายความวิตกกังวล:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 7.5 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง เช้า - กลางวัน - เย็น
  • ผู้สูงอายุ: ให้เริ่มรับประทานในขนาดต่ำตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่แน่ชัดถึงขนาดยานี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง: สามารถรับประทานยาคลอราซีเพทก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคลอราซีเพท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอราซีเพทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคลอราซีเพทสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาคลอราซีเพทตรงเวลา และการลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะถอนยาตามมา

คลอราซีเพทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอราซีเพทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้

  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น มีอาการนอนไม่หลับ มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง ซึมเศร้า
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ อาการสั่น พูดไม่ชัด
  • ผลต่อตับ: เช่น ก่อให้มีภาวะตับทำงานผิดปกติ (ตับอักเสบ)
  • ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ (ไตอักเสบ)
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบผื่นคัน
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ลดแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำได้

มีข้อควรระวังการใช้คลอราซีเพทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอราซีเพทเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ปี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้ทันทีโดยไม่ปรึกษาแพทย์ด้วยจะทำให้เกิดภาวะถอนยาตามมา
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอาชีพขับขี่ยานพาหนะต่างๆหรือผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร
  • ระหว่างใช้ยานี้ครอบครัวควรต้องคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมผู้ป่วยว่ามีแนวโน้มอยากทำร้ายตนเองหรือคิดฆ่าตัวตายหรือไม่
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีใช้ยานี้ไปแล้วตามระยะเวลาที่เหมาะสม (เช่น 1 – 2 สัปดาห์) แต่อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลงควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
  • พาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอราซีเพทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คลอราซีเพทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลอราซีเพทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคลอราซีเพทร่วมกับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด (Narcotic analgesics), ยากลุ่ม Barbititurates, Phenothiazines, ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines), ยากลุ่ม MAOIs, ยานอนหลับชนิดต่างๆ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ทางสมอง/ทางระบบประสาท มากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาคลอราซีเพทร่วมกับยา Sodium oxybate ด้วยอาจทำให้มีภาวะกดการหายใจตามมาเช่น หายใจเบา หายใจช้า หายใจตื้นๆ จนถึงอาจหยุดหายใจ
  • กรณีใช้ยาคลอราซีเพทร่วมกับยา Olanzapine อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นแผ่ว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ง่วงนอน วิงเวียน และพูดไม่ชัด หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาคลอราซีเพทอย่างไร?

ควรเก็บยาคลอราซีเพทในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

คลอราซีเพทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอราซีเพทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anxene (แอนซีน)Utopian
Cexene (เซ็กซีน)TMN Impex
Deda (ดีดา)H K Pharm
Dopam (โดแพม)L.B.S.
Flulium (ฟลูเลียม)Central Poly Trading
Frexene (เฟร็กซีน)Life Concern
Polizep (โพลิเซพ)Polipharm
Sanor (ซานอร์) Biolab
Tenmed (เทนเมด) Inpac Pharma
Trancon (ทรานคอน) Condrugs
Tranxene (ทรานซีน)sanofi-aventis
Uptran (อัพทราน)Upson
Upzene (อัพซีน)Medicpharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Clorazepate [2016,June18]
  2. http://www.drugs.com/cdi/clorazepate.html [2016,June18]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/clorazepate/?type=brief&mtype=generic [2016,June18]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=clorazepate [2016,June18]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/clorazepate-index.html?filter=3&generic_only= [2016,June18]