คลอดบุตรยาก (Fetal dystocia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะคลอดบุตรยากคืออะไร?

ภาวะคลอดยาก หรือ คลอดบุตรยาก หรือ คลอดลูกยาก (Fetal dystocia หรือ Dystocia หรือ Obstructed labor) เป็นคำกล่าวรวมๆ หมายถึง การคลอดบุตรที่ไม่ได้ดำเนินไปตามปกติ มีความยากลำบากในการคลอดบุตรทางช่องคลอด ระยะเวลาในการดำเนินไปสู่การคลอดยาวนานกว่าปกติ ซึ่งต้องนำไปสู่การทำหัตถการต่างๆเพื่อช่วยในการคลอด เช่น ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ(Vacuum extraction) การใช้คีมช่วยคลอด(Forcep extraction delivery) และการผ่าตัดคลอด ทำให้มีโอกาสเกิด ผลข้างเคียงหรือผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกในภาวะที่มีการคลอดยากเพิ่มมากขึ้นด้วย

อนึ่ง ภาวะคลอดบุตรยากพบได้ในอัตราที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยทั่วไปพบได้ประมาณ 0.3-1%ของการคลอดปกติทางช่องคลอด

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะคลอดบุตรยากมีอะไรบ้าง?

คลอดบุตรยาก

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะคลอดบุตรยาก ได้แก่

1. ทารกตัวโตเกินไปในขณะที่ช่องเชิงกรานมารดาแคบผิดปกติ หรือทารกขนาดตัวขนาดปกติ แต่เชิงกรานมารดาแคบ ทำให้ไม่ได้สัดส่วนระหว่างขนาดศีรษะทารกกับความกว้างของช่องเชิงกราน(Cephalo-pelvic disproportion) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการคลอดยากที่พบมากที่สุด

2. ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติโดยที่ขนาดตัวทารกปกติ เช่น ทารกอยู่ในท่าขวาง(ทารกท่าขวาง)ทำให้ไม่สามารถคลอดออกมาได้ หรือทารกอยู่ในท่าศีรษะ แต่มีการเงยหน้ามากกว่าปกติ(ท่าปกติทารกต้องก้มศีรษะมากที่สุด) จึงทำให้เส้นผ่าศูนย์ของศีรษะทารกยาวขึ้น ไม่สามารถที่จะคลอดผ่านช่องเชิงกรานมารดาออกมาได้

3. เนื้องอกมดลูกที่เกิดบริเวณส่วนล่างของมดลูก จึงส่งผลขัดขวางการคลอดทางช่องคลอด

4. มีความผิดปกติของช่องเชิงกราน เช่น กระดูกช่องเชิงกรานแตก การผ่าตัดบริเวณช่องเชิงกราน สามารถส่งผลให้ช่องเชิงกรานมีรูปร่างผิดปกติ ทำให้การคลอดผ่านช่องเชิงกรานลำบาก

5. การหดรัดตัวของมดลูกไม่ดีขณะดำเนินการคลอด จึงทำให้การคลอดดำเนินไปช้า

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีภาวะคลอดบุตรยากมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีภาวะคลอดบุตรยาก ได้แก่

1. อายุมารดามากหรือน้อยเกินไป ในสตรีที่อายุมากเกินไปนั้น การขยายตัวของเอ็นยึดกระดูกต่างๆไม่ดี ทำให้การยืดขยายไม่ดี ส่วนสตรีที่อายุน้อยเกินไป การพัฒนาของกระดูกเชิงกรานยังโตไม่เต็มที่

2. มารดาตัวเตี้ย ช่องเชิงกราน มักจึงมักจะแคบ

3. มารดาอ้วนมากเกินไป

4. มารดามีพยาธิสภาพอย่างอื่นในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกรังไข่

5. มารดาเคยได้รับการผ่าตัดกระดูกเชิงกรานจึงทำให้ช่องเชิงกรานผิดรูป

6. มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำให้ทารกมีขนาดโตกว่าทารกทั่วไปได้

7. เคยคลอดบุตรตัวโต

8. เคยมีภาวะคลอดบุตรยาก ต้องใช้เครื่องมือหรือหัตถการช่วยคลอดในครรภ์ก่อนๆ

9. มีความผิดปกติของมดลูก เช่น รูปร่างมดลูกผิดปกติแต่กำเนิด รวมทั้งการมีเนื้องอกมดลูกด้วย

ดูแลตนเองอย่างไรระหว่างตั้งครรภ์ที่คาดว่าจะมีภาวะคลอดบุตรยาก?

การดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ที่คาดว่าจะมีภาวะคลอดบุตรยาก เช่น ในผู้มีปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ” คือ

  • ควรต้องไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด กรณีมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น เจ็บครรภ์ มดลูกบีบรัดตัวถี่/บ่อยผิดปกติ

อนึ่ง ส่วนมากสตรีตั้งครรภ์มักไม่สามารถรู้ตัวก่อนว่าจะคลอดยากหรือไม่ รวมถึงไม่รู้ว่าทารกอยู่ท่าผิดปกติที่ทำให้เกิดการคลอดยากหรือไม่

แพทย์วินิจฉัยภาวะคลอดบุตรยากอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะคลอดบุตรยากได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: เมื่อไปฝากครรภ์ แพทย์จะพยายามซักถามเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดภาวะคลอดยาก หรือทำให้ทารกตัวโตเกินไป เช่น ความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีประวัติเคยคลอดทารกตัวโตมาก่อน มีประวัติเคยคลอดติดไหล่ การมีโรคหรือพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่

ข. การตรวจร่างกาย: เช่น ตรวจหรือคลำหน้าท้องว่า ทารกอยู่ในท่าปกติหรือไม่ มดลูกมีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่ ตรวจสอบว่าศีรษะทารกเคลื่อนเข้าสู่อุ้งเชิงกรานหรือยัง เพราะในครรภ์แรก ศีรษะทารกมักเคลื่อนเข้าสู่อุ้งเชิงกรานเมื่ออายุครบกำหนดโดยที่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอด(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดบุตร) แต่หากศีรษะยังลอยอยู่ ต้องระวังภาวะผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกกับอุ้งเชิงกราน ในกรณีเจ็บครรภ์คลอดแล้ว แพทย์จะมีการคำนวณน้ำหนักทารกในครรภ์จากการคลำโดยประมาณ สังเกตความก้าวหน้าของการดำเนินการคลอดด้วยการตรวจภายใน ตรวจคลำความแรงของการหดตัวของมดลูก ซึ่งทารกที่อยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าเงยหน้า หรือทารกตัวโตเกินไป อาจจะมีการดำเนินการคลอดหรือการเปิดขยายของปากมดลูก อาจช้ากว่าปกติ มีบ่อยครั้งที่แพทย์วินิจฉัยไม่ได้ว่า ทารกตัวโตเกินปกติจึงปล่อยให้การคลอดดำเนินต่อไป จนกระทั่งคลอดศีรษะทารกได้แต่คลอดลำตัวทารกไม่ได้ ที่เรียกว่าเกิดภาวะคลอดติดไหล่ ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ซึ่งหากวินิจฉัยได้แต่แรก มารดาจะถูกนำไปผ่าตัดคลอดเลย

ค. การตรวจอัลตราซาวด์มดลูก: หากการคลำทารกจากการคลำหน้าท้องไม่สามารถบอกท่าทารกได้ชัดเจน แพทย์สามารถใช้อัลตราซาวด์ตรวจภาพมดลูกเพื่อช่วยยืนยันท่าทารกก่อนที่จะคลอดได้ นอกจากนั้นการตรวจอัลตราซาวด์ ยังสามารถช่วยคำนวณน้ำหนักทารกได้ ซึ่งจะมีสูตรในการคำนวณน้ำหนักทารก

การรักษาภาวะคลอดบุตรยากมีอะไรบ้าง?

ในกรณีที่แพทย์คาดว่าสามารถให้คลอดทางช่องคลอดโดยไม่เป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารก เช่น ทารกตัวขนาดไม่โตแต่นอนตะแคง แพทย์อาจใช้นิ้วมือหมุนให้ศีรษะทารกกลับมาอยู่ในท่าก้มศีรษะ หรือใช้เครื่องดูดสุญญากาศในการช่วยคลอดศีรษะ ซึ่งสามารถหมุนศีรษะทารกได้ หรือในกรณีทารกนอนหงายอาจใช้เครื่องดูดสุญญากาศ หรือคีมช่วยคลอดศีรษะ ในรายที่การหดรัดตัวของมดลูกไม่ดี แพทย์จะให้ยากระตุ้นการหดตัวของมดลูก ส่วนกรณีที่มีการผิดสัดส่วนชัดเจน แพทย์จะทำการผ่าตัดคลอด

ส่วนมากปัญหาเกิดจากแพทย์วินิจฉัยไม่ได้ว่าจะเกิดภาวะคลอดยากหรือไม่ เพราะบางครั้งเป็นภาวะที่ก้ำกึ่งมาก ทำให้แพทย์ตัดสินใจลำบาก จึงปล่อยให้การคลอดดำเนินต่อไปและเกิดภาวะคลอดยาก หรือจนกระทั่งมีการหยุดชะงักของการคลอด ก็จะพิจารณานำไปผ่าตัดคลอด

ภาวะแทรกซ้อนหากมีภาวะคลอดบุตรยากมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)หากมีภาวะคลอดบุตรยาก ได้แก่

ก. การคลอดยากที่ทำให้เกิดอันตรายต่อแม่: เช่น

1. ทำให้ช่องทางคลอดฉีกขาด มารดาเสียเลือดมาก

2. เสี่ยงต่อการติดเชื้อแผลที่ช่องคลอดมาก เพราะเสียเลือดมาก เย็บซ่อมแซมแผลฝีเย็บใช้เวลานาน เนื้อเยื่ออวัยวะเพศชอกช้ำมาก จึงติดเชื้อง่าย

3. หากเสียเลือดมากและให้เลือดทดแทนจำนวนมาก หรือไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะเลือดออกทั่วร่างกาย (Disseminated intravascular coagulopathy ย่อว่า DIC)

4. เสี่ยงต่อการได้รับการใช้เครื่องมือช่วยคลอด ได้แก่ คีมช่วยคลอด เครื่องดูดสุญญากาศ

5. เสี่ยงต่อการได้รับการผ่าตัดคลอด

6. หากทารกตัวโต จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เสียเลือดมาก และเพิ่มโอกาสตกเลือดหลังคลอด

7. เสี่ยงต่อมดลูกแตก

ข. การคลอดยากทำให้เกิดอันตรายต่อตัวทารกเอง: เช่น

1. ร่างกายทารกชอกช้ำจากการคลอดยาก หรือจากหัตถการช่วยคลอดต่างๆ

2. การคลอดติดไหล่ (Shoulder dystocia) ทำให้มีภยันตรายต่อเส้นประสาทของแขน(Brachial plexus injury)ทารกจากกระบวนการช่วยคลอด ทำให้ทารกยกแขนหรือกำมือไม่ได้

3. เกิดความพิการทางสมองของทารกเนื่องจากคลอดยาก ส่งผลทำให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งความรุนแรงของอาการทางสมองขึ้นกับว่าขาดออกซิเจนนานเพียงใด

4. ทารกมีโอกาสเสียชีวิตได้

มีวิธีป้องกันภาวะคลอดบุตรยากอย่างไรบ้าง?

คงไม่สามารถป้องกันภาวะคลอดยากได้ทั้งหมด สิ่งที่อาจป้องกันได้ คือ

  • มีการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • ดูแลสุขภาพตนเองระหว่างตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เช่น ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร ไม่ควรให้น้ำหนักตัวมารดาเพิ่มมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์ และหากมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล แต่ ในกรณีที่มีปัญหาเรื่อง ช่องเชิงกราน เนื้องอกต่างๆ เช่น เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน เนื้องอกมดลูก เป็นสิ่งที่ป้องกันไมได้

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะมีภาวะคลอดบุตรยากอีกหรือไม่?

มีโอกาสเกิดภาวะคลอดยากได้ ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป หากไม่มีการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ได้กล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ”

ดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอดกรณีมีการคลอดบุตรยาก?

การดูแลตนเองหลังคลอดกรณีมีการคลอดบุตรยาก เช่นเดียวกับการดูแลตนเองในการคลอดปกติ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดบุตร) และร่วมกับ

กรณีมีความชอกช้ำของแผลฝีเย็บมากในกรณีคลอดทางช่องคลอด หรือมีการเสียเลือดมาก ต้องระวังการติดเชื้อแผลฝีเย็บ ด้วยการรักษาความสะอาดบริเวณแผลและอวัยวะเพศตามคำแนะนำของ แพทย พยาบาล และควรรับประทานยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์

ในกรณีที่ต้องผ่าตัดคลอด ต้องดูแลแผลผ่าตัดให้ได้ดี( อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร)

หลังคลอดบุตรยาก ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

โดยทั่วไป แพทย์จะนัดตรวจหลังคลอด 4-6 สัปดาห์

  • สตรีคลอดทางช่องคลอดหากมีการติดเชื้อที่แผลฝีเย็บ จะมีอาการปวดแผลฝีเย็บมากผิดปกติ แผลฝีเย็บมีหนอง หรือแผลไม่ติด ต้องไปรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
  • สตรีที่ผ่าท้องคลอด สังเกตว่า หากมีไข้ ปวดแผลผ่าตัดมาก มีหนองไหลจากแผล แผลผ่าตัดไม่ติด มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
  • นอกจากนั้น ในการคลอดทั้ง 2 กรณี ถ้ามีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ตกขาวเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น มีไข้ มี น้ำคาวปลา และ/หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ก็ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เช่นกัน

คุมกำเนิดหลังจากมีภาวะคลอดบุตรยากอย่างไร?

วิธี/การคุมกำเนิดหลังมีภาวะคลอดยาก จะเหมือนกับคนหลังคลอดปกติทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดบุตร)

มีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่?

การจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์หลังการคลอดยาก ควรรอให้แผลฝีเย็บหายสนิท หรือแผลผ่าตัดคลอดคลอดหายเป็นปกติ ก่อน และหากต้องการมีการคุมกำเนิด ควรนัดแพทย์มาคลุมกำเนิดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งโดยทั่วไป สามารถมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดทางช่องคลอด หรือหลังผ่าตัดคลอดประมาณ 6 สัปดาห์

สามารถตั้งครรภ์ต่อได้เลยหรือไม่หากครรภ์ที่แล้วมีภาวะคลอดบุตรยาก?

หลังมีภาวะคลอดยาก สตรีควรมีการคุมกำเนิด(การวางแผนครอบครัว) โดยเว้นระยะการตั้งครรภ์ไปก่อนประมาณ 2-3 ปี เหมือนสตรีหลังคลอดทางช่องคลอดและการผ่าตัดคลอดทั่วไป เพื่อการเลี้ยงดูบุตรคนแรกให้ได้เต็มที่

ทารกจากภาวะคลอดบุตรยากจะเป็นอย่างไร?

สภาพทารกจากการคลอดบุตรยาก ขึ้นกับว่าคลอดยากเพียงใด ต้องใช้คีมช่วยคลอด หรือเครื่องดูดสุญญากาศ หรือผ่าตัดคลอด ทารกชอกช้ำมากน้อยเพียงใด

  • หากทารกไม่มีอาการบาดเจ็บ ทารกจะเหมือนกับทารกคลอดทั่วไป รวมทั้งการดูแลก็เหมือนกับทารกหลังคลอดทั่วไปเช่นกัน
  • หากทารกซอกช้ำมาก แพทย์จะตรวจร่างกายทารกให้ละเอียดว่า มีร่างกายส่วนใดได้รับอันตรายจากการช่วยคลอดบ้าง ตรวจสอบดูว่า มีเส้นประสาทแขนได้รับบากเจ็บ(Brachial plexus injury)หรือไม่ การเคลื่อนไหวของแขนทารกเป็นไปตามปกติหรือไม่ มีอวัยวะภายในช่องท้องฉีกขาดหรือ ความรู้สึกตัวของทารกปกติหรือไม่ และให้การรักษาและมีการเฝ้าติดตามผลการรักษาทารกทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

บรรณานุกรม

  1. https://www.uptodate.com/contents/fetal-macrosomia?[2017,Aug12]
  2. https://www.uptodate.com/contents/normal-and-abnormal-labor-progression?[2017,Aug12]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Shoulder_dystocia[2017,Aug12]