คดในข้อ งอในกระดูก (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 30 สิงหาคม 2562
- Tweet
มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดมักเป็นแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) และมักเกิดในวัยรุ่นเพศหญิง ซึ่งบริเวณที่พบมากสุดคือ บริเวณกระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic spine) อย่างไรก็ดี มี 3 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดได้ โดยเกิดจาก
- การใช้งาน (Functional) ในกรณีนี้กระดูกสันหลังจะปกติ แต่เนื่องจากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่น จึงทำให้กระดูกสันหลังคด เช่น ขา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือ การยกของหนักที่ไม่สมดุล หรือ กล้ามเนื้อที่หลังหดเกร็ง (Muscle spasms)
- กล้ามเนื้อและเส้นประสาท (Neuromuscular) ผิดปกติตั้งแต่เกิด เช่น พิการแต่กำเนิด (Birth defects) กล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophy) สมองพิการ (Cerebral palsy) หรือ มาร์แฟนซินโดรม (Marfan syndrome)
- ความเสื่อมของร่างกาย (Degenerative) ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุที่กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) เส้นเอ็นและเนื้อเยื่อของกระดูกสันหลังมีความเสื่อมผิดปกติ มีกระดูกงอก (Bone spurs) หรือโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากโรคเนื้องอกที่กระดูก (Osteoid osteoma) ที่มีก้อนเนื้อกดลงบนกระดูกเป็นสาเหตุให้ปวดจนทำให้ต้องเอียงตัวไปอีกด้านเพื่อลดน้ำหนักที่กดลง ทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปไป
ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ได้มีการเรียกชื่อเฉพาะของโรคตามบริเวณที่เกิดดังนี้
- Kyphoscoliosis: กระดูกสันหลังคดหรือโก่งไปทางด้านข้างนอก
- Dextroscoliosis: กระดูกสันหลังคดหรือโก่งไปทางขวา
- Rotoscoliosis (Rotatory): กระดูกสันหลังคดหรือโก่งไปทางแกน
- Levoconvex: กระดูกสันหลังคดหรือโก่งไปทางด้านซ้าย
- Thoracolumbar: กระดูกสันหลังคดหรือโก่งบริเวณช่วงอกต่อกับเอว
โดยอาการที่ปรากฏโดยทั่วไป ได้แก่
- ไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน
- ศีรษะไม่อยู่ในแนวกลาง
- สะโพกด้านด้านหนึ่งสูงกว่าปกติ
- กระดูกซี่โครงไม่เท่ากัน
- เอวไม่เท่ากัน
- ผิวหนังบริเวณที่เป็นเปลี่ยนไป เช่น บุ๋ม (Dimples) มีขนเป็นปื้น (Hairy patches) หรือสีผิวผิดปกติ
- ตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
แหล่งข้อมูล:
- Scoliosis. https://www.medicinenet.com/scoliosis/article.htm#what_are_risk_factors_for_scoliosis [2019, August 29].
- Scoliosis. https://www.aans.org/patients/neurosurgical-conditions-and-treatments/scoliosis [2019, August 29].