คราบร้ายในช่องปาก (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

คราบร้ายในช่องปาก-2

      

      คราบหินปูน (Dental plaque / Tooth plaque / Microbial plaque / Dental biofilm) เป็นคราบสีใสจนถึงสีขาวออกเหลืองหรือสีครีมเกาะที่ฟันหรือที่เรียกว่า “ขึ้ฟัน”

      โดยหินน้ำลาย (Calculus) หรือ หินปูน (Tartar) เกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุที่เกิดจากน้ำลายและของเหลวในร่องเหงือก (Gingival crevicular fluid = GCF) จับตัวเป็นคราบเกาะแน่นกับผิวฟัน ซึ่งเราอาจพบคราบทั้งที่อยู่เหนือเหงือก (Supragingival) และใต้เหงือก (Subgingival)

      คราบเหล่านี้เมื่อเริ่มเกิดใหม่ๆ จะเกาะไม่ค่อยแน่นกับพื้นผิวฟัน ซึ่งกำจัดได้ง่ายโดยการแปรงฟันและขัดฟัน แต่หากทิ้งไว้นานคราบเหล่านั้นจะเกาะติดแน่น เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียซึ่งถูกหล่อเลี้ยงด้วยอาหารและเครื่องดื่มที่กินอยู่ทุกวัน ไม่สามารถเอาออกโดยการแปรงฟัน นอกจากการขูดหินปูนโดยทันตแพทย์

      ผู้ใหญ่ร้อยละ 68 จะมีหินปูนในช่องปาก โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมากได้แก่ ผู้ที่

- ใส่ที่ดัดฟัน (Braces)

- ปากแห้ง

- ฟันซ้อน (Crowded teeth)

- สูบบุหรี่

- สูงอายุ

      นอกจากนี้ การกินอาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น ขนมเค็ก ลูกกวาด และผลไม้ ก็เพิ่มโอกาสในการเกิดแบคทีเรียมากขึ้น

      เนื่องจากคราบนี้อาจไม่มีสี จึงทำให้สังเกตเองได้ยาก ดังนั้นเราจึงควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ คราบเหล่านี้อาจก่อให้เกิด

• ฟันผุ (Cavities) เพราะกรดที่เกิดจากแบคทีเรียสามารถทำลายเคลือบฟันได้

• โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) เพราะการสะสมของคราบแบคทีเรียเป็นสาเหตุทำให้เหงือกอักเสบ

• ลมหายใจมีกลิ่น (Bad Breath)

      ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดคราบสามารถทำได้ด้วยการ

1. พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อการตรวจสุขภาพและทำความสะอาดฟันด้วยการขูดหินปูน

2. ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรท์เพื่อต่อสู้กับแบคทีเรียในช่องปากและลดการสะสมของคราบ

3. ใช้ไหมขัดฟันทุกวันอย่างน้อยวันละครั้งเพื่อลดเศษอาหารและคราบที่อยู่ระหว่างฟัน

4. ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า (Electric Toothbrush) แปรงฟันอย่างน้อยครั้งละ 2 นาที และเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน

5. ใช้น้ำยาบ้วนปาก (Antiseptic mouthwash)

6. กินอาหารที่มีประโยชน์และลดปริมาณน้ำตาล ดื่มน้ำและแปรงฟันหลังอาหารเพื่อลดการสะสมของคราบ

7. อย่าสูบบุหรี่ เพราะมีงานวิจัยระบุว่ายาสูบทำให้เกิดคราบมากขึ้น

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Calculus (dental). https://en.wikipedia.org/wiki/Calculus_(dental) [2018, January 28].
  2. Dental Plaque and Tartar: Causes, Prevention, and Removal. https://crest.com/en-us/oral-health/conditions/tartar-plaque/plaque-tartar-causes-prevention-removal [2018, January 28].
  3. Tooth Plaque and Dental Tartar. https://oralb.com/en-us/oral-health/conditions/tartar-plaque/tooth-plaque-dental-tartar [2018, January 28].
  4. What is Tartar? 6 Tips to Control Buildup. https://www.webmd.com/oral-health/guide/tartar-dental-calculus-overview#1 [2018, January 28].