คนแคระ (ตอนที่ 1)

คนแคระ-1

      

ภาวะโภชนาการเด็กไทยที่เจริญเติบโตไม่เหมาะสมในช่วงวัยต่ำกว่า 5 ปี ส่งผลให้เกิดภาวะเตี้ย (Stunted) ผอม (Wasted) น้ำหนักน้อย (Underweight) และน้ำหนักเกิน (Overweight) โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ปี สาเหตุมาจากการขาดสมดุลด้านโภชนาการโดย ได้รับสารอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตไม่เพียงพอ

ข้อมูลจากการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 13 เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ระบุว่า สารอาหารที่เป็นปัญหาที่มีการบริโภคไม่เพียงพอบ่อยครั้งคือ สารอาหารกลุ่มรอง (Micronutrient) ได้แก่ แคลเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และสังกะสี

โดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยชี้ว่า เพื่อชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี เด็กจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจำเป็นครบถ้วนสมดุลเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา และช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการวางรากฐานสุขภาพดีให้ลูกก็คือในระยะเวลาหนึ่งพันวันแรกของชีวิต (แรกเกิดถึง 3 ปี)

รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเจริญเติบโตที่ไม่เหมาะสมในช่วงวัยเด็กเล็กมีผลเชิงลบต่อการพัฒนากระบวนการรู้คิดและสติปัญญาของเด็ก มีตัวอย่างการศึกษาผลระยะยาวในเด็กไทยที่ภาคใต้ พบว่า

เด็กที่เตี้ยถาวรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ขวบครึ่ง จะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่ไม่เคยเตี้ยเลยถึง 2.25 จุด เมื่อจำแนกภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมที่มีทั้งขาดและเกินตามอายุในช่วง 5 ปีแรก ภาวะที่พบสูงมากคือ โภชนาการเกินหรือภาวะน้ำหนักเกินในเด็ก และช่วงหลังขวบปีแรกคือวัย 1-3 ปี จะพบภาวะขาดโภชนาการส่งผลให้เด็กมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น โดยจะเห็นเส้นกราฟไต่ระดับคาบเกี่ยวกับภาวะน้ำหนักเกินที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

ภาวะโภชนาการเกินกำลังเป็นปัญหา หากปล่อยให้ลูกอ้วนไปเรื่อยตั้งแต่อายุ 3-6 ปี โอกาสเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานในเด็กจะสูงมาก ผลสำรวจพบว่ามีอัตราเสี่ยงถึง 1.6% และเมื่อโตเป็นวัยรุ่นก็จะเป็นวัยรุ่นที่เป็นเบาหวาน มีอัตราเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มากถึง 6.4%

การแก้ไขภาวะแคระแกร็นในเด็ก มีการศึกษาพบว่าถ้าจัดอาหารตามวัยให้ลูกกินได้หลากหลาย จะช่วยประกันได้ว่าเด็กเล็กตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจะได้รับสารอาหารเพียงพอ ทางองค์การยูนิเซฟจึงได้จัดทำตัววัดคุณภาพอาหารในแต่ละวันที่เด็กต้องได้รับควรเป็นอาหาร 4 ใน 7 กลุ่ม ดังนี้คือ

1. ข้าวและธัญพืชชนิดต่างๆ

2. ถั่วและพืชตระกูลถั่ว

3. นมและผลิตภัณฑ์นม

4. เนื้อสัตว์ ปลา หมู ตับ เครื่องใน

5. ไข่

6. ผักผลไม้ที่มีวิตามินเอสูง

7. ผลไม้อื่นๆ

สำหรับภาวะน้ำหนักเกิน พบว่ามาจากการที่เด็กเล็กได้รับโปรตีนมากกว่าความต้องการของช่วงวัยมากเกินไป มีความเสี่ยงที่จะอ้วนและเจ็บป่วยด้วยโรคในกลุ่ม NCD เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โดยมีคำแนะนำในทางวิชาการซึ่งกล่าวถึงในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ คือ ควรจำกัดปริมาณนมสำหรับเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้กินเกินวันละ 1-2 แก้ว หรือให้กินนมโปรตีนต่ำหรือ Young Child Formula (YCF) แทนการกินนมวัว

แหล่งข้อมูล:

  1. แนะการแก้ไขภาวะแคระแกร็นในเด็ก. https://www.thaihealth.or.th/Content/50596-แนะการแก้ไขภาวะแคระแกร็นในเด็ก.html [2020, February 18].